พลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ทรงเป็น เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 10 แห่ง "ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน)"
พลตรีมหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ หรือ เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า เจ้าน้อยจักรคำ ณ ลำพูน ทรงราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2417 ทรงเป็นราชโอรสใน เจ้าหลวงอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 9 กับ แม่เจ้าหม่อมราชวงศ์รถแก้วราชเทวี (อิศรเสนา) และทรงเป็นราชนัดดา (หลานปู่) ใน เจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 7 กับ แม่เจ้าปิมปาราชเทวี
เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ทรงมีราชภคินีและราชขนิษฐา ร่วมราชมารดา 2 พระองค์ มีพระนามตามลำดับ ดังนี้
- เจ้าหญิงมุกดา ณ ลำพูน - ชายา "เจ้าราชภาคินัย น้อยเมืองไทย ณ ลำพูน, เจ้าราชภาคินัยนครลำพูน" (ราชภคินี)
- เจ้าหญิงหล้า ณ ลำพูน - ชายา "เจ้าน้อยจิตตะ ณ ลำพูน" ภายหลังเป็น ชายา "เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ น้อยพุทธวงศ์ ณ เชียงใหม่, เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์นครลำพูน" (ราชขนิษฐา)
เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ได้เสด็จขึ้นครองนครลำพูน ในปี พ.ศ. 2454 ต่อมาในปี พ.ศ. 2469 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ดำเนินนโยบายยกเลิกตำแหน่งเจ้าหลวง หากเจ้าหลวงเมืองใดว่างลงจะไม่โปรดเกล้าฯแต่งตั้งขึ้นอีก แต่ก็ยังให้ความสำคัญในการสืบราชสกุล ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ ลำปาง เจ้านายฝ่ายเหนือ ก็ยังคงดำรงสถานะความเป็น "เจ้า" โดยกำเนิดต่อไป
เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. 2486 รวมระยะเวลาที่ทรงครองนคร 32 ปี สิริพระชนมายุได้ 69 ชันษา
เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เมื่อครั้งดำรงอิสริยยศเป็น "เจ้าบุรีรัตน์" ได้ดำเนินการสร้างถนนสายตะวันออกจากประตูท่าขาม ไปยังกิ่งอำเภอแม่ทา และถนนสายจากตัวเมืองลำพูนไปจนถึงฝั่งแม่น้ำปิง ต่อมาเมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน ก็ได้สร้างสาธารณกุศลแก่ประชาชนชาวลำพูนมากมาย อาทิ
- การบูรณะวัดกู่สิงห์ทอง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2324 และตั้งชื่อวัดนี้ว่า "วัดจักรคำภิมุข"
- สร้างกุฏิให้วัดพระธาตุหริภุญชัย
- มอบที่ดินสำหรับสร้างที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข บ้านพักสัสดีจังหวัดลำพูน และโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์
- มอบคุ้มหลวงเดิมให้แก่รัฐบาล เพื่อใช้เป็นศาลากลางจังหวัดลำพูน
- ก่อตั้งโรงเรียนสำหรับนักเรียนชายประจำจังหวัด คือ โรงเรียนจักรคำคณาทร
ขอขอบคุณเพจ ชุมชนคนล้านนา