รับซื้อเพชร

ทางเว็บไม่อนุญาตให้โพสโฆษณา ประชาสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในเว็บไซต์ หากพบทางเว็บจะทำการลบทันที


อาณาจักรล้านนา ประวัติความเป็นมา

  • 0 ตอบ
  • 13544 อ่าน
*

ออฟไลน์ ฮักล้านนา

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • 674
  • 306
    • ดูรายละเอียด
    • วัดร่องขุ่น
อาณาจักรล้านนา ประวัติความเป็นมา
« เมื่อ: มกราคม 02, 2012, 04:29:09 PM »
<a href="http://www.youtube.com/watch?v=p_bMdcqKxx8" target="_blank">http://www.youtube.com/watch?v=p_bMdcqKxx8</a>

<a href="http://www.youtube.com/watch?v=A8pFMHIGJzw" target="_blank">http://www.youtube.com/watch?v=A8pFMHIGJzw</a>

ประวัติความเป็นมาอาณาจักรล้านนา

อาณาจักรล้านนา

อาณาจักรล้านนา อาณาจักรเก่าแก่ที่มีมาก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ อยุธยา และสุโขทัย มีวัฒนธรรมประเพณี ภาษา เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองและมีมายาวนานจนกระ­ทั่งถึงปัจจุบัน และสืบทอดมาจนถึงรุ่นลูกหลาน เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ว่าอาณาจักรนี้ดูเหมือนว่าล่มสลายแต่กลับก­ลายว่ายังคงอยู่กลิ่นไอแห่งวัฒนธรรมยังไม่­เลือนลางเลยแม้แต่นิดเดียว

อาณาจักรล้านนา คือ อาณาจักรในอดีตที่ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย, สิบสองปันนาเชนเมืองเชียงรุ่ง (จิ่งหง) มณฑลยูนนาน ภาคตะวันออกของพม่า ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งมีเมืองเชียงตุงเป็นเมืองเอก ฝั่งตะวันตกแม่นำสาละวิน มีเมืองนายเป็นเมืองเอก และ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน[1] โดยมีเมืองเชียงใหม่ เป็นราชธานี มีภาษา ตัวหนังสือ วัฒนธรรม และประเพณีเป็นของตนเอง ต่อมาถูกปกครองในฐานะรัฐบรรณาการของอาณาจักรตองอู อาณาจักรอยุธยา และอาณาจักรอังวะ จนสิ้นฐานะอาณาจักร กลายเป็นเมืองส่วนหนึ่งของอาณาจักรอังวะในราชวงศ์นยองยาน ไปในที่สุด

ชื่อ ล้านนา หมายถึง ดินแดนที่มีนานับล้าน หรือมีที่นาเป็นจำนวนมาก คู่กับล้านช้าง คือดินแดนที่มีช้างนับล้านตัว เมื่อปี พ.ศ. 2530 คำว่า "ล้านนา" กับ "ลานนา" เป็นหัวข้อโต้เถียงกัน ซึ่งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมี ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นประธาน ได้ให้ข้อยุติว่า "ล้านนา" เป็นคำที่ถูกต้อง และเป็นคำที่ใช้กันในวงวิชาการ[2]

ปัญหาที่นำไปสู่การโตเถียงกันนั้น สืบเนื่องมาจากในอดีตการเขียนมักไม่ค่อยเคร่งครัดในเรื่องวรรณยุกต์ แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันว่า แม้จะเขียนโดยไม่มีรูปวรรณยุกต์โทกำกับ แต่ให้อ่านเหมือนมีวรรณยุกต์โท[2] สำหรับคำ "ลานนา" น่าจะมาจากพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า "ลานนาหมายถึงทำเลทำนา" ซึ่งทำให้คำว่าลานนาใช้กันมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ[2] ภายหลัง พ.ศ. 2510 นักวิชาการระดับสูงพบว่าล้านนาเป็นคำที่ถูกต้องแล้ว และชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อ ดร. ฮันส์ เพนธ์ ค้นพบคำว่า "ล้านนา" ในศิลาจารึกที่วัดเชียงสา ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2096[3]

คำว่าล้านนาน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพญากือนา เนื่องจากพระนาม "กือนา" หมายถึงจำนวนร้อยล้าน และต่อมาคำล้านนาได้ใช้เรียกกษัตริย์และประชาชน แพร่หลายมากในสมัยพระเจ้าติโลกราช[4] ส่วนการใช้ว่า "ล้านนาไทย" นั้น เป็นเสมือนการเน้นความเป็นไทย ซึ่งใช้กันมาในสมัยหลังด้วยเหตุผลทางการเมือง[4]

อาณาเขต

หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า ดินแดนล้านนานั้นหมายถึงดินแดนบางส่วนของอาณาบริเวณ ลุ่มน้ำแม่โขง ลุ่มน้ำสาละวิน แม่น้าเจ้าพระยา ตลอดจนเมืองที่ตั้งตามลุ่มน้ำสาขาเช่นแม่นำกก แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำปาย แม่นำแตง แม่น้ำงัด ฯลฯโดยมีอาณาเขตทางทิศใต้จดเมืองตาก (อำเภอบ้านตากในปัจจุบัน) และจดเขตดินแดนด้านเหนือของอาณาจักรสุโขทัย ทิศตะวันตกเลยลึกเข้าไปในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ทิศตะวันออกจดฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ทิศเหนือจดเมืองเชียงรุ่ง (หรือคนจีนเรียกในปัจจุบันว่า เมืองจิ่งหง เนื่องจากคนจีนออกเสียงภาษา"ไทยลื้อ"ไม่ชัด จาก "เจียงฮุ่ง" จึงกลายเป็น "จิ่งหง"Jinghong ซึ่งบริเวณชายขอบของล้านนา อาทิ เมืองเชียงตุง เชียงรุ่ง เมืองยอง เมืองปุ เมืองสาด เมืองนาย เป็นบริเวณที่รัฐล้านนาแผ่อิทธิพล ไปถึงในเมืองนั้นๆ (ในบางสมัยเช่นสมัยพญามังราย พระเจ้าติโลกราช ที่มีพระราชแสนยานุภาพเกรียงไกร)

ในสมัยโบราณได้กล่าวถึงเมืองขึ้นกับดินแดนล้านนามี 57 เมือง ดังปรากฏในตำนาน พื้นเมืองของเชียงใหม่ว่า ใน สัตตปัญญาสล้านนา 57 หัวเมือง[1] แต่ก็ไม่ได้ระบุว่ามีเมืองใดบ้าง ปัจจุบันมีหลักฐานที่พม่านำไปจากเชียงใหม่ในสมัยที่พม่าปกครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. 2101-2317) และได้แปลเป็นภาษาพม่าต่อมาในปี ค.ศ. 2003 ทางมหาวิทยาลัย Yangon ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ) ชื่อ Zinme Yazawin หรือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับภาษาพม่า(ชื่อเต็มดูที่อ้างอิง ท้ายนี้)ได้ระบุเมืองต่างๆ กว่า 50 หัวเมือง(รายละเอียดชื่อเมืองต่างๆปรากฏอยู่ในหนังสือ Zinme Yazawin ภาคภาษาอังกฤษ อยู่แล้ว) เช่น เมืองฝาง เมืองเชียงของ เมืองพร้าว เมืองเชียงดาว เมืองลี้ เมืองยวม เมืองสาด เมืองนาย เมืองเชียงตุง เมืองเชียงคำ เมืองเชียงตอง เมืองน่าน เมืองเทิง เมืองยอง เมืองลอง เมืองตุ่น เมืองแช่ เมืองอิง เมืองไลค่า เมืองลอกจ๊อก เมืองปั่น เมืองยองห้วย เมืองหนองบอน เมืองสู่ เมืองจีด เมืองจาง เมืองกิง เมืองจำคา เมืองพุย เมืองสีป้อ เมืองแหง เมืองหาง เมืองพง ฯลฯ[5][6]


รายนามพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา (พ.ศ. 1835 - 2101)

1 พญามังราย พ.ศ. 1835 - 1854 (19 ปี)
2 พญาไชยสงคราม พ.ศ. 1854 - 1868 (14 ปี)
3 พญาแสนภู พ.ศ. 1868 - 1877 (11 ปี)
4 พญาคำฟู พ.ศ. 1877 - 1879 (2 ปี)
5 พญาผายู พ.ศ. 1879 - 1898 (19 ปี)
6 พญากือนา พ.ศ. 1898 - 1928 (30 ปี)
7 พญาแสนเมืองมา พ.ศ. 1928 - 1944 (16 ปี)
8 พญาสามฝั่งแกน พ.ศ. 1945 - 1984 (39 ปี)
9 พระเจ้าติโลกราช พ.ศ. 1984 - 2030 (46 ปี)
10 พญายอดเชียงราย พ.ศ. 2030 - 2038 (8 ปี)
11 พญาแก้ว (พระเมืองแก้ว) พ.ศ. 2038 - 2068 (30 ปี)
12 พญาเกศเชษฐราช (พระเมืองเกษเกล้า) พ.ศ. 2068 - 2081 (13 ปี) ครั้งที่ 1
13 ท้าวซายคำ พ.ศ. 2081 - 2086 (5 ปี)
พญาเกศเชษฐราช (พระเมืองเกษเกล้า) พ.ศ. 2086 - 2088 (2 ปี) ครั้งที่ 2
14 พระนางจิรประภา พ.ศ. 2088 - 2089 (1 ปี)
15 พระไชยเชษฐา พ.ศ. 2089 - 2090 (1 ปี)
ว่างกษัตริย์ พ.ศ. 2090 - 2094 (4 ปี)
16 พระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ (ท้าวเม่กุ) พ.ศ. 2094 - 2107 (13 ปี) ตั้งแต่ พ.ศ. 2101 ปกครองภายใต้อำนาจพม่า

การก่อตั้งอาณาจักร
พญามังราย กษัตริย์แห่งหิรัญนครเงินยาง องค์ที่ 25 ในราชวงศ์ลวจังกราชปู่เจ้าลาวจก ได้เริ่มตีเมืองเล็กเมืองน้อย ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำอิง และแม่น้ำปิงตอนบน รวบรวมเมืองต่างๆให้เป็นปึกแผ่น นอกจากเงินยางแล้ว ยังมีเมืองพะเยาของพญางำเมืองพระสหาย ซึ่งพญามังรายไม่ประสงค์จะได้เมืองพะเยาด้วยการสงคราม แต่ทรงใช้วิธีผูกสัมพันธไมตรีแทน หลังจากขยายอำนาจระยะหนึ่ง พระองค์ทรงย้ายศูนย์กลางการปกครอง โดยสร้างเมืองเชียงรายขึ้นแทนเมืองเงินยาง เนื่องด้วยเชียงรายตั้งอยู่ริมแม่น้ำกกเหมาะเป็นชัยสมรภูมิ ตลอดจนทำการเกษตรและการค้าขาย

หลังจากได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองมาอยู่ที่เมืองเชียงรายแล้ว พระองค์ก็ได้ขยายอาณาจักรแผ่อิทธิพลลงทางมาทางทิศใต้ ขณะนั้นก็ได้มีอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อนอยู่แล้วคือ อาณาจักรหริภุญชัย มีนครลำพูนเป็นเมืองหลวงตั้งอยู่ในชัยสมรภูมิที่เหมาะสมประกอบด้วยมีแม่น้ำสองสายไหลผ่านได้แก่แม่น้ำกวงและแม่น้ำปิงซึ่งเป็นลำน้ำสายใหญ่ไหลลงสู่ทะเลเหมาะแก่การค้าขาย มีนครลำปางเป็นเมืองหน้าด่านคอยป้องกันศึกศัตรู สองเมืองนี้เป็นเมืองใหญ่มีกษัตริย์ปกครองอย่างเข้มแข็ง การที่จะเป็นใหญ่ในดินแดนแถบนี้ได้จะต้องตีอาณาจักรหริภุญชัยให้ได้ พระองค์ได้รวบรวมกำลังผู้คนจากที่ได้จากตีเมืองเล็กเมืองน้อยรวมกันเข้าเป็นทัพใหญ่และยกลงใต้เพื่อจะตีอาณาจักรหริภุญชัยให้ได้ โดยเริ่มจากตีเมืองเขลางค์นคร นครลำปางเมืองหน้าด่านของอาณาจักรหริภุญชัยก่อน เมื่อได้เมืองลำปางแล้วก็ยกทัพเข้าตีนครลำพูน (แคว้นหริภุญชัย) พระองค์เป็นกษัตริย์ชาตินักรบมีความสามารถในการรบไปทั่วทุกสารทิศ สามารถทำศึกเอาชนะเมืองเล็กเมืองน้อยแม้กระทั่งอาณาจักรหริภุญชัยแล้วรวบเข้ากับอาณาจักรโยนกเชียงแสนได้อย่างสมบูรณ์

หลังจากพญามังรายรวบรวมอาณาจักรหริภุญชัยเข้ากับโยนกเชียงแสนเสร็จสิ้นแล้ว ได้ขนามนามราชอาณาจักรแห่งใหม่นี้ว่า "อาณาจักรล้านนา" พระองค์มีดำริจะสร้างราชธานีแห่งใหม่นี้ให้ใหญ่โตเพื่อให้สมกับเป็นศูนย์กลางการปกครองแห่งอาณาจักรล้านนาทั้งหมด พร้อมกันนั้นก็ ได้อัญเชิญพระสหายสนิทร่วมน้ำสาบานสองพระองค์ได้แก่ พญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา และ พ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย มาร่วมกันสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ในสมรภูมิบริเวณที่ลุ่มริมฝั่งมหานทีแม่ระมิงค์ (แม่น้ำปิง) โดยตั้งชื่อราชธานีแห่งใหม่นี้ว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" แต่ก่อนที่จะตั้งเมือง พระองค์ทรงได้สร้างราชธานีชั่วคราวขึ้นก่อนแล้ว ซึ่งก็เรียกว่า เวียงกุมกามแต่เนื่องจากเวียงกุมกามประสบภัยธรรมชาติใหญ่หลวงเกิดน้ำท่วมเมืองจนกลายเป็นเมืองบาดาล ดังนั้นพระองค์จึงได้ย้ายราชธานีมาอยู่ ณ นครเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 1839 และได้เป็นศูนย์กลางการปกครองราชอาณาจักรล้านนานับแต่นั้น นครเชียงใหม่มีอาณาบริเวณอยู่ระหว่างเชิงดอยอ้อยช้าง (ดอยสุเทพ) และ บริเวณที่ราบฝั่งขวาของแม่น้ำปิง (พิงคนที) นับเป็นสมรภูมิที่ดีและเหมาะแก่การเพาะปลูกเนื่องจากเป็นบริเวณที่ราบลุ่มมีแม่น้ำไหลผ่าน
การเมือง-การปกครองในสมัยราชวงศ์มังราย

พญามังรายทรงส่งพระญาติวงศ์ของพระองค์ ไปปกครองหัวเมืองต่างๆ ที่เป็นเมืองขึ้น หรือเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น เมืองเขลางค์ (ลำปาง) เมืองเขมรัฐเชียงตุง (ในพม่า) และ เชียงรุ้ง (สิบสองปันนาในจีน) ทรงส่งพระราชโอรสไปปกครอง เมืองที่ใหญ่และสำคัญๆ ได้แก่ เมืองนาย (หัวเมืองไทใหญ่) และเชียงราย ซึ่งเคยเป็นเมืองราชธานีของล้านนา

รัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. 1985-2030) พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9 ในราชวงศ์มังราย พระองค์ได้รับการยกย่องให้มีฐานะเป็น "ราชาธิราช" พระองค์ทรงแผ่ขยายขอบขัณฑสีมาของอาณาจักรล้านนาให้ยิ่งใหญ่และกว้างขวางกว่าเดิม

- ด้านทิศเหนือ เมืองเชียงรุ้ง เมืองยอง
- ด้านทิศตะวันออก เมืองนันทบุรี (น่าน) แพร่ ทุ่งยั้ง (ส่วนหนึ่งของอุตรดิตถ์) จรดถึง หลวงพระบาง
- ด้านทิศตะวันตก ขยายไปจนถึงรัฐฉาน (ตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า) เช่น เมืองไลคา เมืองยองห้วย เมืองสีซอ

ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช อาณาจักรล้านนา ยังได้ทำสงครามกับอาณาจักรอยุธยา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ นานถึง 25 ปี โดยมีสาเหตุมาจากความต้องการในการแผ่อิทธิพลเข้าไปในสุโขทัยของทั้งสองอาณาจักร แต่ไม่มีฝ่ายไหนได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด ทั้งสองอาณาจักรจึงผูกสัมพันธไมตรีต่อกัน จนกระทั่งอาณาจักรล้านนาตกเป็นประเทศราชของพม่าในปี พ.ศ. 2101

การล่มสลายของอาณาจักร
อาณาจักรล้านนาเริ่มเสื่อมลงในปลายรัชสมัย "พญาแก้ว" เมื่อกองทัพเชียงใหม่ได้พ่ายแพ้แก่ทัพเชียงตุงในการทำสงครามขยายอาณาจักร ไพร่พลในกำลังล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับปีนั้นเกิดอุทกภัยใหญ่หลวงขึ้นในเมืองเชียงใหม่ ทำให้บ้านเรือนราษฎรเสียหายและผู้คนเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก สภาพบ้านเมืองเริ่มอ่อนแอเกิดความไม่มั่นคง หลังจาก "พญาแก้ว" สิ้นพระชนม์ก็เกิดการจลาจลแย่งชิงราชสมบัติ ระหว่างขุนนางมีอำนาจมากขึ้น ถึงกับแต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าได้ เมื่อนครเชียงใหม่ศูนย์กลางอำนาจเกิดสั่นคลอน เมืองขึ้นต่าง ๆ ที่อยู่ในการปกครองของเชียงใหม่จึงแยกตัวเป็นอิสระ และไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการอีกต่อไป

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 1 พระเจ้าบุเรงนอง แห่งอาณาจักรตองอูได้ทำศึกมีชัยชนะไปทั่วทุกทิศานุทิศ จนได้รับการขนานนามพระเจ้าผู้ชนะสิบทิศ พระเจ้าบุเรงนองได้ทำศึกยึดครองนครเชียงใหม่ไปประเทศราชได้สำเร็จ รวมทั้งได้เข้าได้ยึดเมืองลูกหลวงและเมืองบริเวณของเชียงใหม่ไปเป็นประเทศราชด้วย ในช่วงแรกนั้นทางพม่ายังไม่ได้เข้ามาปกครองเชียงใหม่โดยตรง เนื่องจากยุ่งกับการศึกกับกรุงศรีอยุธยา แต่ยังคงให้ "พระเจ้าเมกุฎิ" ทำการปกครองบ้านเมืองต่อตามเดิม แต่ทางเชียงใหม่จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปให้หงสาวดี ต่อมา "พระเจ้าเมกุฎิ" ทรงคิดที่จะตั้งตนเป็นอิสระ ฝ่ายพม่าจึงปลดออกและแต่งตั้ง "มหาเทวีวิสุทธิ" เชื้อสายราชวงศ์มังราย ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นพระมารดาของพระเจ้าเมกุฏิ[7][8] ขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่แทน จนกระทั่งมหาเทวีวิสุทธิสิ้นพระชนม์ ทางฝ่ายพม่าจึงได้ส่งเจ้านายทางฝ่ายพม่ามาปกครองแทน เพื่อคอยดูแลความเรียบร้อยของเมืองเชียงใหม่ ในสมัยนั้นเมืองเชียงใหม่เกือบจะเป็นเมืองพระยามหานครของพม่าแล้ว อีกประการหนึ่งก็เพื่อที่จะเกณฑ์พลชาวเชียงใหม่ และเตรียมเสบียงอาหารเพื่อไปทำศึกสงครามกับทางกรุงศรีอยุธยา

อาณาจักรล้านนาในฐานะเมืองขึ้นของพม่าไม่ได้มีความสงบสุข มีแต่การกบฏแก่งแย่งชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แต่เชียงใหม่อย่างเดียว แต่เมืองอื่น ๆ ในล้านนาก็ด้วย จนกระทั่งราชวงศ์นยองยาน สถาปนาอาณาจักรรัตนปุระอังวะอีกครั้งจึงหันมาปกครองเชียงใหม่โดยตรง

 

อ้างอิง
1 : 1.0 1.1 สรัสวดี อ๋องสกุล. หน้า 25. "ในปัจจุบันดินแดนล้านนาหมายถึงดินแดน 8 จังหวัดภาคเหนือคือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน"
2 : 2.0 2.1 2.2 สรัสวดี อ๋องสกุล. หน้า 21.
3  สรัสวดี อ๋องสกุล. หน้า 22.
4 : 4.0 4.1 สรัสวดี อ๋องสกุล. หน้า 23.
5 พระเจ้าติโลกราช ประกาศแสนยานุภาพเมืองเหนือ (E.Q.Plus)
6  ศรีสักดิ์ วัลลิโภดม.ล้านนาประเทศ.กรุงเทพฯ : มติชน,2545
7  สรัสวดี อ๋องสกุล ศาสตราจารย์. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:อมรินทร์, 2552. หน้า 272
8 สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ:มติชน, 2554. หน้า 293

ข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 05, 2014, 10:41:32 AM โดย ฮักล้านนา »
กำเมือง ถ้าคนเมืองบ่อู้แล้วไผจะอู้