รับซื้อเพชร

ทางเว็บไม่อนุญาตให้โพสโฆษณา ประชาสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในเว็บไซต์ หากพบทางเว็บจะทำการลบทันที


ชะตากรรมของเจ้านายเมืองแพร่ "กบฏเงี้ยว"

  • 0 ตอบ
  • 2452 อ่าน
*

ออฟไลน์ ฮักล้านนา

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • 674
  • 306
    • ดูรายละเอียด
    • วัดร่องขุ่น
ราชการบ้านเมืองในสมัยนี้ก็แปรปรวนไปต่างๆ ไม่เหมือนแต่เช่นพระอัยโกอัยการ์เจ้าข้าพี่น้องกาลนานมาแต่ก่อนๆ มาบัดนี้บุญก็มาถึงเราเจ้าข้าพี่น้องได้รักษาราชสมบัติบ้านเมืองสืบวงษ์กระกูลในสมัยนี้ ก็มาเกิดแปรปรวนไปต่างๆ ดังนี้ ก็เปนกรรมของเราเจ้าข้าพี่น้องมาแต่หนหลัง ก็ชอบที่เราเจ้าข้าพี่น้องพร้อมมูลปรองดองกัน ปฤกษาผ่อนผันไปทีละเล็กละน้อยกว่าจะเปนไปตามกาล ...”

สาส์นลับจากเจ้าอุปราชเชียงใหม่
ถึงเจ้าหลวงนครลำปาง-เจ้าหลวงลำพูน
(เจ้าอินทวโรรสสุริยะวงศ์-เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์-เจ้าอินทยงยศโชติ)

ข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความทุกข์ระทมของเจ้านายหัวเมืองเหนือที่ถูกริบรอนอำนาจจากสยามขึ้นทุกๆวัน

เจ้าหลวงเชียงใหม่,เจ้าหลวงลำพูน,เจ้าหลวงลำปาง พร้อมเจ้านายบุตรหลานล้วนเป็นเครือวงศ์เจ้าเจ็ดตนถ้วนด้วยกันทั้งสิ้น ส่วนนครน่านนั้นถือราชวงศ์ที่แยกวงศ์ออกมาจากทั้ง๓เมืองข้างต้น ร่วมทั้งเมืองแพร่ก็เฉกเช่นเดียวกับเมืองน่าน คือ ราชวงศ์พื้นเมืองที่ไร้เครือญาติ แต่ทั้ง๕หัวเมืองก็ล้วนเกี่ยวด้องกันทางบุตรหลานที่เสกสมรสกัน จึงไปมาหาสู่กันดั่งเครือญาติ นัยหนึ่งนั้นก็หมายความว่าเป็นเมืองขึ้นประเทศราชต่อสยามเหมือนกัน

พระยาราชวงศ์ (บุญศรี บุตรรัตน์) หรือ เจ้าน้อยบุญศรี เป็นบุตรเจ้าราชบุตร (เจ้าหนานขัตติยะ) กับแม่เจ้าพิมพา เสกสมรสกับ เจ้านางเวียงชื่น เทพวงศ์ ราชธิดาเจ้าพิริยเทพวงษ์ จึงมีศักดิ์เป็น ราชบุตรเขยเจ้าหลวงเมืองแพร่

พระยาราชวงศ์แพร่ หรือ เจ้าน้อยบุญศรีนั้น ถูกวางตัวให้เป็นเจ้าหลวงองค์ถัดไป ต่อจากรัชกาลของ เจ้าหลวงพิริฯ เนื่องจากขณะนั้นเจ้าอุปราช (เจ้าน้อยเสาร์ วราราช)ราชบุตรเขยใหญ่ ทำหน้าที่เป็นข้าหลวงเมืองเถิน และยังไม่ได้รับรองโปรดเกล้าฯแต่งตั้งจากกรุงเทพฯ ยังเป็นว่าที่เจ้าอุปราชหอหน้าและมีภริยาใหม่ ส่วนเจ้าอินทร์แปลงโอรสเพียงองค์เดียวในเจ้าพิริยเทพวงษ์ กับแม่เจ้าบัวไหลอายุยังน้อย และยังไม่มีตำแหน่งใด พระยาราชวงศ์จึงเป็นผู้บริหารบ้านเมืองร่วมกับเจ้าหลวงพิริยเทพวงษ์มาโดยตลอด เจ้าน้อยบุญศรีได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น "พระยาราชบุตร" และเลื่อนขึ้นเป็น"พระยาราชวงศ์" ในรัชสมัยเจ้าพิริยเทพวงษ์

ในปีพ.ศ. ๒๔๔๕ ได้เกิดความไม่สงบขึ้นในเมืองแพร่ โดยพวกไทใหญ่หรือเงี้ยวที่ได้เข้ามาอยู่อาศัยในเมืองแพร่ และทำมาหากินในการขุดพลอย ประเภทพลอยไพลินที่ตำบลบ่อแก้ว อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ในปัจจุบัน ได้ทำการก่อจลาจลในเมืองแพร่เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ เจ้าหลวงนครแพร่ถูกกล่าวหาว่าคบกับพวกเงี้ยว จากหลักฐานต่างๆ หลวงนครแพร่ เจ้าราชบุตร เจ้าไชยสงคราม มีส่วนสนับสนุนให้กองโจรเงี้ยวก่อการกบฎขึ้นอย่างแน่นอน และเชื่อว่าต้องมีการตระเตรียมการล่วงหน้ามาช้านานพอสมควร

และวินาทีวิปโยคแห่งคุ้มหลวงก็ได้เกิดขึ้น ...

สยามจึงได้ทำการปราบปรามและลงโทษผู้ต่อต้านที่นครแพร่อันเป็นเมืองเกิดเหตุการณ์ชัดเจนกว่าเมืองนครประเทศราชอื่นอย่างรุนแรงดังนี้คือ

(๑) เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์(เจ้าน้อยเทพวงศ์) เจ้าผู้ครองนครแพร่ ได้เสด็จลี้ภัยการเมืองไปประทับอยู่ที่นครหลวงพระบาง(ลาว) สยามได้ปลดออกจากการเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่ ถอดราชศักดิ์ลงเป็นไพร่ ให้เรียกว่าพระองค์ว่า “น้อยเทพวงศ์” พร้อมกับยึดคุ้มหลวงและราชสมบัติ

๒) แม่เจ้าบัวไหล พระชายาของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกถอดออกจากสามัญสมาชิกาตติยจุลจอมเกล้า ริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และถูกควบคุมลงไปกักตัวไว้ที่กรุงเทพฯ พร้อมกับราชบุตรราชธิดา

(๓) พระยาบุรีรัตน์(เจ้าน้อยหนู) น้องเขยเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกภาคทัณฑ์ ให้ย้ายออกจากนครแพร่ชั่วคราว และงดสิทธิพิเศษต่างๆ จนกว่าจะแสดงความจงรักภักดีให้สยามพอใจ

(๔) พระยาราชบุตร(เจ้าน้อยยอดฟ้า ณ น่าน) สวามีเจ้าหญิงสุพรรณวดี ราชบุตรเขยของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกถอดยศศักดิ์ ริบทรัพย์สมบัติ ให้ชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ และให้ย้ายออกจากนครแพร่

(๕) พระไชยสงคราม(นายจอน) สวามีเจ้าหญิงยวงคำ ราชบุตรเขยของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกถอดยศศักดิ์ และจำคุกไม่มีกำหนดที่กรุงเทพฯ ภายหลังลดเหลือ ๗ ปี

(๖) พระเมืองไชย(เจ้าน้อยไชยลังกา) น้องชายของพระยาบุรีรัตน์ ถูกถอดยศศักดิ์ และจำคุกไม่มีกำหนดที่กรุงเทพฯ ภายหลังลดเหลือ ๓ ปี

(๗) เจ้าน้อยพุ่ม บุตรของพระจันทราชา ถูกจำคุกที่กรุงเทพฯ ๕ ปี

(๘) เจ้าน้อยสวน ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้พิพากษารองนครแพร่และจำคุก ๓ ปี

(๙) พญาชนะ ขุนนางคนสนิทของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกจำคุกไม่มีกำหนด และภายหลังได้ผูกคอตายในคุก

(๑๐) พญายอด พ่อแคว้น พร้อมกับแก่บ้าน คนเงี้ยว คนเมือง คนต่องสู้ จำนวนหลายคนถูกตัดสินประหารชีวิต

(๑๑) คนเงี้ยว คนเมือง คนพม่า คนแขก จำนวน ๑๖ คนถูกส่งลงไปจำคุกมหันตโทษอย่างไม่มีกำหนด ที่กรุงเทพฯ

เมื่อสยามปราบปรามอย่างรุนแรง เจ้านายนครแพร่ก็เกิดความกลัวและอยู่ในภาวะตึงเครียด ดังเช่น เจ้าหญิงยวงคำ เมื่อสยามทำการสอบสวน ก็ได้ให้การซัดทอดว่า เจ้าหญิงเวียงชื่น ผู้เป็นพี่สาว และเจ้าแม่บัวไหล ผู้เป็นมารดาเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่สุด เจ้านายบางองค์ก็หลบลี้หนีภัยออกจากนครแพร่ไปอยู่แถบเมืองชายแดนที่ติดกับพม่า

คืนนั้นที่คุ้มพระยาราชวงศ์(เจ้าน้อยบุญศรี) เจ้านางเวียงชื่นผู้เป็นชายาได้ตระเตรียมพร้อมที่จะปลิดชีวิตของตนกับเจ้าน้อยบุญศรี ทั้งสองได้เขียนจดหมายสั่งเสียไว้เกี่ยวกับการฝากลูกไว้กับบรรดาญาติๆ ได้แก่ เจ้าอินทร์สม เจ้าบุญตุ้ม และเจ้าน้อยดาวคำ จากนั้นได้ดื่มยาพิษเพื่อหลีกหนี้ปัญหาที่ยากจะเลี่ยงได้ กับความน้อยเนื้อต่ำใจที่ประสบ ทั้งสองได้ลาลับไป ต่อหน้าต่อตาลูกน้อยทั้ง ๓

นำความวิปโยคมาสู่เหล่าลูกๆ และแม่เจ้าบัวไหลพระมารดา จากนั้นสยามได้มีคำสั่งนัดเจ้านายทุกคนที่อยู่ในเมืองแพร่มาชุมนุมกันที่คุ้มหลวง เพื่อร่วมกันดื่มน้ำสาบานสัญญาว่า จะไม่พูดถึงเหตุการณ์ทั้งหมดอีก หากใครที่แพล่งพายเรื่องราวทั้งหมด จะนำตัวมาสำเร็จโทษด้วยการประหาร พร้อมทั้งยกเลิกการเรียกขานคำว่า เจ้า ต่อเจ้านายเมืองแพร่ เปลี่ยนเป็น นาย และนาง หากความขมขื่นที่บรรดาลูกหลานเจ้านายเมืองแพร่นั้นยังต้องรับความทุกข์ระทมในจิตใจคือการกำชับว่า ให้ทุกคนจดจำไว้ว่า " เจ้าหลวงเมืองเป็นกบฏต่อบ้านเมือง " ทำให้ไม่มีผู้ใดเอ่ยถึงเหตุการณ์นี้มาหลายทศวรรษ

ช่วงสถานการณ์ได้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงนั้น ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ จึงทรงเลือกประณามว่า
“... เมืองแพร่เปนเมืองที่เลวทรามยิ่งกว่าเมืองอื่น ...”
ตีตราว่า “กบฏเงี้ยวเมืองแพร่” “กบฏอ้ายน้อยเทพวงศ์” แต่ถ้าหากมองจากสายตาคนพื้นถิ่นก็อาจถือได้ว่า “เงี้ยวเป็นวีรบุรุษ” และเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์เป็น “วีรกษัตริย์นครแพร่(ล้านนา)” ที่ไม่ต่างจากชาวลาวมองเจ้าอนุวงศ์เป็น “วีรกษัตริย์นครเวียงจันทน์(ล้านช้าง)”

หลังจากเหตุการณ์ทั้งหมดได้สงบลง
ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ก็ทรงรู้สึกสำนึกและเสียพระทัยไม่น้อยกับเรื่องที่เกิดขึ้นโดยที่พระองค์ไม่ทรงสามารถหาทางออกที่ดีกว่านี้ได้ ดังทรงมีลายพระหัตถ์ถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๔๕ ว่า

“... เราปกครองหัวเมืองลาว(ลาวเฉียงคือล้านนา) ..ค่อนข้างจะผิดไปจากสภาพอันแท้จริง อาจจะกล่าวได้ว่าเรานำแบบการปกครองของต่างประเทศมาใช้แต่ผิดแบบเขาไป ..เมื่ออังกฤษใช้รูปแบบการปกครองนี้นั้น เขาให้คำแนะนำปฤกษาแก่ผู้ปกครองซึ่งถือเสมือนเป็นเจ้าของหัวเมืองเหล่านั้น..ในทางตรงข้าม เราถือว่าหัวเมืองเหล่านั้นเป็นของเรา ซึ่งมันไม่จริง เพราะ..คนลาวเขาจะถือว่าหัวเมืองเหล่านั้นเป็นของพวกเขา เมื่อเราพูดว่าเราไว้วางใจเขา แท้จริงเราก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่เรากลับส่งข้าหลวงและผู้ช่วยไปให้คำปฤกษาแก่พวกเขา แล้วข้าหลวงกับผู้ช่วยที่ได้รับมอบอำนาจไปก็จะเชิดพวกนี้เหมือนหุ่น หรือไม่ก็ถ้าทำไม่ได้ก็จะคอยสอดส่องพวกเขาและรายงานความลับของเขาเข้ามา อย่างไรก็ตามเราแก้ตัวไม่ได้ในเรื่องนี้ ฉันคิดว่าการปกครองที่ไม่ได้ตรงไปตรงมาจะไม่เกิดผลในทางการเชื่อใจกันและกัน แลยังไม่ให้ความสงบทางจิตใจอีกด้วย ...”

เหตุนี้จึงไม่มีการขอพระราชทานนามสกุล " ณ แพร่ " เกิดขึ้น จึงเกิดการตั้งสกุลกันขึ้นมาเอง ทำให้เจ้านายเมืองแพร่แตกสายสกุลขึ้นมามากมาย อาทิ เทพวงศ์(สายตรงเจ้าหลวง) แพร่พันธุ์(ยาขอบ) หัวเมืองแก้ว รัตนวงศ์ นันทิยา กันจรรยา วงศ์วรญาติ ธงสังกา วราราช ใยญาณ เมืองพระ ดอกไม้ สารศิริวงศ์ ศรีจันทร์แดง อิ่นคำลือ อุตรพงศ์ มหายศปัญญา วิจผัน บุตรรัตน์ นามวงศ์ แก่นหอม แก่นจันทร์หอม ไชยประวัติ วงศ์วรรณ วังซ้าย ผาทอง วงศ์บุรี วงศ์พระถาง ขัติยะวรา รสเข้ม แสนสิริพันธุ์ วงศ์แก่นเมือง

แม้ว่า “รากเหง้า” หรือ “ตัวตน” นั้นอาจสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้คนในยุคปัจจุบัน แต่ถ้าสามารถชี้ชัดถึงเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์ให้แก่คนในพื้นที่ได้เข้าใจอย่างมีเหตุผล ก็จะส่งผลให้แต่ละชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษและท้องถิ่นที่จะนำมาสู่พลังของท้องถิ่นที่เข้มแข็ง มากกว่ามีประวัติศาสตร์ในอุดมคติ กดทับ คลุมเครือ และลับลวงพราง ที่รั้งแต่จะทำให้ภายในท้องถิ่นหรือระหว่างแต่ละท้องถิ่นเกิดความแตกแยก

ปล.บทความทั้งหมดข้างต้นนี้ ไม่มีเจตนาสร้างความแตกแยกหรือสร้างความขัดแย้งแต่อย่างใด นำเสนอขึ้นมาเพื่อเป็นวิทยาทานแด่ผู้ที่ชอบอ่านและศึกษาประวัติศาสตร์เท่านั้น ขอบพระคุณที่ติดตาม

๒๔/๐๒/๒๕๖๒ นัฏฐ์ ณัฏฐพัฒน์ ผู้นำเสนอ
ขอบคุณเพจ https://www.facebook.com/RachXaNaCakrLanNa
กำเมือง ถ้าคนเมืองบ่อู้แล้วไผจะอู้