ประเพณีล้านนาเชื่อว่าทุกคนมีพระธาตุประจำปีเกิด หรือ ปี๋เปิ้ง เป็นของตัวเอง ก่อนที่ทุกคนจะเกิดมานั้น ดวงวิญญาณต้องมา “ชุธาตุ” (กราบไหว้พระธาตุ) หรือพักที่พระธาตุประจำตัวก่อน โดยมี ตั๋วเปิ้ง หรือ ตัวเพิ่ง (สัตว์ 12 ชนิดที่กำหนดให้เป็นสัญลักษณ์) เป็นผู้นำดวงวิญญาณออกมา ดวงวิญญาณจะย้ายไปสถิตอยู่ที่กระหม่อมของบิดาเป็นเวลา 7 วันแล้วจึงเข้าสู่ครรภ์ของมารดาต่อไป และเมื่อสิ้นอายุขัยดวงวิญญาณก็จะกลับไปสู่พระธาตุประจำปีเกิดตามเดิม
ชาวล้านนายังเชื่อว่าในชีวิตหนึ่งทุกคนควรไปสักการะพระธาตุประจำปีเกิดของตนเอง เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์กรรมที่มีในอดีตชาติและสร้างบุญบารมีเพิ่มในชาตินี้ ทั้งอานิสงส์ที่ได้รับยังช่วยให้ด้านต่าง ๆ ของชีวิตดีขึ้น หากสิ้นอายุขัยดวงวิญญาณยังจะได้กลับไปสู่พระธาตุประจำปีเกิดของตนเองอีกด้วย
ประเพณีกราบไหว้พระธาตุใน 12 ปีนักษัตรเกิดขึ้นมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก ว่าด้วยพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่พุทธศาสนาได้แผ่ขยายเข้าไป โดยเกิดจากการเสด็จของพระพุทธเจ้าพระธาตุเจดีย์ 12 ปีนักษัตร
1. คนเกิดปีชวด พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่ พระบรมธาตุที่ประดิษฐาน “พระทักขิณโมฬีธาตุ” (กระดูกกระหม่อม ด้านขวา) นับเป็นพระธาตุแห่งเดียวที่สามารถสักการะและสรงน้ำได้โดยตรงและเห็นองค์พระบรมสารีริกธาตุได้ พระบรมธาตุประดิษฐานอยู่ในกู่ ทุกวันวิสาขบูชาและวันมาฆบูชาจะมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกมาให้คนสักการะและสรงน้ำ
2. คนเกิดปีฉลู พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง พระธาตุแห่งนี้เริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลูเช่นกัน พระบรมธาตุที่ประดิษฐานคือ พระอัฐิธาตุจากพระนลาฏข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง และพระเกศา
3. คนเกิดปีขาล พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ ที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า สำหรับคนเกิดปีเสือเชื่อว่าหากนำแพรสามสีไปถวายจะทำให้ชีวิตมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้
4. คนเกิดปีเถาะ พระธาตุประจำปีเกิด คือพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่าพระ พุทธเจ้าเสด็จมาประทับสรงน้ำริมฝั่งแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก และเสวยสมอแห้งที่พระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงนำไปแช่น้ำก่อนเสวยและทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน
5. คนเกิดปีมะโรง พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ ตามตำนานสิงหิงคนิทาน เล่าไว้ว่าหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไป 700 ปี กษัตริย์พระเจ้าสีหลมีพระประสงค์จะทอดพระเนตรรูปพระพุทธเจ้าแต่ไม่มีใครเคยเห็นมีแต่พญานาคเท่านั้น จึงได้แปลงรูปเนรมิตตนเป็นรูปพระพุทธเจ้า พระเจ้าสีหลจึงได้ถ่ายแบบพระพุทธรูปไว้
6. คนเกิดปีมะเส็ง พระธาตุประจำปีเกิดอยู่ที่ต้นโพธิ์ วัดโพธารามมหาวิหาร หรือวัดเจดีย์เจ็ดยอด จ.เชียงใหม่ และพระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย
7. คนเกิดปีมะเมีย พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระบรมธาตุ จ.ตาก หรือพระธาตุย่างกุ้ง (พระธาตุตะโก้ง) รวมทั้งพระธาตุเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า
8. คนเกิดปีมะแม พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าส่วนใดของพระบรมธาตุถูกบรรจุไว้ ในวันวิสาขบูชาจะมีงานนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยสุเทพ มีเคล็ดลับว่าเมื่อ นมัสการตามทิศทั้ง 4 ผลานิสงส์ที่ได้ต่างกัน ทิศเหนือ ขอให้มีปัญญาดุจพระจันทร์เพ็ญ ทิศใต้ขอให้ได้เป็นพระภิกษุสงฆ์ได้บวชในชาติหน้า ทิศตะวันออก จะได้ขึ้นสวรรค์ ทิศตะวันตก ถือเป็นการเคารพบูชาสูงสุดต่อพระธาตุ หากกล่าวคำนมัสการจะสมหวังในสิ่งที่ปรารถนาทั้งปวง
9. คนเกิดปีวอก พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุพนม จ.นครพนม
10. คนเกิดปีระกา พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน ประดิษฐานพระเกตุธาตุในโกศทองคำ
11. คนเกิดปีจอ พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สามารถบูชารูป หรือไปไหว้พระเจดีย์ที่วัดเกตการาม จ.เชียงใหม่ เพราะชื่อพ้องกัน ภายในบรรจุพระเกศาธาตุ
12. คนเกิดปีกุน หรือปีหมู พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า)
“แก่นแท้ของการกราบไหว้พระธาตุ ทำให้เราระลึกนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ และพระธรรมคำสั่งสอนทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์ ที่มีหัวใจอย่างย่อ ก็คือ “ทำความดีให้ถึงพร้อม ละเว้นต่อบาป ทำจิตใจให้บริสุทธิ์” ทั้งยังได้ทำนุบำรุงพระอริยสงฆ์ พระสงฆ์ ซึ่งอยู่ภายในวัด ดูแลพระเจดีย์ประจำปีนักษัตรต่าง ๆ ถือเป็นการทำนุบำรุงศาสนาซึ่งเป็นเนื้อนาบุญของโลก ทั้งยังเป็นการท่องเที่ยว เดินทางแบบยั่งยืน ในแต่ละชุมชนนั้นอีกด้วย” อ.คฑา ชินบัญชร พรี เซ็นเตอร์ “โครงการไหว้พระธาตุแช่แห้งเสริมบารมีทำความดีถวายพ่อหลวง” การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อธิบายนัยอีกด้านของการสักการะพระธาตุที่นำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน