เมืองแพร่มีป่าช้าหรือที่เผาศพประจำเมืองคือที่ป่าช้าประตูมาร ประตูมารก็คือประตูผีประจำเวียงซึ่งเป็นช่องประตูเฉพาะสำหรับการนำศพออกจากเมือง เพราะในเวียงโดยปกติทั่วไปจะไม่มีธรรมเนียมในการเผาศพภายในกำแพงเมือง
การชักลากจูงศพในเวียงแพร่จะถือธรรมเนียมไม่ผ่านคุ้มเจ้าหลวง จะใช้เส้นทางด้านหลังเท่านั้น ไม่เว้นแม้แต่ชาวเมืองแพร่ที่อยู่ด้านนอกเวียง หากต้องเดินทางผ่านเข้าเมืองเพื่อไปที่ฌาปนสถานป่าช้าประตูมารก็จะไม่ผ่านถนนด้านหน้าคุ้มและปฏิบัติสืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้ สำหรับคนเชื้อสายจีนมีป่าช้าที่ฝังศพของชาวจีนอยู่ทางด้านส่วนขยายของเมืองทางถนนยันตรกิจโกศล
ประตูมารอยู่ทางทิศใต้ คำว่า “มาร”เป็นคำในท้องถิ่นที่เรียกการเผาผีหรือฌาปนกิจศพ ในอดีตของเมืองแพร่ หากผู้ใดทำผิดจะมีการประหารแล้วนำไปทิ้งไว้ที่ประตูมาร หรือทำการประหารที่ประตูมาร บริเวณประตูมารจะมีพระพุทธรูปชื่อ “หลวงพ่อพระวิชิตมารประทานสันติสุขสวัสดี ชีนสีห์ธรรมบพิตร”หรือ “พระวิชิตมาร” เป็นพระพุทธรูปเก่าในวัดร้างชื่อวัดนางเหลียว ปัจจุบันก็ยังมีซากฐานปรากฏอยู่ ครั้งแรกที่พบไม่มีเศียร เพิ่งบูรณะและใส่เศียรใหม่แล้วทำพิธีพุทธาภิเษกในภายหลัง นักโทษประหารมักจะมาไหว้ขอไม่ให้โดนประหาร คนเก่าแก่ในเมืองแพร่เล่ายืนยันว่า นักโทษบางคนถูกประหารที่สนามหลวงหรือสวนสุขภาพในปัจจุบัน แล้วเอาใส่ล้อใส่เกวียนไปทิ้งไว้ที่ประตูมาร
ประตูมารคือ “ประตูผี” ที่มีอยู่ในเมืองโบราณอื่นๆ จะมีการเคลื่อนย้ายศพออกไปเผาทางประตูมาร การเคลื่อนย้ายจะไม่ผ่านหน้าจวนผู้ว่าหรือคุ้มเจ้าหลวง หากนำศพเคลื่อนผ่านด้านหลังคุ้มหรือจวนแทน เพราะถือเป็นสิ่งอัปมงคล ทั้งเจ้านายและสามัญชนจะเผาที่ประตูมารเช่นเดียวกัน ในภายหลังก็ยังนิยมปฏิบัติเช่นนี้อยู่
ที่มา : เวียงญอง ล้านนา