อาณาจักรสุวรรณโคมคำ
ก่อนจะมาถึงนครเชียงแสน
ตำนานของนครโยนก ก็คือตำนานลี่ผีของเจ้าคำหมั้นวงกฎรัตนะได้กล่าวไว้ มีข้อความดังนี้ : พระเจ้าสิริวงสา กษัตริย์ของนครโพธิสารหลวง (นครโคตปูระ หรือ โคตบูร หรือ สีโคตรตะบอง เขตเมืองท่าแขกในปัจจุบัน) มีพระราชบุตร 2 พระองค์ องค์แรกมีพระนามว่า อินทรวงศา และ องค์น้องพระนามว่า ไอยกุมาร เมื่อพระบิดาสวรรคต ราชโอรสองค์โตก็ขึ้นครองราชย์สมบัติ และองค์รองเป็นมหาอุปราช พระยาอินทรวงศามีพระโอรส ทรงพระนามว่า พระยาอินทปฐม และพระยาไอยกุมารมีพระธิดา ทรงพระนามว่า นางอูรสา และ พระโอรส พระธิดาทั้งสองพระองค์ได้อภิเษกสมรสกัน ครั้นพระยาอินทรวงศาสวรรคต พระยาอินทปฐมกุมาร ก็ขึ้นครองราชย์สมบัติแทน
เมื่อนั้น พระยาไอยกุมาร ผู้เป็นอาและเป็นพ่อตา ได้สละตำแหน่งมหาอุปราช แล้วพาบริวารเดินเรือทวนขึ้นตามแม่น้ำโขง เป็นเวลา 3 เดือน จึงถึงเกาะเขิน ซึ่งตั้งอยู่ด้านซ้ายปากแม่น้ำกก ทางทิศตะวันตก พระยาไอยกุมาร จึงตัดสินใจตั้งราชนครที่เกาะเขิน อันประกอบด้วยครัวเรือนเบื้องต้น 3,000 ครัวเรือน ขณะนั้นข่าวดีก็ได้มาถึงพระองค์ว่า ราชธิดาของพระองค์ได้ให้ประสูติพระโอรส ที่มีเดชานุภาพตั้งแต่ประสูติ และต่อมาก็เกิดอภินิหารขึ้นหลายอย่างในราชสำนักนครโคตรปูระ (โคตรบูร) อันเป็นสาเหตุให้เสนาอำมาตย์ และ ไพร่ฟ้า กลัวว่าจะเกิดภัยพิบัติทำให้บ้านเมืองล่มจมได้
เมื่อเสนาอำมาตย์เอาความขึ้นทูลถวายพระบิดาผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์เลยทรงรับสั่งให้เอาพระมเหสีและราชบุตรใส่แพลอยน้ำ ครั้นเมื่อพระเจ้าไอยกุมารทรงทราบเรื่องนี้ ก็เสียพระทัยเป็นยิ่งนัก จึงได้ทรงรับสั่งให้ไพร่ฟ้าราษฎรทำการบวงสรวงจุดธูปเทียน โคมไฟ และ ประทีป บูชาพญานาค ให้สว่างทั่วแม่น้ำโขงเป็นเวลา 7 วัน 7 คืนเพื่อขอให้พญานาคชูเอาเรือของพระธิดาและองค์กุมารน้อยไว้ไม่ไหลสู่ลงทะเล (ตามตำนานบอกว่า พญานาคได้สร้างลี่ผีขึ้น จึงปรากฏเป็นดอนขี้นาค เพื่อกั้นแม่น้ำโขง ทำให้แพองค์กุมารน้อยไหลขึ้นเหนือจนถึงเกาะเขิน) การที่บวงสรวงพญานาคโดยการจุดประทีป โคมไฟ ธูปเทียนบูชาไหลไปตามแม่น้ำโขงนี้เอง จึงก่อให้เกิดประเพณีการไหลเรือไฟขึ้น และ ปฏิบัติกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เอง ชุมชนใหม่ที่ตั้งขึ้นบนเกาะเขินนั้น จึงได้รับการขนานนามว่า เมืองสุวรรณโคมคำ ซึ่งได้มาจากพระนามขององค์กุมารน้อย ซึ่งมีพระนามว่า สุวรรณมุขทวาร และชื่อของพิธีจุดโคมบวงสรวงพญานาค ซึ่งเรียกว่า โคมคำ
เมืองสุวรรณโคมคำนั้น ตั้งขึ้นในสมัยใด และเชื้อกษัตริย์เมืองโพธิสารหลวงนั้นเป็นชาติพันธุ์ใด ?
ตามตำนานของประเทศศรีลังกา ซึ่งท่านฟรังซิสการ์เย เขียนไว้ในหนังสือการสำรวจแม่น้ำโขงของท่าน ในศตวรรษที่ 19 กล่าวไว้ว่า เมืองสุวรรณโคมคำนั้นปรากฏ อยู่ในศตวรรษที่ 5 ของคริสตกาล และตามตำนานน้ำท่วมโลก ซึ่งได้กล่าวถึงพระยาศรีสัตนาคที่ครองเมืองหนองแสแสนย่าน ได้นำกำลัง 7 โกฏิ ( 7 0 ล้าน) ยกลงมาตามแม่น้ำโขง และเป็นต้นกำเนิดของนาค 15 ตระกูล ในหลวงพระบาง และชาวเมืองโพธิสารหลวง (ศรีโคตรตะบอง หรือ โคตรบูร) นั้นก็เป็นเชื้อขอม
ตำนานยังบอกว่า เมืองสุวรรณโคมคำนั้น เติบโตอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น บ้านเรือนของไพร่พลก็มีถึง 100,000 หลัง (กำลังคนและจำนวนบ้านเรือนไม่น่าจะเป็นได้)
ครั้งต่อมา เมืองสุวรรณโคมคำมีการประพฤติไม่ซื่อสัตย์ต่อพ่อค้า ซึ่งเป็นพวกนาคชาวหลวงพระบาง ทำให้เกิดการขัดแย้งกัน ชาวหลวงพระบางจึงได้ยกกำลังมาบุกทำลายเมืองสุวรรณโคมคำจนราบ ทำให้ชาวเมืองแตกตื่นอพยพไปทั่วสารทิศ เช่น ไปศรีสัชนาลัย และบางท่านก็ว่าไปไกลถึงสุวรรณภูมิ(นครชัยศรี) และได้นำประเพณีไหลเรือไฟไปปฏิบัติด้วย(ประเพณีลอยกระทงมีต้นกำเนิดจากที่นี่และได้สืบทอดจนถึงยุคพญาเม็งรายซึ่ง พญาร่วงจากสุโขทัยได้รับประเพณีนี้ไป)
เมืองสุวรรณโคมคำ อันเป็นชื่อแรกของนครโบราณแห่งนี้ นับว่าได้ผ่านการถูกทำลาย และ สร้างขึ้นใหม่หลายครั้งหลายหน และมีชื่อเรียกต่าง ๆ มากมาย ในที่สุดก็เหลือให้เห็นแต่ร่องรอยของเมืองร้างอันน่าสะเทือนใจ (ปัจจุบันนี้ทางแผนกวัฒนธรรม แขวงบ่อแก้ว และ กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม ประเทศ”สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว”ได้มีมาตรการอนุรักษ์และประกาศให้เป็นปูชณียสถานแห่งชาติ เป็นสถานที่อนุรักษ์และหวงห้าม เป็นอุทยานแห่งการศึกษาหาความรู้ แหล่งท่องเที่ยวและผักผ่อนหย่อนใจของนักค้นคว้า นักศึกษา นักอนุรักษ์นิยม และรักษาวัฒนธรรมอันหลากหลาย นั่นก็คือ ธรรมชาติที่สวยงามและปลอดโปร่ง)
ยุคอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน(ตำนานสิงหนวัติ)
ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองโยนกนครราชธานีศรีช้างแสน หรือเมืองนาคพันธุ์สิงหนวัตินครนั้น เป็นเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนก ได้กล่าวถึงมหากษัตริย์องค์หนึ่ง ชื่อว่า เทวกาละ ครองราชย์สมบัติเป็นใหญ่แก่ไทยทั้งหลายในเมืองนครไทยเทศ อันมีเมือง ราชคหะ (ราชคฤห์) เป็นนครหลวงมหากษัตริย์พระองค์นั้น มีราชโอรส 30 พระองค์ ราชธิดา 30 พระองค์ รวมทั้งหมด 60 พระองค์ ราชโอรสองค์แรกมีพระนามว่า พิมพิสารราชกุมาร องค์ที่สองมีพระนามว่า สิงหนวัติกุมาร (บางตำราเป็นสิงหนติกุมาร และเพี้ยนไปเป็น สีหนติกุมาร หรือศรีหนติกุมาร ก็มี) ด้วยเหตุว่ามีลักษณะและกำลังดุจราชสีห์นั่นเอง
เมื่อนั้น มหากษัตริย์ผู้เป็นพ่อได้แบ่งราชสมบัติให้แก่ราชโอรสและธิดาทั้ง 60 พระองค์แล้วได้แต่งตั้งให้เจ้าพิมพิสาร โอรสองค์แรกเป็นอุปราชา และให้อภิเษกสมรสกับพระราชธิดาผู้หนึ่งให้อยู่ในเมืองราชคฤห์นครหลวง ส่วนโอรสและราชธิดา 29 คู่นั้น ให้จับคู่กันแล้วแยกย้ายออกไปตั้งบ้านเมืองอยู่ตามที่ต่าง ๆ
ส่วนเจ้าสิงหนวัติกุมารโอรสที่สองกับน้องหญิงผู้หนึ่งได้แบ่งเอาราชสมบัติพร้อมไพร่พลแสนหนึ่ง แล้วก็เสด็จออกจากเมือง ราชคฤห์นครหลวง ข้ามแม่น้ำสระพูมุ่งหน้าไปทางทิศอาคเนย์ออกจากเมืองราชคฤห์ได้ 4 เดือน “พอถึงเดือน 5 ออก 11 ค่ำ วันศุกร์ ก็จึงได้ไปถึงประเทศที่หนึ่งมีสัณฐานราบเปียงเรียงงาม มีแม่น้ำใหญ่ น้ำฮาม(ไม่เล็กไม่ใหญ่) น้ำน้อย มากนัก ก็บ่พอไกลขรนที (แม่น้ำโขง) เท่าใดสัก 7000 วา(10.4 ก.ม.ประมาณได้แถวๆบ้านแม่ลัวตรงหนองหล่มพอดี) ได้ แลมีน้ำห้วยน้อยอันจักสร้างไร่นาดีนัก แลเป็นแว่นแคว้นเมืองสุวรรณโคมคำเก่าอันร้างไปแล้วนั้น ในกาลนั้น มีแต่พวกลัวะ มิละขุ คือชาวป่าชาวดอยทั้งหลาย ยังอยู่ในซอกห้วยราวเขาภูดอยไคว่จุที่แล้ว และมีขุนหลวงผู้หนึ่ง นามว่า ปู่เจ้าลาวจก เป็นใหญ่แก่มิลักขุทั้งหลายก็ยังอยู่ดอยดินแดงอันมีหนประจิมทิศประเทศนั้น (ดอยตุง)ในตำนานนั้นได้กล่าวอีกว่า “เมื่อนั้น ท่านก็ให้แปงปางจอดยั้งเยาเอาชัยอยู่ที่นั้น รอดเดือนสี่ ขึ้นหนึ่งค่ำ วันศุกร์ มหาศักราชขึ้นใหม่แถมตัวหนึ่งเป็น 18 ตัวปีล่วงเป้า วันนั้นยังมีพญานาคตัวหนึ่ง มีชื่อว่า “พันธุนาคราช” ก็มาเนรมิตตนเป็น พราหมณ์ผู้หนึ่ง แล้วเข้ามาสู่ที่แห่งเจ้าสิงหนวัติกุมาร แล้วกล่าวว่า “ดูกร เจ้ากุมารท่านนี้ เป็นลูกท้าวพระยา มหากษัตริย์ หรือว่าเป็นลูกเศรษฐีหรือคหบดี กระฎุมพี แลว่าพ่อค้า อั้นจา ลุกบ้านใดเมืองใดมานั้นจาแลเจ้ากุมารเห็นว่ามีประโยชน์อันใดจา จึงมายั้งพักยังสถานที่นี้ ว่าดังนี้ เมื่อนั้นเจ้าสิงหนุวัติกุมาร กล่าวว่าดูกรท่านพราหมณ์ เรานี้หากเป็นลูกกษัตริย์ตนหนึ่ง ชื่อว่าเทวกาละ ผู้เป็นเจ้าแผ่นดินเมืองราชคฤห์นครหลวงพุ้นแล เรามานี่เพื่อจักแสวงหาที่ควรสร้างบ้านตั้งเมืองอยู่แล ว่าอั้น เมื่อนั้นนาคพราหมณ์ก็ว่า ดีแท้แล ท่านจุ่งมาตั้งที่นี้ให้เป็นบ้านเมืองอยู่เทอะ จักวุฒิจำเริญดี จักบริบูรณ์ด้วยข้าวของราชสมบัติประการหนึ่ง ข้าศึกศัตรูทั้งหลาย เป็นต้นว่าศึกมหานครเมืองใหญ่ทั้งหลายจักมารบก็เป็นอันยาก เหตุว่าแม่น้ำใหญ่ สะเภาเลากาจักมาก็ไม่ถึง แต่ว่าขอให้มีสัจจะรักษายังข้าคนและสัตว์ทั้งหลายแด่เทอะ”
เมื่อนั้น เจ้าสิงหนวัติกุมารจึงกล่าวว่า “ดูกร ท่านพราหมณ์ ท่านนี้อยู่ที่ใด อยู่บ้านเมืองใด และมีชื่อว่าดังฤา” นาคพราหมณ์ก็กล่าวว่า “ข้านี้มีชื่อว่าพันธุพราหมณ์ อยู่รักษาประเทศที่นี่มาตั้งแต่ตระกูลเค้ามาแล ท่าน จุ่งใช้สัปปรุริสะแห่งท่านไปตามดูที่อยู่แห่งข้าเทอะ ว่าอั้น” แล้วก็กล่าวอำลาเจ้าสิงหนวิตกุมารออกไปแล เจ้าสิงหนวัติกุมารจึ่งใช้ให้บ่าวแห่งท่านตามไปดู 7 คน ไปทางหนหรดี ไกลประมาณ 1,000 วา(1วา =2 เมตร =2 ก.ม.) แล้วก็ลวดหายไปเสียแล เมื่อนั้นบ่าวทั้ง 7 คน จึงกลับคืนมาบอกแก่เจ้าแห่งเขา ตามดั่งที่ได้เห็นมานั้นทุกประการแล เจ้าสิงหนวัติกุมารได้ยินคำดังนั้นก็สลั่งใจอยู่แล ส่วนว่านาคพราหมณ์ผู้นั้นก็เอาเพศเป็นพญานาคดังเก่าแล้วก็ทวนบุ่นไปให้เป็นเขตคูเวียง กว้าง 3,000 วา รอดชุกน้ำ แล้วก็หนีไปสู่ที่อยู่แห่งตนในกลางคืนนั้นแล ครั้นรุ่งแจ้งแล้ว เจ้าสิงหนวัติกุมารเห็นเป็นประการฉันนั้นแล้ว ก็มีใจชื่นชมยิ่งนัก จึงให้หาพราหมณ์อาจารย์มา แล้วก็ตรัสถามว่า “พราหมณ์ผู้มาบอกให้แก่เรานั้น จักเป็นเทวบุตร เทวดา พระยาอินทร์พรหมดังฤา พราหมณ์อาจารย์จึงกล่าวว่า ตามดั่งข้าผู้เฒ่ามาพิจารณาดูนี้ คงจะเป็นพญานาคเป็นแน่แท้ เมื่อนั้นก็พร้อมกันเข้ายังเรือนหลวง แล้วตั้งหอเรืองบริบูรณ์แล้ว ก็เข้าอยู่เป็นเมืองใหญ่ แล้วพราหมณ์อาจารย์ผู้นั้นก็พิจารณา เอาชื่อพญานาคพันธุ์นั้น กับชื่อกุมารผู้เป็นเจ้านั้น ชื่อสิงหนวัตินั้นมาผสมกัน แล้วเรียกนามเมืองนั้นว่า เมืองพันธุสิงหนวัตินคร นั้นแล
เมื่อเจ้าสิงหนวัติกุมารได้เป็นเจ้าเมืองพันธุสิงหนวัตินครแล้ว ได้มีอาชญาเรียกว่าเอาขุนหลวง มิลักขุทั้งหลาย ให้เข้ามาสู่สมภารแห่งพระองค์นั่นแล แต่นั้นไปภายหน้าได้ 3 ปี ยังมีเมืองอันหนึ่งอยู่หนหรดี ไกลประมาณ 4 คืนทาง มีข้างหัวกุกกะนที (แม่น้ำกก) ที่นั่น ชื่อว่าเมืองอุมงคเสลานคร เมืองนั้นเป็นที่อยู่ของชาวขอมทั้งหลาย(มีนักประวัติศาสตร์แห่งเชียงรายสันณิษฐานว่าเป็นพื้นที่ในเขต อ.เวียงไชย แต่หัวน้ำกกอยู่เขต อ.แม่อายปัจจุบัน) และส่วนว่าเมืองขอมนี้ก็เป็นเมืองพร้อมกันกับ เมืองสุวรรณโคมคำ แต่ครั้งสมัยศาสนาพระกัสสปะและยังไม่เคยเป็นเมืองร้างเลย พระยาขอมเจ้าเมืองอุมงคเสลานครนั้น มีมานะกระด้างไม่ยอมเข้าสู่บรมโพธิสมภารเจ้าสิงหนวัติ พระองค์จึงยกกำลังรี้พลไปรบเอาเมืองอุมงคเสลานครได้เข้าสู่ บรมโพธิสมภารแต่นั้นมา มหาศักราชได้ 22 ตัว ปีดังไส้ ตั้งเมืองพันธุสิงหนวัตินครได้ 5 ปี ถึงปีนั้นท่านก็ปราบได้ล้านนาได้ทั้งมวลแล ฯ
เสนาอำมาตย์ พราหมณ์อาจารย์ ไพร่ไทยทั้งหลาย ก็พร้อมใจกันราชาภิเษกยังเจ้าสิงหนวัติราชกุมารขึ้นเป็นเอกราชมหากษัตริย์ ปราบล้านนา ทั้งมวล ขนานพระนามว่าเจ้าพระยาสิงหนวัติราชกษัตริย์ตั้งแต่นั้นมา และเมืองนี้ก็บริบูรณ์ด้วยผู้คน ช้างม้าวัวควาย สมบัติมากนัก เกิดเป็นเมืองใหญ่แต่นั้นมา มีอาณาเขตดังนี้
ในทิศบูรพา มีแม่น้ำขรนทีเป็นแดน
ในทิศปัจฉิม มีดอยรูปช้างชุนน้ำย้อยมาหาแม่คงเป็นแดน
ในทิศอุดร มีต้าง (เขื่อน) หนองแสเป็นแดน
ในทิศทักษิณ มีลวะรัฐเป็นแดน
บ้านเมืองก็มีความสงบสุขร่มเย็นตลอดสมัยของพระเจ้าสิงหนวัติ พระองค์ มีอายุได้ 120 ปี (บางตำนานก็ว่าครองราชย์ได้ 52 ปี) ในภายหลังอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน ที่มีเมืองพันธุสิงหนวัตินครเป็นเมืองหลวงนั้น ตำนานได้กล่าวไว้ว่า ได้มีกษัตริย์ปกครองสืบเนื่องต่อกันมาประมาณกว่า 40 พระองค์ ซึ่งบางพระองค์ก็จะปรากฏพระนาม ในตำนานของการสร้างเมืองใหม่ หรือโบราณสถานที่ยังคงมีมาอยู่จนถึงยุคปัจจุบัน ได้แก่ พระเจ้าอชุตราช กษัตริย์องค์ที่ 3 เป็นผู้สร้างพระธาตุเจ้าดอยตุง โอรสองค์ที่สองของพระเจ้ามังรายนราช กษัตริย์องค์ที่ 4 คือ พระองค์ไชยนารายณ์ เป็นผู้สร้างเวียงไชยนารายณ์ พระองค์เว่าหรือพระองค์เวา กษัตริย์องค์ที่ 10 เป็นผู้สร้างพระธาตุดอยเวา อำเภอแม่สาย เป็นต้น
รายนามกษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน
1. สิงหนกุมาร 2. คันธกุมาร 3. อชุตราช
4. มังรายนราช 5. พระองค์เชือง 6. พระองค์ชืน
7. พระองค์ดำ 8. พระองค์เกิง 9. พระองค์ชาติ
10. พระองค์เวา 11. พระองค์แวน 12. พระองค์แก้ว
13. พระองค์เงิน 14. พระองค์ตน 15. พระองค์งาม
16. พระองค์ลือ 17. พระองค์รวย 18. พระองค์เชิง
19. พระองค์กัง 20. พระองค์เกา 21. พระองค์พิง
22. พระองค์ศรี 23. พระองค์สม 24. พระองค์สวรรย์ (สวน)
25. พระองค์แพง 26. พระองค์พวน 27. พระองค์จักร์
28. พระองค์ฟู 29. พระองค์ผัน 30. พระองค์วัง
31. พระมังสิงห์ 32. พระมังแสน 33. พระมังสม
34. พระองค์ทิพ 35. พระองค์กอง 36. พระองค์กม (กลม)
37. พระองค์ชาย (จาย) 38. พระองค์ชิน (จิน) 39. พระองค์ชม (จม)
40. พระองค์กัง (ปัง) 41. พระองค์กิง (พึง) 42. พระองค์เกียง (เปียง)
43. พระองค์พัง (พังคราช) 44. ทุกชิต 45. มหาวัน
46. มหาไชยชนะ
อาณาจักรโยนก ได้มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาจนสมัยพระองค์มหาไชยชนะ อาณาจักรจึงได้ถึงกาลล่มจม ดังปรากฏในตำนานสิงหนวัติที่กล่าวว่า ได้มีชาวเมืองไปได้ปลาไหลเผือกตัวใหญ่มากและได้ตัดเป็นท่อนแจกกันกินทั่วทั้งเวียง และในคืนนั้นก็ได้เกิดมีเหตุเสียงดังสนั่นเหมือนกับแผ่นดินไหว ถึงสามครั้ง จนเป็นเหตุให้เมืองโยนกถล่มกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นน่าอัศจรรย์ที่ยังคงเหลือบ้านของหญิงหม้ายคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้รับส่วนแบ่งเนื้อปลานั้นจากชาวเมืองไปบริโภค ในปัจจุบันหนองน้ำดังกล่าวจึงได้มีผู้สันนิษฐานไปต่าง ๆ กัน บ้างก็สันนิษฐานว่าคือทะเลสาบเชียงแสน (หนองบงกาย) ในเขตอำเภอเชียงแสน บ้างก็ว่าคือเวียงหนองล่ม (เวียงหนองหรือเมืองหนองก็ว่า) เนื่องจากมีชื่อสถานที่ต่าง ๆ ได้ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้อยู่ใกล้เคียงบริเวณนั้น เช่น บ้านแม่ลาก ก็หมายถึงตอนที่ชาวเมืองได้ช่วยกันลากปลาไหลตัวนั้น บ้านแม่ลัว (คงเลือนมาจากคำว่าคัว) ก็หมายถึงตอนที่ได้ชำแหละปลาไหลนั้นเพื่อแจกจ่ายกัน แม่น้ำกก หมายถึงตัดเป็นชิ้นๆ ซึ่งชื่อดังกล่าวนี้ปัจจุบันมีอยู่ในท้องที่ของอำเภอเชียงแสนและ อำเภอแม่จัน และยังมีผู้สันนิษฐานว่าคือหนองหลวง ในเขตอำเภอเวียงชัยอีกด้วย (ตำนาน-เรื่องเล่าขานสืบต่อกันมา อาจจะไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรม)
หลังจากที่อาณาจักรโยนกได้ล่มสลายพร้อมด้วยราชวงศ์ดังกล่าวแล้ว ชาวเมือง จึงได้ปรึกษากันพร้อมใจกันยกให้ขุนลัง ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาเป็นผู้ปกครองแทนราชวงศ์ และได้มีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ชื่อ เวียงปรึกษา (เวียงเปิ๋กษา) ซึ่งเมืองใหม่นี้ ว่ากันว่าเป็นต้นแบบของประชาธิปไตย เนื่องจากผู้นำได้มาจากการประชุมปรึกษาหารือกันคล้ายระบบการเลือกตั้งจึงเป็นที่มาของชื่อเวียงปรึกษา เวียงปรึกษาได้มีผู้ปกครองสืบต่อกันมา 15 คน เป็นระยะเวลา 93 ปี
ยุคหิรัญนครเงินยาง
ได้กล่าวถึงลวจังกราชหรือลวจักกราช ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์นี้ ซึ่งในหลักฐานบางฉบับเรียกว่า ราชวงศ์ลาว เนื่องจากพระนามของกษัตริย์ในราชวงศ์นี้ล้วนขึ้นต้นด้วยคำว่า “ลาว” มีอำนาจอยู่ในเมืองเชียงลาว (เชียงเรือน) สันนิษฐานว่าอยู่ใกล้บริเวณดอยตุงและแม่น้ำสาย ต่อมาได้ขยายจากเมืองเชียงลาวมาสู่เมืองเงินยางหรือเงินยัง ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง สันนิษฐานว่าเมืองเงินยางนี้อยู่ใกล้กับเมืองเชียงแสน หรืออาจเป็นบริเวณเดียวกันก็เป็นได้ เมืองเงินยางมีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “หิรัญนคร” อันเป็นที่มาและเรียกชื่อเมืองนี้ว่า หิรัญนครเงินยาง
ลวจังกราชเป็นใครมาจากไหน จากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับของวัดพระงาม โดยอินทวังสภิกขุ จารไว้เมื่อ จ.ศ.๑๒๑๖(พ.ศ. ๒๔๖๙) กล่าวไว้ว่า หลังจากที่อาณาจักรโยนกล่มสลายลงแผ่นดินถิ่นล้านนาหามีกษัตริย์ใดที่พร้อมจะทะนุบำรุงพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองได้ กษัตริย์อนิรุทธรรมิกราช และท้าวพระญาต่าง ๆในชมพูทวีปจึงร้องขอต่อองค์อินทราธิราช เพื่อหาผู้มาปกครองแผ่นดินล้านนา แล้วองค์อินทราธิราชเจ้าก็เห็นยังเทวบุตรตนหนึ่งชื่อ ลวจังกรเทวบุตร อันมีบุญสมพารหากได้กัตตาธิการมามากอยู่เสวยทิพย์สมบัติในชั้นฟ้าตาวติงสา มีอายุจักเสี้ยงดั่งอั้น องค์อินทราธิราชจึงได้เข้าไปสู่สำนักของ ลวจังกรเทวบุตรแล้วกล่าวอัญเชิญให้ไปเกิดในเมืองมนุษย์ที่เมืองเชียงลาวเพื่อเป็นมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่เหนือผู้ใดในแว่นแคว้นล้านนาและช่วยรักษาพุทธศาสนาไว้ด้วย
“ลวจังกรบุตรก็รับเอาคำพระยาอินทาว่า สาธุ ดีดีแล ว่าแล้วก็จุติแต่ชั้นฟ้าลงมากับบริวารแห่งตน หนึ่งพัน ก่ายเกิ๋นเงินลงมาจากชั้นฟ้า บ้างก็ว่า ก่ายมาจากปลายดอยตุง ลงมาเกิดเป็นมานพน้อยวัย ๑๖ ขวบปี โดยมีเครื่องทรงอันอลังการบนอาสนะใต้ต้นพัทระ หรือต้นตัน หรือพุทรา ริมฝั่งน้ำแม่ใสใกล้เมืองชยวรนคอรหรือว่าเมืองเชียงลาวส่วนบริวารทั้งพันทั้งหญิงแลชายก็เกิดเป็นกุมารแลกุมารี อันได้ ๑๖ ขวบเช่นกันฝ่ายผู้คนในเมืองเชียงลาวเห็นเป็นอัศจรรย์จึงได้อัญเชิญให้เสวยราชสมบัติเป็นใหญ่ในเมืองชยวรนคอรได้ชื่อว่า ”พระญาลวจังกราชะ”และในการนับปีจุลศักราชก็เริ่มขึ้นในปีนี้เอง (เริ่มนับปีจุลศักราชที่ ๑ที่ พ.ศ. 1181)
(การอ้างความเป็นเทวบุตร ช่วยให้การปกครองง่ายขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นลูกหลานปู่เจ้าลาวจก แห่งดอยตุง ซึ่งเดิมเป็นชาวป่าชาวดอยต่อมาได้รับเอาอารยะธรรมจากโยนกที่ความเจริญรุ่งเรืองก็มีการพัฒนาตัวเอง เมื่อราชวงศ์สิงหนวัติล่มสลาย เชื้อสายลวจักราชมีความเข้มแข็งจึงยกตนเป็นผู้นำ –(ผู้เรียบเรียง)
ลวจังกราช (ลาวจง) มีราชบุตร 3 พระองค์ คือ ลาวครอบ ลาวช้าง และลาวเกล้าแก้วมาเมือง ลวจังกราชได้ส่งราชบุตรออกไป สร้างบ้านแปงเมือง คือ ให้ลาวครอบราชบุตรองค์โตไปครองเมืองเชียงของ ลาวช้างราชบุตรองค์ที่สองไปครองเมืองยอง ส่วนลาวเกล้าแก้วมาเมือง ราชบุตรองค์เล็กนี้ให้ครองเมืองเชียงลาวสืบเนื่องมา ด้วยเหตุนี้ภายหลังจึงทำให้ราชวงศ์ลาว (ลวจังกราช) เป็นต้นของราชวงศ์เมืองต่าง ๆ เช่น พะเยา เชียงของ เชียงคำ จนถึงสมัยพญามังรายได้สร้างเมืองเชียงรายแล้ว พบว่าเจ้าเมืองต่าง ๆ ได้มีเชื้อสายมาจากวงศ์ลวจังกราชด้วยกัน จึงมีพระราโชบายรวบรวมให้เป็นปึกแผ่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
รายนามกษัตริย์ราชวงศ์ลาว (ลวจังกราช หรือวงศ์หิรัญนคร)
รัชกาลที่ 1 ลวจังกราช (ลาวจง)
รัชกาลที่ 2 ลาวเกล้าแก้วมาเมือง
รัชกาลที่ 3 ลาวเส้า (ลาวเสา)
รัชกาลที่ 4 ลาวตัง (ลาวพัง)
รัชกาลที่ 5 ลาวกลม (ลาวหลวง)
รัชกาลที่ 6 ลาวเหลว
รัชกาลที่ 7 ลาวกับ
รัชกาลที่ 8 ลาวคิม (ลาวกิน)
รัชกาลที่ 9 ลาวเคียง
รัชกาลที่ 10 ลาวคิว
รัชกาลที่ 11 ลาวเทิง (ลาวติง)
รัชกาลที่ 12 ลาวทึง (ลาวเติง) รัชกาลที่ 13 ลาวคน
รัชกาลที่ 14 ลาวสม
รัชกาลที่ 15 ลาวกวก (ลาวพวก)
รัชกาลที่ 16 ลาวกิว (ลาวกวิน)
รัชกาลที่ 17 ลาวจง
รัชกาลที่ 18 จอมผาเรือง
รัชกาลที่ 19 ลาวเจิง (ลาวเจื๋อง)
รัชกาลที่ 20 ลาวเงินเรือง
รัชกาลที่ 21 ลาวซิน (ลาวชื่น)
รัชกาลที่ 22 ลาวมิง
รัชกาลที่ 23 ลาวเมือง (ลาวเมิง)
รัชกาลที่ 24 ลาวเมง
ลาวจง(ร.17)มีราชบุตร 2 พระองค์ องค์พี่ชื่อ ลาวชิน ได้ให้ปกครองเมืองไชยนารายณ์(เวียงไชย) ส่วนผู้น้องชื่อจอมผาเรืองนั้น ให้ครองเมืองเชียงลาว ต่อมา ขุนขอมธรรมโอรสองค์ที่ ๒ ของขุนเงินได้ไปสร้างเมืองภูกามยาว(พะเยา)ในปี พ.ศ. ๑๖๐๒ หรือ จ.ศ. ๔๒๑ มีราชบุตรชื่อลาวเจื่อง (ขุนเจื่อง)ขุนเจื๋องตอนประสูติโหรถวายคำพยากรณ์ว่าราชบุตรองค์นี้จะเป็นจักรพรรดิราชปราบชมพูทวีป มีบุญญาธิการมาก เวลาประสูติ มีของทิพย์เกิดขึ้น 3 อย่าง คือ แส้ทิพย์ พระแสงทิพย์ คนโททิพย์ ชื่อว่า“ขุนเจื๋อง” ต่อมาอีก 3 ปี ได้ราชบุตรอีกพระนามว่า “ขุนจอง” หรือ “ชิง” เมื่อขุนเจื๋องเจริญวัยขึ้น ทรงศึกษาวิชายุทธศาสตร์ เช่น วิชาดาบ มวยปล้ำ เพลงชัย จับช้าง จับม้าและเพลงอาวุธต่างๆ พระชนมายุได้ 16 ปี พาบริวารไปคล้องช้างที่เมืองน่านเจ้าผู้ครองเมืองน่านเห็นความสามารถแล้วพอพระทัย ยกธิดาชื่อ“จันทร์เทวี” ให้เป็นชายาขุนเจื๋อง พระชนมายุได้ 17 ปี พาบริวารไปคล้องช้างที่เมืองแพร่ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่พอพระทัย จึงยกธิดาชื่อ “นางแก้วกษัตริย์” ให้เป็นชายา พระราชทานช้าง 200 เชือก ขุนจอมธรรมปกครองเมืองพะเยาได้ 24 ปี พระชนมายุได้ 49 พรรษา ก็สิ้นพระชนม์ขุนเจื๋องได้ครองราชสืบแทน ครองเมืองได้ 6 ปี มีข้าศึกแกว (ญวน) ยกทัพมาประชิดนครเงินยางเชียงแสน ขุนชินผู้เป็นลุง ได้ส่งสาส์นขอให้ส่งไพร่พลไปช่วยขุนเจื๋องได้รวบรวบรี้พลยกไปชุมนุมกันที่สนามดอนไชยหนองหลวง และเคลื่อนทัพเข้าตีข้าศึกแตกกระจัดกระจายไป เมื่อขุนชินทราบเรื่องก็เลื่อมใสโสมนัสยิ่งนัก ทรงยกธิดาชื่อ “พระนางอั้วคำคอน” ให้และสละราชสมบัตินครเงินยางเชียงแสนให้ขุนเจื๋องครองแทนเมื่อขุนเจื๋องได้ครองราชเมืองเงินยางแล้ว ทรงพระนามว่า “พระยาเจื๋องธรรมมิกราช” ได้มอบสมบัติให้โอรสชื่อ“ลาวเงินเรือง” ครองเมืองพะเยาแทนหัวเมืองใหญ่น้อยเหนือใต้ยอมอ่อนน้อม ได้ราชธิดาแกวมาเป็นชายานามว่า “ นางอู่แก้ว” มีโอรส 3 พระองค์คือ ท้าวผาเรืองยี่คำห้าว ท้าวสามชุมแสง ต่อมายกราชสมบัติเมืองแกวให้ท้าวผาเรือง ให้ท้าวคำห้าวไปครองเมืองล้านช้าง ท้าวสามชุมแสงไปครองเมืองน่าน ต่อมาได้โยธาทัพเข้าตีเมืองต่างๆ ที่ยังไม่ยอมสวามิภักดิ์ ทรงชนช้างกับศัตรูเสียทีข้าศึกเพราะชราภาพ จึงถูกฟันคอขาดและสิ้นพระชนม์บนหลังช้าง พวกทหารจึงนำพระเศียรไปบรรจุไว้ที่พระเจดีย์เมืองหิรัญนครเชียงแสน ขุนเจื๋อง ประสูติเมื่อปีพุทธศักราช 1641 ครองราชย์สมบัติเมื่อพระชนมายุ 24 ปีครองแค้วนล้านนาได้ 24 ปี ครองเมืองแกวได้ 17 ปี รวมพระชนมายุได้ 67 ปี ในสมัยของลาวเจื่องนี้ได้ให้ราชบุตรอีกหลายพระองค์ไปครองยังเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองล้านช้าง เมืองน่าน เป็นต้น อันเป็นการกระจายราชวงศ์ลาว (ลวจังกราช) ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ อีกสมัยหนึ่ง(ในยุคนี้ ล้านนา และล้านช้างเป็นปึกแผ่นเดียวกัน และมีความมั่นคงมากที่สุดยุคหนึ่งท่านน่าจะเป็นมหาราชอีกสักพระองค์เพราะความเก่งกล้าสามารถของท่านจนได้เกิดตำนาน ท้าวฮุ่ง ท้าวเจื๋องซึ่งเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของอีสาน-กิจจา)
มาจนถึงสมัยลาวเมง(ร.24) ลาวเมืองพระบิดาได้สู่ขอนางอั้วมิ่งจอมเมืองหรือนางเทพคำขยาย ธิดาท้าวรุ้งแก่นชาย เจ้านครเชียงรุ้ง เมืองใหญ่แว่นแคว้นสิบสองปันนา มาอภิเษกเป็นชายาเจ้าลาวเมง ครั้นภายหลังอภิเษกแล้วไม่นานเท่าใด นางเทพคำขยายก็ทรงมีครรภ์แล้วประสูติพระราชโอรส เมื่อจ.ศ. ๖๐๑( พ.ศ. 1782) ทรงพระนามว่า “เจ้ามังราย”
อาณาจักรหิรัญนครเงินยาง (เชียงลาว หรือเชียงเรือง หรือหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ก็เรียก) นั้น เคยมีความรุ่งเรืองมาก่อน มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ได้มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันในราชวงศ์ลวจังกราชมาหลายพระองค์ มาจนถึงสมัยพญามังราย จึงได้มีการสร้างเมืองใหญ่ขึ้นที่เชียงราย(จ.ศ.๖๒๔-พ.ศ.๑๘๐๕) และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้เริ่มมีความชัดเจนขึ้น เนื่องจากมีการใช้อักษรล้านนาบันทึกเรื่องราวต่างๆนับแต่การสร้างเมืองเชียงรายเป็นต้นมา