เมืองเชียงรายสร้างโดยพญามังรายเมื่อ พ.ศ.1805 ด้วยการก่อกำแพงโอบล้อมดอยทอง ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามีอาณาเขตและลักษณะอย่างไร ขณะที่แนวกำแพงและประตูเมืองเชียงรายในปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นในยุคหลัง
ก่อนอื่นจะขอเล่าย้อนไปถึงช่วงปลายสมัยกลางคาบเกี่ยวกับยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”
ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนขั้วอำนาจในล้านนา จากพม่าสู่สยาม พ.ศ.2347 กองทัพเชียงใหม่ นำโดยเจ้าธรรมลังกา (น้องชายพระเจ้ากาวิละ เจ้าหลวงเชียงใหม่) ร่วมกับพันธมิตร คือ ลำปาง เมืองน่าน เวียงจันทน์ และกรุงเทพฯ ยกกองทัพขับไล่พม่าออกจากเชียงรายและเชียงแสนได้สำเร็จ
หลังจากกวาดต้อนเอาไพร่พลลงไปอยู่ตามเมืองต่างๆทางใต้แล้ว เชียงรายและเชียงแสนจึงกลายเป็นเมืองร้างนับแต่นั้นมา
ต่อมา พ.ศ.2386 พระยาพุทธวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ ได้ฟื้นฟูเมืองเชียงรายขึ้นใหม่ เพื่อเป็นฐานกำลังในเขตล้านนาตอนบน มีฐานะเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่ เจ้าหลวงเชียงใหม่ให้ญาติพี่น้องเชื้อสายลำพูนปกครองเชียงราย โดยเจ้าธรรมลังกาเป็นเจ้าหลวงเมืองเชียงราย เจ้าอุ่นเรือนเป็นพระยาอุปราช เจ้าคำแสนเป็นพระยาราชวงศ์ เจ้าชายสามเจ้าพูเกี๋ยงเป็นพระยาราชบุตรและพระยาบุรีรัตน์
ในการฟื้นเมืองเชียงรายครั้งนี้ อาศัยราษฎร 1,000 ครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นไพร่เมืองเชียงใหม่และลำพูน ซึ่งเป็นไทเขิน ไทลื้อ และไทใหญ่ ที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองเชียงตุง เมืองพยาก เมืองเลน และเมืองสาด ตั้งแต่สงครามเมื่อ พ.ศ.2347 โดยไทเขินจะอยู่บ้านสันโค้ง ส่วนไทใหญ่จะอยู่บ้านสันป่าก่อ ขณะที่ไทยวนที่เป็นชนชั้นปกครองจะอยู่ในเวียง
แนวกำแพงเมืองเชียงรายที่เห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยเจ้าหลวงธรรมลังกานี่แหละ (ถึงจะไม่ค่อยเหลือร่องรอยเท่าไหร่ก็เถอะ)
กำแพงล้อมรอบเวียง มีลักษณะคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า แนวกำแพงด้านทิศเหนือขนานไปกับถนนสิงหไคล ด้านทิศตะวันออกขนานกับถนนพหลโยธิน ด้านทิศใต้ตั้งอยู่บนแนวถนนบรรพปราการ และด้านทิศตะวันตกเริ่มตั้งแต่โค้งหักศอกใกล้สะพานประตูเชียงใหม่ ผ่านเชียงรายคอนโด ก่อนจะอ้อมดอยทองไปบรรจบกับแนวกำแพงด้านทิศเหนือ
เมืองเชียงรายประกอบด้วยประตูเมือง 12 ประตู ดังนี้
1. ประตูขะต้ำ – อยู่ระหว่างดอยทองกับสนามกอล์ฟแม่กก
2. ประตูผี – ใกล้ๆเชียงรายคอนโด
3. ประตูเชียงใหม่ – สะพานประตูเชียงใหม่
4. ประตูป่าแดง – สามแยกหน้า ร.ร.สามัคคีวิทยาคม
5. ประตูหวาย – ที่ตั้งของผลงานศิลปะชิ้นเอกของ อ.เฉลิมชัย ซึ่งมนุษย์ทั่วไปเรียกว่า หอนาฬิกาใหม่
6. ประตูสรี – สี่แยกคริสต์จักรที่ 1 เวียงเชียงราย
7. ประตูเจ้าชาย – สี่แยกหน้าโรงเรียนเทศบาล 1 ศรีเกิด
8. ประตูยางเสิ้ง – ริมถนนซูเปอร์ไฮเวย์
9. ประตูท่อ – หลังอนุสาวรีย์พญามังราย
10. ประตูท่าทราย – สี่แยกบ้านพักพนักงานยาสูบ ถนนสิงหไคลตัดกับถนนวิเศษเวียง
11. ประตูนางอิง – สี่แยกสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงฮาย
12. ประตูท่านาค – ตีนดอย บริเวณทางขึ้นศาลากลางหลังใหม่ (แต่เดี๋ยวนี้มีใหม่กว่า)
ส่วนคูเมืองเชียงรายนั้น ทางทิศเหนือใช้แม่น้ำกกและแม่น้ำกกน้อยเป็นปราการธรรมชาติ ขณะที่ด้านอื่นๆที่เหลือ มีการผันน้ำกกเข้ามาทางสนามกอล์ฟแม่กก ไหลอ้อมดอยทอง ผ่านสะพานประตูเชียงใหม่ เลียบถนนบรรพปราการในปัจจุบันไปทางตะวันออก ก่อนไปบรรจบกับแม่น้ำกกสายเก่าที่ชุมชนเกาะทอง แล้วไหลลงแม่น้ำกกบริเวณสนามกีฬากลาง
ทศวรรษ 2450 ฝ่ายราชการและนายแพทย์วิลเลียม เอ บริกส์ มิชชันนารี ร่วมกันจัดผังเมืองเชียงรายใหม่ โดยการวางถนนให้มีลักษณะตัดกันคล้ายตารางหมากรุกตามแบบเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา ในการนี้ได้มีการถมคูเมืองและรื้อกำแพงเมืองลงด้วย เนื่องจากไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับยุคสมัยแล้ว นอกจากนี้ยังป้องกันน้ำในคูเมืองมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ ปัจจุบันเราจึงไม่เห็นร่องรอยของคูเมืองและกำแพงเมืองเชียงรายเลย แต่ก็นะ ยังมีบางส่วนที่ยังเหลืออยู่ อย่างคูน้ำหน้าโรงเรียนเทศบาล 1 ศรีเกิด หรือที่หน้าโรงเรียนสามัคคีฯ หรือที่สะพานประตูเชียงใหม่ แนวกำแพงเดิมก็ไปดูได้ที่ข้างเชียงรายคอนโด มันจะมีเนินดินอยู่ ส่วนประตูยางเสิ้งที่สร้างใหม่ริมถนนซูปเปอร์ไฮเวย์นั่นก็โอเคนะ เพราะจำลองแบบมาจากภาพลายเส้น ฝีมือนักสำรวจชาวฝรั่งเศส