รับซื้อเพชร

ทางเว็บไม่อนุญาตให้โพสโฆษณา ประชาสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในเว็บไซต์ หากพบทางเว็บจะทำการลบทันที


750 ปี “พระญามังราย" หรือ "พ่อขุนเม็งราย"

  • 1 ตอบ
  • 3163 อ่าน
*

ออฟไลน์ ฮักล้านนา

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • 674
  • 306
    • ดูรายละเอียด
    • วัดร่องขุ่น
750 ปี “พระญามังราย" หรือ "พ่อขุนเม็งราย"
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 04, 2014, 08:40:12 PM »
เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์
เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ปริศนาโบราณคดี มติชนสุดสัปดาห์

อย่าว่าแต่คนภาคอื่นเลยที่รู้สึกสับสน แม้แต่คนเหนือด้วยกันเองก็ออกจะงุนงงไม่น้อย ว่าปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนานั้นมีพระนามว่าอย่างไรกันแน่ "พ(ระ)ญามังราย" หรือ "พ่อขุนเม็งราย" ?

แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในระดับประถม-มัธยม ของเด็กไทยทั่วประเทศที่เติบโตมาในยุคเราๆ ท่านๆ ตั้งแต่รุ่น ๘๐ ปีถึง ๒๐ ปีที่แล้วถูกบังคับให้เรียกว่า "พ่อขุนเม็งรายมหาราช" แบบปิดประตูตีแมว ไม่ให้เรามีทางเลือกอื่น

ในขณะที่สองทศวรรษหลังนี้เพิ่งปรากฏคำว่า "พระเจ้ามังราย" หรือ "พ่อขุนมังราย" ปะปนอยู่กับคำเรียกเดิมคือ "พ่อขุนเม็งราย" ในระดับอุดมศึกษาอยู่บ้าง สร้างความอึดอัดตะขิดตะขวงใจให้ครูสังคม ไม่มีทางออกอื่นใดนอกจากจะสอนเด็กว่า "มังราย" – "เม็งราย" นั้นเป็นคำเดียวกัน แต่เรียกได้ทั้งสองแบบ!

ความสับสนของชื่อ "มังราย" – "เม็งราย" นี้เป็นเรื่องที่ถูกแทรกแซงโดยการเมืองภายนอก แถมยังมีการเมืองภายในเข้ามาทับซ้อนอีกชั้นหนึ่ง

เอกสารโบราณทุกชิ้นใช้ "พร(ะ)ญามังราย"

เอกสารโบราณของทางฝ่ายเหนือ กอปรด้วยศิลาจารึกทุกหลัก รวมทั้งตำนาน พงศาวดารทุกเล่มพบแต่คำว่า"พร(ะ)ญามังราย" ทั้งสิ้น ไม่มีคำว่า "พ่อขุนเม็งราย" ปรากฏแม้แต่ชิ้นเดียว อย่างมากอาจมีคำนำหน้าหรือสร้อยต่อท้ายที่ผิดเพี้ยนกันไปบ้างเล็กน้อย อาทิ

ศิลาจารึกวัดพระยืน ลำพูน ปี ๑๙๑๒ ใช้ "พรญามงงรายหลวง"

จารึกวัดสุวรรณมหาวิหาร พะเยา ปี ๑๙๕๔ เขียน "มังราย"

ตำนานมูลศาสนา ปี ๑๙๖๕ ใช้ "พรยามังราย"

ชินกาลมาลีปกรณ์ ปี ๒๐๕๙ ใช้ "มังรายราช"

โคลงนิราศหริภุญไชย ปี ๒๐๖๐ ใช้ทั้ง "มังรายราช" “มังรายเจ้า" “พระเมืองมังรายราช"

ศิลาจารึกวัดเชียงมั่น ปี ๒๑๒๔ ใช้ "พรญามังรายเจ้า"

ประชุมกฎหมายมังรายศาสตร์ (ไม่ระบุศักราช) ใช้ "พรญามังรายเจ้า"

ถ้าเช่นนั้นคำว่า "เม็งราย" ปรากฏตัวขึ้นมาประกบ "มังราย" ได้อย่างไร

พงศาวดารโยนก หลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่ใช้ "เม็งราย"

 

คำว่า "เม็งราย" (เมงราย) นั้นพบครั้งแรกในหนังสือเรื่อง "พงศาวดารโยนก" เรียบเรียงโดยพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ ต่อมาพงศาวดารเล่มนี้ได้นำมาใช้เป็นต้นแบบในการเรียบเรียงหนังสือประวัติศาสตร์สยามให้แก่คนไทยทั้งประเทศ ทำให้คำว่า "เม็งราย" เป็นที่รู้จักแพร่หลายยิ่งกว่าคำว่า "มังราย" ด้วยกระบวนการผลิตซ้ำโดยขาดการทบทวนหรือตั้งคำถามท่ามกลางหมู่ผู้รู้ ว่าเป็นคำที่ถูกหรือผิด

ตามเวทีสัมมนา มักมีผู้พยายามช่วย "แก้ต่าง" ให้พระยาประชากิจกรจักร์ในทำนองว่า

"ไม่เห็นแปลกตรงไหน ที่จะใช้คำว่า "เม็งราย" ในเมื่อพระราชบิดาของพระองค์ยังทรงมีพระนามว่า "ลาวเมง(เม็ง)" แล้วทำไมพระองค์จะเป็น "เม็งราย" บ้างไม่ได้!”

แน่ใจล่ะหรือว่ามูลเหตุแห่งการเปลี่ยน "มังราย" เป็น "เม็งราย" ของพระยาประชากิจกรจักร์นี้ วางอยู่บนฐานความคิดเรื่องการเชื่อมโยงพระนาม "ลาวเม็ง" ของพระราชบิดา เหตุผลเช่นนี้จักยิ่งมิกลายเป็นการสบประมาทภูมิรู้ของนักประวัติศาสตร์ระดับชาติเช่นพระยาประชากิจกรจักร์ ให้กลายเป็น "นักเล่นแร่แปรธาตุ" ตัวฉกาจจนขาดความน่าเชื่อถือไปล่ะหรือ การออกแรงปกป้องท่านด้วยการเอาสีข้างเข้าถูเช่นนี้ มิได้ช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นอัจฉริยภาพในตัวผู้ประพันธ์แต่อย่างใดเลย

ความจริงมีอยู่ว่าพระยาประชากิจกรจักร์ หาได้เพี้ยนนามของพระญามังรายเป็น "เม็งราย" แบบงุนงงประสาคนนั่งเทียนเขียนคิดเองเออเอง ด้วยขาดความเข้าใจในประวัติศาสตร์ล้านนาไม่

ตรงกันข้ามเป็นเพราะท่านล่วงรู้ความตื้นลึกหนาบาง ทุกแง่ทุกมุมทั้งของสยาม ประเทศราช และของรัฐเพื่อนบ้านมากเกินไปต่างหาก!

คำว่า "เม็งราย" ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยเจตน์จำนงอย่างแรงกล้า ตามวิเทโศบายการเมืองระหว่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่บีบบังคับให้รัฐสยามจำต้องดำเนินการแก้ไขพระนามของ "พระญามังราย" เสียใหม่ เปลี่ยนเป็น"ชื่ออะไรก็ได้ที่ใกล้เคียงกัน" ด้วยเหตุผลที่ค่อนข้างคอขาดบาดตาย!

อย่าลืมว่าระหว่างปี พ.ศ.๒๔๔๒-๒๔๔๓ นั้นอังกฤษได้พม่าเป็นอาณานิคมแล้ว และกำลังเตรียมแผนการรุกคืบมายึดครองล้านนาเป็นเป้าหมายถัดไป โดยแสร้งใช้ความชอบธรรมแบบไขสือว่า "ล้านนาต้องตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษตามพม่าไปด้วยโดยปริยาย" เพราะเหตุผลสองประการ

ประการแรกนั้น ในอดีต (ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๐๑-๒๓๑๗) ล้านนาเคยเป็นส่วนหนึ่งของพม่าในเมื่อพม่าพ่ายแพ้แก่อังกฤษ ล้านนาก็ต้องเป็นของอังกฤษด้วย แต่เหตุผลข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เป็นการอ้างที่ผิดกาละและเทศะ เพราะขณะนั้นล้านนาอยู่ในฐานะประเทศราชของสยามแล้ว

ชาวอังกฤษจึงใช้ทีเด็ดชักแม่น้ำทั้งห้าหาเหตุผลข้อที่สองมาอ้างแทนว่า แม้แต่ปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรล้านนาเองก่อนยุคที่จะตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ก็ยังทรงมีเชื้อสายเป็นชาวพม่า เหตุเพราะทรงมีพระนามว่า "มังราย"ฉะนี้แล้วอาณาจักรล้านนาย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพม่าโดยไม่มีข้อแม้

เจอฝรั่งหัวหมอเล่นมุขนี้ ทีมกุนซือประจำราชสำนักสยามอันประกอบด้วยนักปราชญ์หัวกะทิทั้งหลาย อาทิ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เหล่าพระน้องยาเธอ สมเด็จในกรมอีกหลายองค์ คงระดมสมองคิดหาหนทางแก้กลเกมจนปั่นป่วน ในที่สุดก็ได้ผลึกความคิดที่เป็นสรตะ จึงกล้ามอบหมายให้พระยาประชากิจกรจักร์เดินหน้า "ประดิษฐ์" ประวัติศาสตร์ล้านนาเวอร์ชั่นใหม่ขึ้นมา จงใจแก้ไขชื่อจาก"มังราย" เป็น "เม็งราย" แบบแนบเนียน

อังกฤษกำลังเงื้อง่าจะเล่นงานดึงเอาล้านนาไปจากอ้อมอกสยาม แต่แล้วต้องมาเจอกับพระนามใหม่ของปฐมกษัตริย์ล้านนา ที่กลุ่ม Elite สยามใหม่ เพ่ิงทำการเปลี่ยนแก้ประวัติศาสตร์แบบสายฟ้าแลบ เป็นไปได้อย่างไรกันชื่อ "มังราย" เลือนหายไป เหลือแต่คนชื่อ "เม็งราย" แทนที่ ปราชญ์อัสดงคงเกิดอาการเมาหมัดอยู่หลายเพลา มิรู้จะหาข้ออ้างอันใดมาคัดง้างเพื่อช่วงชิงล้านนา

 

เงื่อนงำแห่ง “มังราย" เกี่ยวข้องอะไรไหมกับพม่า

เป็นอันว่าชื่อ "มังราย" นั้นถูกต้อง ปัญหาที่ตามมาก็คือ จริงหรือไม่ (ตามที่ฝรั่งว่าไว้) ที่นามของพระองค์มีความเกี่ยวพันกับชาวพม่า และหากตอบปฏิเสธ ไฉนพระองค์จึงมีชื่อว่า "มัง" อันเป็นภาษาของชาวม่าน

จริงอยู่ที่คำว่า "มัง" เป็นคำนำหน้าของคนชั้นสูงในพม่า ระดับกษัตริย์หรือขุนนาง เช่น มังนรธา มังระ มังร่อ มังฉงาย ฯลฯ

ซ้ำประวัติของพระญามังรายนั้น หลังจากที่พระมเหสีเอกสวรรคตแล้ว พระองค์ทรงได้ "นางปายโค" ราชธิดาพระเจ้ากรุงหงสาวดีมาเป็นพระอัครชายา ร่วมกับพระธิดาของพระเจ้ากรุงอังวะอีกนางหนึ่งด้วย ในช่วงที่ยาตราทัพไปประกาศแสนยานุภาพข่มเมืองม่าน-มอญแถวพุกาม ภายหลังจากที่ครองราชบัลลังก์เมืองเชียงใหม่หมาดๆ ทำให้กษัตริย์กรุงหงสาวดี (โดยปกติหงสาวดีเป็นเมืองของมอญ แต่ขณะนั้นมอญตกอยู่ภายใต้พม่า) และกรุงอังวะจำต้องยอมผูกสัมพันธ์ด้วยการถวายพระราชธิดาให้ ครั้งกระนั้นพระญามังรายยังได้เกณฑ์สล่าหรือนายช่างหลวงหลากหลายหมู่ราว ๕๐๐ ชีวิตติดตามมาช่วยงานสร้างบ้านแปงเมืองให้นพีสีเชียงใหม่มีความงดงามวิจิตรอีกด้วย

ฝรั่งรู้มาก ประสาคนฉลาดแกมแฉลบ จึงตะแบงความรู้ แสร้งเชื่อมโยงเรื่องราวสายสัมพันธ์ของพระญามังรายที่มีต่อชาวพม่าในฐานะ "ลูกเขย" รู้ทั้งรู้ว่า "มังราย" มิได้เป็นพม่าโดยกำเนิด แต่ชื่อของ "มังราย" ก็มีจุดอ่อนเปราะบางชวนให้ชาวอังกฤษนำไปตั้งแง่ได้

หรือ "พระญามังราย" เพิ่งมาเปลี่ยนชื่อใหม่ภายหลังจากที่ไปดองกับตรละแม่ทั้งสองแห่งเมืองม่าน กล่าวคือก่อนหน้านั้นอาจเคยมีชื่อเดิมว่า "ลาวราย" แล้วเมื่อเห็นความรุ่งเรืองของพุกามอังวะหงสาวดี ก็บังเกิดความคิดที่จะโกอินเตอร์ จึงเปลี่ยนพระนามใหม่ให้ดูศิวิไลซ์ขึ้นตามกษัตริย์พม่า

ความคิดนี้จะว่าขำก็ขำ จะว่าน่าทึ่งก็น่าทึ่ง เพราะบรรพบุรุษต้นตระกูลของพระญามังรายแห่งหิรัญนครเงินยางนั้น ทรงมีคำนำหน้าว่า "ลาว" ทั้งสิ้น เหตุเพราะสืบเชื้อสายมาจากชาวลัวะดอยตุง นับแต่ปฐมวงศ์ คือ "ปู่จ้าวลาวจก" หรือ "ลาวจง" ตามมาด้วย "ลาวครอบ" “ลาวช้าง" “ลาวเก๊าแก้วมาเมือง" (องค์นี้เริ่มมีกลิ่นอายของภาษาล้านนาเข้ามาผสม) “ลาวตั้ง" “ลาวกลม" “ลาวแหลว" “ลาวเรือน" จากนั้นก็สะดุดเปลี่ยนไปเป็นชื่อไทยล้วนๆ คือ "จอมผาเรือง" "ขุนเจื๋อง" "ขุนเงินเรือง" และกลับมาใช้ลาวอีกเป็นองค์สุดท้ายคือ "ลาวเมง" ผู้เป็นพระราชบิดาของพระญามังราย แล้วก็ไม่มีการใช้ "ลาว" อีกต่อไป ลูกหลานของพระญามังราย ใช้คำนำหน้าว่า"ท้าว" หรือ "พระญา" แทน

“ลาว" คำนี้เป็นคำที่บ่งบอกนัยสองอย่างไว้ในคำ ๆ เดียว คือประกาศทั้ง “เชื้อชาติ” (ลัวะ+ลาว) และ"ตำแหน่งอันสูงส่ง" ของกษัตริย์

ถ้าเช่นนั้นแต่เดิม "มังราย" เคยมีนามว่า "ลาวราย" หรือเช่นไร แล้วเพิ่งมาเปลี่ยนเป็น "มัง" ตามอย่างพม่า

คำตอบคือเป็นไปไม่ได้ "มังราย" เป็นชื่อดั้งเดิมของพระองค์ท่านมาตั้งแต่เกิด

แต่เหตุที่มีนามนำหน้าว่า "มัง" นั้นก็เพราะการตั้งชื่อของพระองค์ ได้มีการนำตัวอักษรและสระย่อจาก นามของพระราชบิดาชื่อ "ลาวเมง" ผสมกับพระฤๅษี "ปัทมังกร" (ได้คำว่า "มัง") บวกกับพระราชอัยกา (ตา) กษัตริย์แห่งเชียงรุ่งนามว่า "ท้าวรุ่งแก่นชาย" (ได้ตัว "ร") ในขณะที่พระราชมารดามีนามว่า "นางเทพคำขร่าย" (คำขยาย) (ได้สระอา + ย) โดยตัดเอาพยัญชนะ+สระย่อของแต่ละคนมารวมกันใหม่ ได้ "ม/ัง/ร/าย" หรือมีพระนามแบบเต็มยศว่า "มังคลนารายณ์" แปลว่า พระนารายณ์ผู้เป็นมงคล

ช่วยไม่ได้จริงๆ ที่พ้องกันโดยบังเอิญกับบรรดา "มัง" ทั้งหลายในภาษาพม่า

แล้วการที่ชื่อของพระองค์ถูกแผลงไปเป็น "เม็งราย" ในช่วงวิกฤติอาณานิคม มิเป็นการสุ่มเสี่ยงหรือเช่นไร เพราะ "เม็ง" นั้นเล่าก็แปลว่า "มอญ" อีก ฤาปราชญ์สยามคิดว่าหนีหม่องไปเจอมอญ อาจตกอยู่ในอันตรายน้อยกว่า?

ทั้งๆ ที่ชีวิตส่วนตัวของพระญามังรายนั้นไม่ชอบมอญเอาอย่างมาก และพยายามปฏิเสธวัฒนธรรมมอญจากหริภุญไชยที่ตนทำลายจนยับเยินมาตลอด

ปริศนาชวนฉงนที่ต้องถามต่อเนื่องอีกข้อหนึ่งก็คือ ชื่อเมือง "เชียงราย" กับชื่อกษัตริย์ "มังราย" นั้นเกี่ยวข้องกันไหม และชื่อไหนเป็นต้นเค้าเก่าแก่ เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องร่ายยาว จึงขอติดค้างไว้ก่อน

 

"พระญา" กับ "พ่อขุน" ปัญหาการเมืองภายในสยาม

“มังราย" ถูกผลักให้เป็น "เม็งราย" เหตุเพราะการเมืองภายนอกระหว่างสยามกับตะวันตก ส่วนคำนำหน้าชื่อนั้นระหว่าง "พระญา" กับ "พ่อขุน" ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวาระซ่อนเร้นทางการเมือง หากแต่ครั้งนี้เป็นเกมการต่อสู้ภายในของสยามเอง ระหว่างศูนย์อำนาจกลางที่กระทำต่อรัฐชายขอบ

 

มีผู้สงสัยกันมากว่าเหตุไรดิฉันจึงใช้ "พระญา" ทุกครั้งในคอลัมน์นี้ ยามเอ่ยถึงพระนามของกษัตริย์ในล้านนา ทำไมไม่เรียก "พระเจ้า" "พ่อขุน" หรือแม้แต่จะเขียนว่า "พระยา" - “พญา" อันเป็นภาษาที่เราคุุ้นเคย

คำว่า "พระญา" นี้ ในดินแดนภาคเหนือมีความหมายถึง "กษัตริย์" โดยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลายหลักว่า"พรญา" (ยุคแรกๆ) บ้างก็ "พระญา" (ยุคหลังๆ) ซึ่งไม่ควรสับสนกับคำว่า "พระยา" ในภาษาไทยกลางที่เป็นตำแหน่งหรือราชทินนามของขุนนางระดับหนึ่ง ส่วน "พญา" นั้นนักวิชาการล้านนายังคงใช้กันอยู่อย่างกว้างขวาง ด้วยเห็นว่า "พระญา" เป็นคำที่แปลกตาเกินไปสำหรับคนไทยทั้งประเทศ แต่อย่าลืมว่า "พญา" คำนี้ก็ได้ถูกคนไทยทั้งประเทศนำไปใช้เรียกจ่าฝูงของสัตว์เช่น "พญาวานร" “พญาคชสาร" แล้วเช่นกัน ดังนั้นนักวิชาการล้านนารุ่นใหม่จึงพยายามดึงคำว่า "พระญา" จากศิลาจารึกกลับมาใช้ใหม่ น่าจะสง่างามกว่า

ทำไมกษัตริย์ล้านนาไม่ใช้ "พระเจ้า" นำหน้าเหมือนกับทางอยุธยา เหตุเพราะคำว่า "พระเจ้า" นี้ชาวล้านนาได้นำไปใช้เรียกเป็นชื่อเฉพาะของพระพุทธรูปก่อนแล้ว จึงเกรงว่าจะเกิดความสับสน

มีกษัตริย์ในล้านนาเพียงพระองค์เดียวที่กล้าใช้คำว่า "พระเจ้า" นั่นคือ "พระเจ้าติโลกราช" เป็นเพราะพระองค์ต้องการแผ่แสนยานุภาพอันเกรียงไกรในระนาบเดียวกันกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ในเมื่อทางใต้เรียกกษัตริย์ว่า "พระเจ้าแผ่นดิน" ทางเหนือก็ต้องยกระดับความยิ่งใหญ่ว่าพระองค์ก็มีฐานะเป็น "พระเจ้า" ดุจเดียวกัน แต่ภายหลังการสวรรคตของพระเจ้าติโลกราชแล้ว ไม่ปรากฏว่ากษัตริย์ล้านนาพระองค์ใดใช้ "พระเจ้า" อีกเลย ล้วนหวนกลับมาใช้ "พระญา" เหมือนเดิมทั้งสิ้น

อนึ่ง ยังมีคำอื่นๆ ที่แสดงถึงฐานะของกษัตริย์ล้านนา นอกเหนือจากคำว่า "พระญา" อีกหลายคำ อาทิ ท้าว ท้าวพระญา เจ้า เจ้าหลวง เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ชาวล้านนาจึงรู้สึกประหลาดใจไม่น้อยเมื่อต้องทนเห็นคำว่า "พ่อขุนเม็งราย" เด่นหราในแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่เด็กไทยใช้เรียนทั่วราชอาณาจักร

คำว่า "พ่อขุน" ไม่เคยปรากฏในเอกสารหรือศิลาจารึกหลักใดในล้านนา เป็นคำที่อุปโลกน์ขึ้นโดยผู้กุมอำนาจทางวัฒนธรรมในยุคสถาปนารัฐราชาชาตินิยม ที่ไม่ต้องการเห็นคนไทยแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย นอกจากพระยาประชากิจกรจักร์จะ "เบี่ยงเบน" ชื่อจาก "มังราย" เป็น "เม็งราย" ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานอันเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้นั้นแล้ว ยังถูกคนในวงการศึกษา "บิดเบือน" คำนำหน้าซ้ำจาก "พระญา" มาเป็น "พ่อขุน" อีกขยักหนึ่ง ทั้งๆ ที่ในพงศาวดารโยนกนั้น พระยาประชากิจกรจักร์ยังคงไว้ซึ่งคำว่า "พระญา" แต่อาจเปลี่ยนมาเขียนเป็น "พระยา" ตามความคุ้นเคยของคนไทยสยาม

ไม่เพียงแต่พระญามังรายพระองค์เดียวเท่านั้นที่ถูกเปลี่ยนเป็น พ่อขุนเม็งราย หากแต่ "พระญางำเมือง" แห่งพะเยา พลอยโดนหางเลขถูกเปลี่ยนเป็น "พ่อขุนงำเมือง" อีกพระองค์หนึ่งด้วย ในฐานะที่มักปรากฏพระนามคู่กันในประวัติศาสตร์หน้าสำคัญตอนสามสหายช่วยกันสร้างเวียงเชียงใหม่

สหายคนที่สามที่มีส่วนช่วยวางแผนสร้างเชียงใหม่ มีนามว่า "พญาร่วง" หรือ "พระญารามราช" แต่คนกลับเรียกขานให้เป็นไทยแท้ๆ ว่า "พ่อขุนรามคำแหง" นามนี้เองที่นักประวัติศาสตร์ไทยในยุคล้าหลังคลั่งชาติ ได้เอามาเป็นต้นแบบในการขนานนามกษัตริย์จากแว่นแคว้นแดนอื่นให้กลายเป็น "พ่อขุน" ตามกันไปด้วย

ทุกวันนี้นักวิชาการด้านล้านนาคดีพยายามรณรงค์เขียนชื่อของปฐมกษัตริย์ล้านนาว่า "พระญามังราย" แทนที่"พ่อขุนเม็งราย" ซึ่งใช้กันมาอย่างผิดๆ หลายทศวรรษ

คงต้องขอถามใจคนล้านนา และวัดใจคนไทยทั้งประเทศ สักหน่อยว่า

รู้สึกรำคาญไหมยามเห็นป้ายถนน ชื่อวัด ย่านนาม สะพาน รวมทั้งหนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์ยังคงเขียนคำว่า "พ่อขุนเม็งราย" กันอย่างโจ๋งครึ่ม

รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม-ศึกษาธิการ คิดเห็นเช่นไร หรือมองว่า "ไหนๆ ก็ ไหนๆ แล้ว" เราจะยอมเหนื่อยตามอธิบายดึงความถูกต้องกลับมาตั้งแต่วันนี้ หรือจะรอให้วันข้างหน้ามาถึง แล้วค่อยมาตีหน้าปั้นจิ้มปั้นเจ๋อตอบคำถามลูกหลานด้วยปรัศนีซ้ำซากว่า

"คุณครูคะ ตกลงพ่อขุนเม็งรายเป็นมอญใช่ไหมคะ แล้วเป็นญาติอะไรกับมะกะโทที่สุโขทัยหรือเปล่า?” มันจะยิ่งยุ่งอุนุงตุงนังไปกันใหญ่!

ขอขอบคุณ http://prachatai.com/journal/2012/08/42261
กำเมือง ถ้าคนเมืองบ่อู้แล้วไผจะอู้

*

ออฟไลน์ Svyatopok

  • Newbie
  • *
  • 2
  • 0
  • อาณาจักรล้านนา
    • ดูรายละเอียด
Re: 750 ปี “พระญามังราย" หรือ "พ่อขุนเม็งราย"
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 31, 2019, 05:42:12 PM »
750 ปี นานมากเลยประวัติเก่ามาก