ประวัติ พระยารัตนาณาเขตร์ (น้อยเมืองไชย) เจ้าเมืองเชียงรายองค์สุดท้ายที่ถูกลืม
พระยารัตนาณาเขตร์ (น้อยเมืองไชย) (ในสัญญาบัตรแต่งตั้งว่า พระยารัตนาณาเฃตร) หรือเจ้าหลวงเมืองไชย เป็นบุตรของพระยาราชเดชดำรง (อินต๊ะ) เจ้าเมืองเชียงแสน ถูกตั้งเป็นเจ้าหลวงเมืองเชียงราย แทนสายเมืองเชียงใหม่ ด้วยสาเหตุที่เจ้าอุปราชคำตุ้ยกระทำกริยาไม่เหมาะสมกับข้าหลวงรัฐบาลสยาม จึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง เจ้าหลวงเมืองไชยได้สมรสกับเจ้าหญิงน้อยชมพู เหลนของพระยารัตนาณาเขตร์(ธัมมลังกา) เจ้าเมืองเชียงรายคนแรก ก่อนที่จะพิราลัยและสมรสใหม่กับเจ้าแม่แว่นแก้ว ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองเชียงรายเมื่อพ.ศ.2442 ขึ้นตรงต่อเมืองนครเชียงใหม่ ดังที่จดหมายเหตุเมืองเชียงรายได้กล่าวว่า
“...วันที่29ธันวาฅม ศก 118 คือเดือน3 ลง 12ฅ่ำ สกราชนี้เจ้าน้อยเมืองไชย ลงไพรับสัญญาบัตเปนที่เจ้าหลวงเมืองเชียงรายที่เชียงใหม่ เปนพญารัตณานาเขต เจ้าหนานมหายศ เปนอุปราช เจ้าฅำหมื่น เปนราชวงค์ เจ้ากาบ เปนรัตนบุรี เจ้าน้อยเทพวงค์ เปนราชบุตร...”
.
พ.ศ.2442 รัฐบาลสยามได้ยกเลิกหัวเมืองประเทศราช กลายเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรสยาม เจ้าหลวงเมืองไชยได้เป็นเจ้าเมืองเชียงรายคนสุดท้ายและดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองเชียงรายคนแรก การปฏิรูปการปกครองนี้ ทำให้เจ้านายและราษฎรไม่พอใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากการสูญเสียอำนาจ การถูกเกณฑ์แรงงาน การจัดเก็บภาษีระบบใหม่ ทำให้เกิดการต่อต้านหลายคราว เช่นกบฏพระยาปราบสงคราม กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ซึ่งได้ลุกลามไปส่วนอื่นด้วย
.
สำหรับเมืองเชียงราย พญาศรีสองเมือง ลูกเขยของพญาสิงหนาทราชา(ชานกะเล) เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอน หัวหน้าชาวเงี้ยวแขวงเชียงแสนน้อย นำกองกำลังตีเชียงแสน (แม่จัน) อีกสองวันถัดมา คือ วันที่17ตุลาคม พ.ศ.2445 ยกกองกำลังบุกเมืองเชียงราย โดยนัดแนะกับเงี้ยวในเมือง เมื่อพญาศรีสองเมืองเข้าตีเชียงรายเมื่อใด ก็จะจัดเรืองข้ามฝากไว้คอยรับที่แม่น้ำกก 4 ลำ เมื่อพญาศรีสองเมืองข้ามสะพานประชิดกำแพงเมืองได้แล้ว จะจุดไฟเผาที่ว่าการแขวง ที่ว่าการรัฐบาล บ้านเรือนข้าราชการ จับข้าราชการฝ่ายใต้ ฝ่ายเหนือฆ่าเสียให้สิ้น โดยเข้าโจมตีเมืองตั้งแต่บ่ายสี่โมงถึงสี่ทุ่ม
.
ในยามฉุกละหุกอยู่นั้น หมอบริกส์ แพทย์ประจำอยู่ในโรงพยาบาลโอเวอร์บรู๊ค ได้ชักธงชาติอังกฤษขึ้นที่บ้านพัก ส่วนชาวไทยที่นับถือศาสนาคริสต์ก็พากันไปพึ่งใต้ร่มของธงนั้น ท่านหมอบริกส์ได้เข้าไปที่ประชุมข้าราชการด้วย ท่านออกความเห็นว่า ต้องสู้โดยให้ตัดสะพานแม่น้ำกกตอนฝั่งทางในเมืองเสียก่อนแล้วให้ตั้งอะม๊อก (ปืนใหญ่ขนาดเล็ก) ยิงต่อสู้ข้าศึก ฝ่ายข้าราชการไทยและตำรวจก็เกิดมีกำลังใจขึ้น จึงเข้าประจำแนวรบ เวลานั้นเจ้าหลวงเมืองไชย ได้พาคนใช้คนหนึ่งมีปืนลูกซองสองกระบอก มีลูกปืนอยู่ราว 100 กว่านัด เข้าประจำหน้าที่อยู่ที่หัวสะพานซึ่งถูกตัดออกนั้น ฝ่ายเงี้ยวเห็นสะพานขาดก็กลับไปหาไม้มาคนละเล่มเพื่อพาดข้ามมารบกับไทย แต่พอไปถึงหัวสะพานก็ถูกเจ้าหลวงยิงตกลงไปในน้ำคนแล้วคนเล่า แม่น้ำกกเวลานั้นลึกประมาณ 2 เมตรเศษ เจ้าหลวงเมืองไชย ต้องเปลี่ยนปืนยิงสลับกันเพราะปืนร้อน ฝ่ายเงี้ยวซึ่งเสียชีวิตไปประมาณ 100 คนเศษ เห็นว่าเหลือกำลังที่จะเข้าเมืองได้ก็ชะงักอยู่ ส่วนพวกที่หนุนหลังก็เข้ามาสมทบอีก พวกที่หนุนเนื่องเข้ามาพากันพักใต้ต้นกวาวเป็นกลุ่มก้อน ทางฝ่ายไทยจึงยิงปืนใหญ่ไปถูกกิ่งต้นกวาวหักสะบั้นลง ตอนนี้เงี้ยวขวัญเสียไม่คิดสู้แล้วพากันวิ่งหนีไปทางบ้านจ้อง ไปหาตุ๊เจ้ากันวี ที่เป็นแกนนำเงี้ยวที่บ้านจ้อง
.
ฝ่ายไทยเมื่อเห็นได้ทีก็เอาไม้พาดสะพานข้ามไปทีละคนๆ โดยมีเจ้าหลวงเมืองไชยวิ่งนำหน้า ระยะทางจากในเมืองเชียงรายถึงบ้านจ้อง 52 กิโลเมตร ท่านเจ้าหลวงเมืองไชยไม่ยอมพักผ่อนบุกตะลุยไปจนถึงตุ๊เจ้ากันวี เวลานั้นพลพรรคเงี้ยวหนีข้ามแม่น้ำสายไปแล้ว คงเหลือแต่ตุ๊เจ้ากันวี นั่งเข้าญาณอยู่ผู้เดียว ท่านเจ้าหลวงฯ กำลังเมามันจึงวิ่งเข้าไปตัดหัว "ตุ๊เจ้ากันวี" ขาดเลือดพุ่งฉูดขึ้น เมื่อเจ้าหลวงฯ เห็นเลือดก็ถึงกับลืมสติไปพักหนึ่ง เมื่อได้ชัยชนะแล้วท่านก็กลับไปอยู่บ้าน ตั้งแต่นั้นมาเจ้าหลวงฯ ก็เสียสติพูดจาผิดแผกไป มีอาการลมขึ้นจุกอกบ่อย
.
อีก 3 ปีต่อมา คือ พ.ศ.2448 พระยารัตณานาเขตร์ (เจ้าหลวงเมืองไชย) ก็ถูกปลดจากตำแหน่งนายอำเภอเมืองเชียงราย ที่ว่าปลดนั้น เพราะ ให้เหตุผลว่าป่วยเรื้อรัง ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะหลังจากท่านถูกปลด ท่านยังใช้ชีวิตตามปรกติอีกเกือบ 20 ปี
.
ตั้งแต่ที่เจ้าหลวงเมืองไชยได้เสียสติครั้งรบกับเงี้ยว ก็ได้พยายามรักษาตัว จิตใจ จึงค่อยสบายขึ้น แต่ฝ่ายบ้านเมืองไม่มีใครสนใจกับความเป็นอยู่ของท่าน ความอับจนเข้าครอบครอง ที่ดินหลายแห่งจำเป็นขายเพื่อเลี้ยงชีวิต ที่นาที่ดินถูกริบเอาไปทำสถานที่ราชการ เจ้าหลวงเมืองไชยเหลือแค่ที่นาไว้ปลูกข้าวเท่านั้น ลำบากยากแค้น ถึงขั้นเหลือแค่สลุงเงินเอามาตั้งไฟแกงผักกิน
.
เมื่อ พ.ศ.2460 พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้เสด็จจากเชียงใหม่ไปเยี่ยมเชียงราย ได้ให้เจ้าหลวงเมืองไชยเข้าเฝ้า ได้ถามถึงความทุกข์สุข และได้ทราบว่ามีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น ก็ทรงกริ้วว่าทางบ้านเมืองไม่อุปการะให้สมกับเป็นวีรบุรุษ จึงขอร้องให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ทำเรื่องขอเงินเบี้ยหวัดบำนาญเพื่อช่วยค่าครองชีพ ซึ่งต่อมาก็ได้รับพระราชทานให้จ่ายเป็นเงินเดือนๆ ละ 30 บาท จนกระทั่งสิ้นชีพ เงิน 30 บาทสมัยนั้นก็เพียงพอกับสมัยนั้นเพราะเงินเขียม (ใช้อย่างประหยัด) อาหารก็ไม่แพงจ่ายค่าอาหารรวมทั้งข้าวด้วยวันละ 15 สตางค์ก็พอ
.
ใน ปี 2463 เจ้าหลวงเมืองไชย พิราลัยในตูบซอมซ่อ ที่บ้านไร่ สิริอายุ 66 ปี จัดพิธีศพแบบง่ายๆ ไม่ใหญ่โตนัก
.
ถึงแม้ว่าเจ้าหลวงเมืองไชยได้ล่วงลับไปนานแล้วก็ดี แต่ความดีที่มีต่อประเทศชาตินั้นเล่า ใครจะลืมได้ เลือดนักรบอย่างท่านนั้นหายากเต็มที
.
พระยารัตณานาเขตร์ (น้อยเมืองไชย) เจ้าเมืองเชียงราย องค์สุดท้าย "เจ้าเมืองเชียงรายที่ถูกลืม"
.
ปล.
"คุ้มหลวง" กับ ”วัดเชียงหมั้น” วัดประจำคุ้ม ของเจ้าหลวงเมืองไชย ด้วยว่ากระทรวงธรรมการกำลังหาที่ตั้งโรงเรียน พระยาราชเดชดำรง (ผล ศรุตานนท์) ผู้ว่าราชการจังหวัด จึงทำเรื่องมอบที่ดินคุ้มหลวงกับวัดเชียงหมั้นให้รัฐบาล แล้วใส่ชื่อตัวเองไป คือ “โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์”
ข้อมูลจาก คุณ อภิชิต ศิริชัย