รับซื้อเพชร

ทางเว็บไม่อนุญาตให้โพสโฆษณา ประชาสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในเว็บไซต์ หากพบทางเว็บจะทำการลบทันที


พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

  • 0 ตอบ
  • 3383 อ่าน
*

ออฟไลน์ ฮักล้านนา

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • 675
  • 306
    • ดูรายละเอียด
    • วัดร่องขุ่น
พระราชชายาเจ้าดารารัศมี
« เมื่อ: ธันวาคม 09, 2012, 12:35:50 PM »
(วันที่ 9 ธันวาคมพ.ศ.2476 เป็นวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ข้าพพระพุทธเจ้าขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ "พระราชชายาเจ้าดารารัศมี" ทรงเป็นพระธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และทรงเป็นพระราชชายาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.5))

วันอังคารเดือน 10 เหนือ ขึ้น 8 ค่ำ ปีระกา พ.ศ. 2416 เป็นวันคล้ายวันประสูตของเจ้าดารารัศมี พระธิดาองค์สุดท้าย ของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๗ ประสูติจากแม่เจ้าทิพไกสร เจ้าดารารัศมีทรงมีเชษฐา ๖ ท่าน และเชษฐภคินีถึง ๕ ท่านด้วยกัน

ครั้นยังทรงพระเยาว์นั้น ได้ทรงศึกษาอักษรไทยเหนือและไทยกลาง ทรงเข้าพระทัยในขนบธรรมเนียมขัติยประเพณีเป็นอย่างดี เมื่อพระชนม์มายุ ๑๑ พรรษาเศษ พระบิดาโปรดให้มีพิธีโสกันต์ ภายหลังเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงพิชิตปรีชากรขึ้นมาทรงจัดตั้งตำแหน่งเสนาทั้งหก ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระกุณฑลประดับเพชรมาพระราชทานเป็นของขวัญด้วยและโปรดเกล้าฯ ตั้งให้นางเต็มเป็นแม่นางกัลยารักษ์ ให้นายน้อยบุญทาเป็นพญาพิทักษ์เทวี ตำแหน่งพี่เลี้ยงทั้งสองคนตั้งแต่ครั้งนั้น

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๒๙ ปีจอ ได้ตามพระบิดาลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ ทรงอยู่รับราชการฉลองพระเดชพระคุณฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชเป็นการรับรอง พระราชชายาฯได้รับพระราชทานตำหนักที่ประทับ ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง ซึ่งต่อมาได้ทรงขอพระราชทานพระราชทรัพย์จากพระบิดาเพื่อมาต่อเติมพระตำหนักสำหรับให้พระประยูรญาติที่ตามเสด็จไปพักอยู่ด้วย ต่อมาดูเหมือนภายในพระบรมมหาราชวังดูจะคับแคบลงไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างตำหนักที่ประทับพระราชทานแก่เจ้าจอมและพระราชวงศ์ในบริเวณพระราชวังสวนดุสิตมีชื่อว่า "สวนฝรั่งกังไส" ในระหว่างที่พระราชชายาเสด็จเยี่ยมนครเชียงใหม่ครั้งแรก ปัจจุบันตำหนักนี้ได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว

ตลอดเวลาที่ประทับรับราชการฝ่ายในที่กรุงเทพฯ พระราชชายาฯได้อนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนา ทรงโปรดให้ผู้ที่ติดตามจากเชียงใหม่แต่งกายแบบชาวเหนือ คือนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบเฉียงและไว้ผมยาวเกล้ามวย ซึ่งต่างจากการนุ่งโจงกระเบน ไว้ผมสั้นทรงดอกกระทุ่มของชาววัง แม้แต่ภายในพระตำหนักยังเต็มไปด้วยบรรยากาศล้านนา โปรดให้พูด"คำเมือง" มีอาหารพื้นเมืองรับประทานไม่ขาด แม้กระทั่งการ "อมเหมี้ยง" ซึ่งชาววังเมืองกรุงเห็นเป็นของที่แปลกมาก

พระราชชายาฯทรงเปิดพระทัยรับวัฒนธรรมอื่นด้วย โดยโปรดให้มีการเล่นดนตรีไทยและสากล ดำริให้มีการเรียนดนตรีไทยในพระตำหนัก ทรงตั้งวงเครื่องสายประจำตำหนัก และทรงดนตรีได้หลายอย่าง ทั้งซออู้ ซอด้วง และจะเข้ แต่ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถมากคือ "จะเข้" ทั้งยังสนพระทัยในการถ่ายรูปซึ่งเพิ่งเข้ามาจากต่างประเทศในรัชกาลที่ ๕ ทรงสนับสนุนให้พระญาติคือเจ้าเทพกัญญาได้เรียนรู้และกลายเป็นช่างภาพอาชีพหญิงคนแรกของเมืองไทยไปด้วย

หลังจากทรงประสูติพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี (ประสูติเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ พระชนม์มายุได้เพียง ๓ พรรษาเศษ ก็สิ้นพระชนม์) ทรงได้รับพระเกียรติยศสูงขึ้นตามโบราณราชประเพณีจากเจ้าจอมเป็นเจ้าจอมมารดา ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯสร้างตราปฐมจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานแก่ผู้รับราชการฝ่ายใน พระราชชายาทรงได้รับพระราชทาน พร้อมกับพระมเหสีและพระราชธิดารวมทั้งหมด ๑๕ พระองค์เท่านั้น พ.ศ.๒๔๕๑ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น "พระราชชายา" เป็นตำแหน่งพระมเหสีเทวี ที่เพิ่งจะมีการสถาปนาขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยนั้น
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ พระเชษฐาของพระราชชายาฯลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่พระบรมมหาราชวัง พระราชายาฯ จึงได้กราบบังคมทูลลาขึ้นมานครเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมเยียนมาตุภูมิ วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๑ ได้เสด็จจากพระราชวังสวนดุสิตไปขึ้นรถไฟที่สถานีสามเสน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปส่งพระราชชายาฯพร้อม บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนบรรดาข้าราชการเป็นจำนวนมาก ไปส่งถึงสถานีรถไฟปากน้ำโพมณฑลนครสวรรค์ ซึ่งเป็นที่สิ้นสุดทรงรถไฟสายเหนือเวลานั้น และประทับลงเรือพระที่นั่งเก๋งประพาสมีขบวนเรือตามเสด็จกว่า ๕๐ ลำ ในการเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระบัญชาให้บรรดาหัวเมืองที่เสด็จผ่าน จัดพิธีต้อนรับให้สมพระเกียรติ พระราชชายาฯ ทรงเห็นว่ามากเกินไป ได้มีพระอักษรกราบบังคมทูลขอพระราชทานรับสั่งให้เพลาพิธีการลงบ้าง ใช้เวลาเดินทางทั้งหมด ๕๖ วัน จึงเสด็จถึงนครเชียงใหม่ ในวันที่ ๙ เมษายน

ระหว่างประทับอยู่ที่เชียงใหม่ได้เสด็จไปเยี่ยมเจ้าผู้ครองนครลำพูน ลำปาง และพระประยูรญาติในจังหวัดนั้น ๆ และเสด็จไปนมัสการพระบรมธาตุ และปูชนียสถาน สำคัญ ๆ อีกหลายแห่ง ในการเสด็จนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเอาพระธุระโปรดเกล้าฯ ให้ทำแผ่นกาไหล่ทองมี สัญลักษณ์ของพระราชชายาฯ คือรูปดาวมีรัศมีอีกทั้งพระราชทานข้อความที่โปรดเกล้าฯ ให้จารึกเป็นเกียรติยศแก่พระราชชายาฯ

ในระหว่างที่ประทับอยู่เชียงใหม่ พระราชชายาฯทรงดำริเห็นว่าบรรดาพระอัฐิของพระประยูรญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งบรรจุไว้ตามกู่ที่สร้างกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณข่วงเมรุ เป็นบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพเจ้านายตระกูล ณ เชียงใหม่ จึงโปรดให้รวบรวมและอัญเชิญพระอัฐิไปสร้างรวมกันไว้ ณ บริเวณวัดบุบผาราม (วัดสวนดอก) ตำบลสุเทพ เมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้จัดงานฉลองอย่างมโหฬาร มีคนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก มีการจัดมหรสพต่าง ๆ เช่น หนัง ละคร ซอ มวย ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ถึง ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรีญทองคำทำด้วยกะไหล่ทองและกะไหล่เงินมีตัวอักษร "อ"และ"ด" ไขว้กัน พระราชทานเป็นของแจกในงานเฉลิมฉลองกู่ พระราชชายาฯเสด็จกลับกรุงเทพฯ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ เสด็จโดยลงเรือพระที่นั่งที่ท่าหน้าคุ้ม มีกระบวนเรือรวม ๕๐ ลำ เมื่อถึงอ่างทอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรือยนต์พระที่นั่งเสด็จมารับถึงที่นั่น แล้วทรงพาไปประทับที่พระราชวังบางปะอินและพระราชทานสร้อยพระกรประดับเพชรเป็นของขวัญ ณ ที่นั่น

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ต่อมา พ.ศ.๒๔๕๗ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เจ้าแก้วนวรัฐฯเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ ได้ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่กรุงเทพฯ พระราชชายาฯ ได้กราบถวายบังคมทูลลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อกลับมาประทับที่นครเชียงใหม่

วันที่๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๗ พระราชชายาฯ เสด็จออกจากกรุงเทพฯ โดยขบวนรถไฟซึ่งวิ่งไปถึงเพียงสถานีผาคอ จังหวัดอุตรดิตถ์เท่านั้น จากนั้นเสด็จโดยขบวนช้างม้านับร้อย คนหาบหามกว่าพัน ข้าราชการจากเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง จัดไปคอยรับเสด็จ ถึงเชียงใหม่วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อพระราชชายาฯ ประทับอยู่ที่เชียงใหม่แล้ว ทรงมีพระตำหนักหรือคุ้มที่ประทับอยู่สี่แห่งด้วยกันคือ
ตำหนักแรก ตำหนักที่เจดีย์กิ่วเรียกว่า "คุ้มเจดีย์กิ่ว" ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำปิงเป็นอาคารสองชั้นทรงยุโรป ปัจจุบันเป็นสถานกงสุลอเมริกันประจำจังหวัดเชียงใหม่

ตำหนักที่สอง สร้างขึ้นที่ถนนห้วยแก้ว เรียกว่า "คุ้มรินแก้ว" เป็นอาคารสองชั้นทรงยุโรป เป็นตำหนักที่พระราชชายาฯเสด็จมาประทับเป็นครั้งสุดท้ายและสิ้นพระชนม์ที่นั่น

ตำหนักที่สาม สร้างบนดอยสุเทพสำหรับประทับในฤดูร้อน เรียกว่า "ตำหนักพระราชชายา" เป็นอาคารไม้หลังใหญ่ชั้นเดียว ตำหนักนี้สร้างด้วยไม้ จึงได้ทรุดโทรมผุผังไปตามกาลเวลา และถูกรื้อถอนไปในที่สุด

ตำหนักที่สี่ ตั้งอยู่อำเภอแม่ริม พระราชชายาฯทรงโปรดตำหนักแห่งนี้และทรงใช้เวลาประทับมากกว่าตำหนักอื่นๆ เรียกว่า "ตำหนักดาราภิรมย์" โปรดให้เรี่ยกชื่อว่า"สวนเจ้าสบาย" ตัวตำหนักเป็นอาคารก่ออิฐปนไม้ลักษณะค่อนไปทางทรงยุโรป

เมื่อพระราชชายาฯ เสด็จกลับมาประทับเป็นการถาวรที่นครเชียงใหม่ พระองค์ได้ประกอบพระกรณียกิจหลายด้านตลอดเวลา ๑๙ ปี ที่ดำรงพระชนม์อยู่ สรุปได้ดังนี้
ทรงส่งเสริมการเกษตร

ทรงให้มีการทดลองค้นคว้าปรับปรุงวิธีการปลูกพืชเผยแพร่แก่ประชาชน ณ ที่ตำหนัก สวนเจ้าสบายอำเภอแม่ริม ทรงควบคุมการเพาะปลูก และปลูกเพื่อขายทรงตั้งพระทัยที่จะให้เป็นตัวอย่างในการประกอบอาชีพในด้านการเกษตรแก่ราษฎร
ทรงทำนุบำรุงศาสนา

โดยปกติ พระราชชายาฯ จะถวายอาหารบิณฑบาตและถวายจตุปัจจัยสำหรับวัดและพระสงฆ์ สำหรับพระสงฆ์บางรูปได้รับการสนับสนุนเป็นรายเดือนตลอดพระชนม์ชีพ ทรงทำบุญวันประสูติและถวายกฐินทุกปี นอกจากนั้นยังทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียสถานเป็นจำนวนมาก อาทิ สร้างและฉลองวิหารพระบรมธาตุ วัดพระธาตุจอมทอง ยกตำหนักบนดอยสุเทพถวายเป็นของวัดพระธาตุดอยสุเทพ
ทรงส่งเสริมการศึกษา

ทรงอุปการะส่งเสริมให้เจ้านายลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียน แม้กระทั่งส่งไปเรียนที่ทวีปยุโรป ทรงรับอุปถัมภ์โรงเรียนต่าง ๆ ในนครเชียงใหม่ อาทิเช่น โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ได้ประทานที่ดินทั้งโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กับทรงอุปถัมภ์โรงเรียนดาราวิทยาลัย
ทางด้านวรรณกรรม

ทรงสนับสนุนวรรณกรรมประเภท "คร่าวซอ" จนเป็นที่นิยมอย่างสูงในยุคนั้น พระองค์มีนักกวีผู้มีความสามารถประจำราชสำนักหลายคน เช่นท้าวสุนทรพจนกิจ ได้ประพันธ์บทละครเรื่อง "น้อยไชยา" ถวาย พระองค์มีส่วนในการปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ยังได้นิพนธ์บทร้องเพลงพื้นเมืองทำนองล่องน่านเพื่อขับร้องถวายสดุดีพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งเสด็จประพาสเชียงใหม่ พ.ศ.๒๔๖๕
ทางด้านการหัตถกรรม

ทรงเห็นว่า ซิ่นตีนจก เป็นเครื่องนุ่งห่มตามประเพณีวัฒนธรรมล้านนามาแต่โบราณเป็นผ้านุ่งที่ต่อชาย(ตีน)ด้วยผ้าจกอันมีสีสันลวดลายสวยงาม การทอตีนจกเป็นศิลปะชั้นสูงที่ต้องใช้ฝีมือในการทอมาก จึงทรงรวบรวมผู้ชำนาญการทอผ้าซิ่นตีนจกจากที่ต่างๆ เข้ามาทอในตำหนัก นอกจากจะทอไว้ใช้เป็นการส่วนพระองค์และสำหรับประทานให้ผู้อื่นในโอกาสต่างๆแล้ว วัตถุประสงค์ใหญ่เพื่อเป็นที่ฝึกสอนให้ลูกหลานได้มีวิชาติดตัวนำไปประกอบอาชีพได้

การทอผ้าซิ่นยกดอก ศิลปะการทอผ้าอันสูงส่งของล้านนาอีกผลงาน ที่พระราชชายาฯ ทรงพบว่าผ้าซิ่นยกดอกทั้งผืนมีเหลืออยู่ผืนเดียว คือผ้าซิ่นยกดอกไหมทองของแม่เจ้าทิพไกสร ที่พระราชชายาฯได้ไว้เป็นมรดก จึงได้ใช้ซิ่นไหมผืนนี้เป็นตัวอย่าง ในที่สุดพระองค์ก็ทรงประดิษฐ์คิดค้นการทอผ้ายกดอกชนิดเดียวกันนี้ได้สำเร็จ ศิลปะด้านนี้จึงได้ดำรงคงอยู่สืบมา
นอกจากนั้น ทรงรวบรวมผู้มีฝีมือในการเย็บใบตองและบายศรีในเชียงใหม่มาฝึกสอนแก่ผู้ที่มีความสนใจในตำหนัก ทรงจัดแบบอย่างระดับชั้นของบายศรีให้เหมาะสมแก่การจัดถวายเจ้านายในชั้นต่าง ๆ และบุคคลทั่วไป นับเป็นต้นแบบที่ได้นำมาปฏิบัติจนกระทั่งในปัจจุบัน

ด้านการทำดอกไม้สด ทรงสอนให้คนในตำหนักร้อยมาลัย จัดพุ่มดอก จัดกระเช้าดอกไม้ทั้งสดและแห้ง จัดแต่งด้วยดอกไม้สดทุกชนิด ตำหนักพระราชชายาฯในครั้งนั้นจึงเป็นแหล่งรวมแห่งศิลปวัฒนธรรม เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวเชียงใหม่ และส่งผลดีในการอวดแขกบ้านแขกเมืองอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
อนุเคราะห์พระประยูรญาติ

ทรงให้ความอุปการะแก่สมณะประชาชนทั่วไป และพระประยูรญาติแล้ว ทรงเปี่ยมไปด้วยความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ทรงสร้างกู่แล้วอัญเชิญพระอัฐิของพระประยูรญาติ มาไว้รวมกัน ณ บริเวณวัดสวนดอกในครั้งเสด็จเยี่ยมนครเชียงใหม่ และเมื่อเสด็จกลับมาประทับเชียงใหม่แล้วได้ทรงอัญเชิญพระอัฐิส่วนหนึ่งของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระบิดาไปบรรจุไว้ที่สถูปบนยอดดอยอินทนนท์ตามพระประสงค์
เครื่องราชอิสสริยาภรณ์ที่พระองค์ท่านได้รับพระราชทาน ดังนี้

๑. ปฐมจุลจอมเกล้าฯ พร้อมด้วยดาราจุลจอมเกล้า
๒. มหาวชิรมงกุฎ
๓. ปถมาภรณ์มงกุฎสยาม
๔. เหรียญรัตนาภรณ์ จ.ป.ร. ลงยากรอบประดับเพ็ชร์ รัชกาลที่ ๕
๕. เหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร. ลงยากรอบประดับเพ็ชร์ รัชกาลที่ ๖
๖. เหรียญรัตนาภรณ์ ป.ป.ร. ลงยากรอบประดับเพ็ชร์ รัชกาลที่ ๗
๗. เข็มพระปรมาภิธัยรัชกาลที่ ๖ ประดับเพ็ชร์ล้วน
สิ้นพระชนม์

พระราชชายาฯได้เริ่มประชวรด้วยโรคพระปับผาสะ(ปอด) แต่ยังคงประทับอยู่ที่ตำหนักดาราภิรมย์ กระทั่งวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เจ้าแก้วนวรัฐจึงเชิญเสด็จมาประทับที่คุ้มรินแก้ว และได้สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ รวมพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษาเศษ

ในการพระศพนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาราชโกษาเป็นหัวหน้านำพนักงาน ๒๕ นาย นำน้ำพระสุคนธ์สรงพระศพ กับพระโกศและเครื่องประกอบอีกหลายประการ พระราชทานมาเป็นพระเกียรติยศและโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ถวาย ๗ วัน


(จาก เจ้าหลวงเชียงใหม่ โดย เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ และคณะ, ๒๕๓๙)

ขอบคุณ lannaworld.com
กำเมือง ถ้าคนเมืองบ่อู้แล้วไผจะอู้