ต๋นบุญอมตะแห่งล้านนา นามว่า พระครูบาเจ้าศรีวิชัย
อะยัง วุจจะติ สิริวิชะโย นามะ มหาเถโร อุตตะมะสีโล นะระเทเวหิ ปูชิโต โส ระโห ปัจจะยาทีนัง มะหะลาภา ภะวันตุ เม อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ สิระสา อะหัง วันทามิ สัพพะโส สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิฯ
ย้อนอดีตกลับไป 78 ปี หัวใจคนล้านนาทั้งแผ่นดินแทบแหลกสลาย ต่างระงมร่ำไห้เมื่อทราบข่าวการละสังขารของพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจนได้รับสมัญญาว่า "ต๋นบุญแห่งล้านนา"
"ครูบาเจ้าศรีวิชัย" สิ้นลมหายใจด้วยโรคริดสีดวงทวารและวัณโรค ด้วยอายุ 60 ปีเศษย่าง 61 ปี ในค่ำคืนวันจันทร์คร่อมวันอังคาร ด้วยเป็นเวลาเที่ยงคืนเศษที่ดวงจันทร์กำลังเคลื่อนคล้อยเข้าสู่รัตติกาลของเช้ามืดวันใหม่ ระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ ปีศักราช 2481 (เป็นการนับแบบโบราณ ซึ่งถือเอาเดือนเมษาเป็นเดือนขึ้นปีใหม่ หากนับแบบปัจจุบันคือปี 2482 นั่นเอง)
ขอน้อมรำลึกถึงวัตรปฏิบัตรอันงดงาม ปฏิปทาอันบริสุทธิ์ และจิตใจที่ยิ่งใหญ่หาญกล้าของท่าน พระสงฆ์ผู้ไม่หวั่นไหวต่อลาภยศศฤงคาร ผู้กล้าเผชิญหน้ากับความจริง ไม่หลบหนีในคดีต้องอธิกรณ์ทั้ง 6 ครั้ง มาเป็นสรณะแก่ชีวิต
***************************************
สัจจะ วาจา ของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย
"ตราบใดสายน้ำปิงไม่ไหลคืน จะไม่เหยียบแผ่นดินเชียงใหม่ตราบนั้น"...
นี่เป็นคำวาจาสิทธิ์ที่"ครูบาศรีวิชัย"ได้กล่าวไว้กับหลวงศรีประกาศ หลังจากที่ท่านพ้นข้อกล่าวที่ถูกทางคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่กล่าวร้าย นับว่าเป็นวาจาสิทธิ์ที่ออกมาจากปากนักบุญแห่งล้านนาไทย ก่อนที่ครูบาศรีวิชัยจะกลับสู่เมืองลำพูนจนกระทั่งวาระสุดท้ายของท่าน...
กาลต่อมา เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของครูบาศรีวิชัย ผู้ช่วยพัฒนาศาสนสถานที่ชำรุดทรุดโทรม กลับคืนสู่อดีตที่เจริญรุ่งเรือง บรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือ พระสงฆ์ พ่อค้า ข้าราชการและประชาชน จึงมีการลงประชามติจัดสร้าง “อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย”...ขึ้น
อนุสาวรีย์นี้สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์ หล่อเท่าองค์จริงในท่ายืน จัดสร้างและออกแบบโดยช่างของกรมศิลปากร...การสร้างดำเนินการสร้างเสร็จเรียบร้อย แต่คณะกรรมการไม่สามารถนำเอาขึ้นไปประดิษฐานที่เชียงใหม่ได้ เล่ากันว่าเมื่อจะเอาขึ้นไปคราวใด มักจะเกิดอุปสรรคและปัญหาเสมอ...
จนเวลาได้ล่วงเลยไปนานหลายปี “หลวงศรีประกาศ” ทนรอต่อไปไม่ไหว จึงได้นำเอาดอกไม้ไปบูชา นัยว่าเพื่อเป็นการบอกกล่าวอัญเชิญ และตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่า...
“แม้จะมีเหตุขัดข้องอย่างไร ก็จะต้องจัดการเอาขึ้นไปให้ได้...”
ซึ่งก่อนจะนำขึ้นไปหลวงศรีประกาศ ได้โทรเลขสั่งชาวเชียงใหม่เตรียมขบวนแห่มารอรับที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ เมื่อได้เวลาจึงอัญเชิญรูปหล่อครูบาศรีวิชัยขึ้นรถด่วนเชียงใหม่ บรรดาคณะสงฆ์ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนและเจ้านายฝ่ายเหนือได้ร่วมกันจัดขบวนแห่มารอรับอย่างคับคั่งและทำการเฉลิมฉลองสมโภชอย่างยิ่งใหญ่...
และในวันที่รูปหล่อครูบาศรีวิชัยถูกอัญเชิญถึงจังหวัดเชียงใหม่นั่นเอง... “ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ประชาชนซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับแม่น้ำแม่ปิงต้องจดจำได้อย่างไม่มีวันลืมเลือน”....คือ....
“กระแสน้ำปิงได้ไหลบ่า หวนย้อนกลับคืนขึ้นเหนือ กระแสน้ำได้นองท่วมท้นจนเต็มเขื่อนภูมิพล ท่วมถึงเขตอำเภอฮอด.....”
สัจจวาจาของ “ครูบาศรีวิชัย” ที่ได้กล่าวไว้... "แม้แต่ธรรมชาติก็ยังไม่สามารถขัดขวางได้..."
การที่กระแสน้ำปิงได้ไหลย้อนกลับขึ้นไปนั้น เนื่องจากทางการสั่งปิดเขื่อนเพื่อใช้งานเป็นครั้งแรก ในการกักเก็บน้ำสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าและเก็บน้ำไว้ให้เกษตรกรได้มีไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง..
”คำพูดของท่านครูบาศรีวิชัยที่ท่านได้เอ่ยไว้กับหลวงศรีประกาศ...เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ และแม้กระทั่งท่านใกล้จะมรณภาพที่ก็ยืนหยัดในวาจาสิทธิ์ของท่าน...ที่เป็นปริศนาซึ่งไม่มีผู้ใดจะคาดคิด….”
จะว่าเป็นเหตุบังเอิญหรืออะไรก็แล้วแต่จะคิดกันไป....แต่มันก็เป็นเหตุการณ์ที่คนทั่วไปกล่าวกันว่าอัศจรรย์ยิ่งนัก....
“เขื่อนภูมิพลเปิดใช้ น้ำปิงไหลคืนขึ้นเหนือ.. สมดั่งคำวาจาสิทธิ์ของครูบาศรีวิชัยและท่านครูบาฯก็ได้ขึ้นมาที่เชียงใหม่จริง ๆ…”
“อะยัง วุจจะติ สิริวิชะโย นามะ มหาเถโร อุตตะมะสีโล นะระเทเวหิ ปูชิโต โส ระโห ปัจจะยาทีนัง มะหะลาภา ภะวันตุ เม อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ สิระสา อะหัง วันทามิ สัพพะโส สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิฯ…”