อุโมงค์ลับภายในองค์พระธาตุเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่ (ไม่ทะลุถึงถ้ำดอยเชียงดาว)
พระธาตุเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่ ถือได้ว่าเป็นพระมหาเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ มีขนาดฐานกว้าง 62 เมตร ส่วนสูงที่เหลือ 42 เมตร (เดิมก่อนล้ม สูง 41 วา หรือ 82 เมตร(ไม่รวมฉัตร)
เมื่อ พ.ศ. 2529 (ขณะนั้นผู้เขียนทำหน้าที่รับผิดชอบหน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่(ชื่อหน่วยงานขณะนั้น) เกิดแผ่นดินไหว ทำให้พระธาตุเจดีย์หลวงเกิดรอยแยกแตกร้าวมากขึ้น จึงได้รับงบประมาณฉุกเฉิน มาทำการขุดค้นทางโบราณคดี(แต่ไม่ได้บูรณะ) พบสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง
ที่น่าสนใจที่สุด(ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้) คือ ได้พบว่า มีอุโมงค์ทางเดินวนรอบอยู่ภายในองค์เจดีย์ 2 ชั้น โดยมีปากอุโมงค์ทางเข้าอยู่ใต้บันนาคทางขึ้นทั้งสี่ทิศ เพื่อเป็นทางขึ้นไปสู่ลานประทักษิณด้านบนของเจดีย์
ทั้งนี้การก่อสร้างพระธาตุเจดีย์หลวงในระยะเริ่มแรก คงมีเป้าประสงค์ทำอุโมงค์ทางขึ้นสู่ลานประทักษิณชั้นบนด้วยเส้นทางนี้ ตามแบบแผนของศาสนสถานศิลปะพม่าแบบพุกาม
แต่เนื่องจากโครงสร้างส่วนบนเป็นเจดีย์แบบไทย ซึ่งมีน้ำหนักส่วนบนกดทับมาก มีปัญหาระหว่างก่อสร้าง จึงยุติทำอุโมงค์ทางขึ้น โดยก่อค้ำยันในอุโมงค์เป็นระยะและปิดปากอุโมงค์ เปลี่ยนมาทำเป็นขั้นบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออกเท่านั้น ส่วนบันไดด้านอื่นๆ ทำเป็นเพียงบันไดหลอก(ไม่มีขั้นบันได ฉาบปูนเรียบ(ที่เรียกกันเล่นๆว่าสไลเดอร์)
ปัจจุบันทางวัดและกรมศิลปากรปิดปากอุโมงค์ไว้ ไม่ให้เข้า
ซึ่งอุโมงค์ดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้เกิดเรื่องเล่าลือภาคประชาชนว่า ใต้องค์พระธาตุเจดีย์หลวงมีอุโมงค์ลับ(ของพญานาค) ที่สามารถเดินไปทะลุจนถึงถ้ำดอยเชียงดาวโน่น
อนึ่งประวัติความเป็นมาของพระธาตุเจดีย์หลวง ปรากฏในเอกสารตำนานหลายฉบับสรุปว่า
สร้างในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา(ครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ 20) เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พระราชบิดา แต่สร้างไม่เสร็จ พระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวี มเหสีของพระเจ้าแสนเมืองมาสร้างต่อจนสำเร็จเรียกว่า “กู่หลวง”
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2021 พระเจ้าติโลกราช โปรดฯให้หมื่นด้ามพร้าคตปฏิสังขรณ์ก่อสร้างครอบให้สูงใหญ่ขึ้นกว่าเดิมและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ และอัญเชิญพระแก้วมรกต(พุทธมหามณีรัตนปฏิมากรณ์)ประดิษฐานไว้ที่ซุ้มจะนำด้านทิศตะวันออก
ใน พ.ศ. 2088 ครั้งรัชกาลพระนางเจ้ามหาเทวีจิรประภา เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ยอดพระธาตุเจดีย์หลวงหักทลายลงมา ได้มีความพยายามบูรณะหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จึงปรากฏดังสภาพปัจจุบัน.
ขอขอบคุณข้อมูลจากคุณ สุรพล ดำริห์กุล