รับซื้อเพชร

ทางเว็บไม่อนุญาตให้โพสโฆษณา ประชาสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในเว็บไซต์ หากพบทางเว็บจะทำการลบทันที


สรไน กับ กาแล ใครกันแน่เล่นคุณไสย?

  • 0 ตอบ
  • 4020 อ่าน
*

ออฟไลน์ ฮักล้านนา

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • 674
  • 306
    • ดูรายละเอียด
    • วัดร่องขุ่น
สรไน กับ กาแล ใครกันแน่เล่นคุณไสย?
« เมื่อ: มกราคม 26, 2012, 10:07:23 AM »
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1601 หน้า 75

สาเหตุที่ต้องหยิบประเด็นเรื่อง "สรไน" (อ่านว่า "สะระไน" ไม่ใช่ "สอระไน") กับ "กาแล" ซึ่งทั้งคู่เป็นเครื่องประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมในส่วนหน้าจั่วหลังคาของเรือนพื้นถิ่นภาคเหนือมาวิเคราะห์ในครั้งนี้ เหตุเพราะสะกิดใจคำกล่าวที่ได้ยินบ่อยๆ ว่า

"กาแล-เชียงใหม่" - "สรไน-ลำพูน"
เป็นความจริงล่ะหรือ?
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ทุกครั้งที่ต้องบรรยายเรื่องสถาปัตยกรรมให้นักศึกษาหรือมัคคุเทศก์ฟัง มักมีแต่คำถามเดิมๆ ว่า "กาแล" นั้นเป็นไสยศาสตร์ของพม่าใช่หรือไม่?
เมื่อวิเคราะห์ไปวิเคราะห์มา กลับกลายเป็นตาลปัตรกัน ปรากฏว่า "กาแล" เป็นฝ่ายถูกคุณไสยเล่นงานต่างหาก!

กาแล-เชียงใหม่ สรไน-ลำพูน?
ผู้ที่ชอบกล่าวว่า "เรือนกาแล" เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ ส่วน "เรือนสรไน" เป็นสัญลักษณ์ของเมืองลำพูนนั้น มักเป็นคณะทำงานของเทศบาล-โยธาหรือเป็นนักขับเคลื่อนวัฒนธรรม เพราะมีหน้าที่ต้องคอยเสาะหา "อัตลักษณ์เฉพาะ" ของสถาปัตยกรรมในแต่ละท้องถิ่น มาเป็นต้นแบบสำหรับงานผลิตซ้ำ "วัฒนธรรมเมือง"
แล้วคำพูดดังกล่าวจริง-เท็จอย่างไร คำตอบคือมีทั้งถูกและผิดอยู่ในตัวเอง
ที่บอกว่าถูกนั้น ก็เพราะที่เชียงใหม่พบเรือนกาแล หรือ "เฮือนก๋าแล" ค่อนข้างมากในหลายอำเภอ อาทิ จอมทอง แม่แจ่ม สันป่าตอง หางดง ฮอด ฯลฯ
ส่วนในลำพูนนั้นหนักไปทาง "เฮือนสะละไหน่" หรือ "เฮือนจะละไน" (อ่านแบบสำเนียงคนยอง) เหลือกาแลอยู่เพียงไม่กี่หลัง

ในความเป็นจริง กาแลมิใช่เรือนพื้นถิ่นเฉพาะของเชียงใหม่เพียงจังหวัดเดียว ทว่า มีความเป็นสากลมากกว่านั้น สามารถพบทั่วไปในเขตวัฒนธรรมล้านนาทั้งหมด จังหวัดพะเยาพบมากที่อำเภอเชียงคำ ที่แม่ฮ่องสอนพบในกลุ่มชนชาวลัวะ ชาวอาข่า จังหวัดเชียงราย พบในหลายอำเภอ โดยเฉพาะที่แม่จัน เชียงแสน ฯลฯ
เช่นเดียวกับเรือนสรไน ถึงแม้จะพบมากในลำพูนหลายพื้นที่เช่นอำเภอป่าซาง บ้านธิ เวียงหนองล่อง แม่ทา จนมีผู้กล่าวว่าเรือนสรไนเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของ "ชาวยองลำพูน" แต่แท้จริงแล้ว มีการพบอย่างกว้างขวางทั่วประเทศไทยทุกภูมิภาค กระจายตัวยิ่งกว่ากาแลด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าในลำพูนอาจยังคงมีเหลือให้เห็นหนาตากว่าที่อื่น
น่าประหลาดใจไม่น้อย ที่เรือนกาแลแทบจะสาบสูญไปจากลำพูน ทั้งๆ ที่ในอดีตนั้นเมืองลำพูนเป็นต้นกำเนิดอารยธรรมของล้านนาทั้งหมด รวมไปถึงน่าจะเป็นแหล่งก่อเกิดเรือนกาแลก่อนเมืองอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

กาแล : กาลาสากล กะแล่งของชาวลัวะ
หลักฐานปั้นลมรูปกาแลที่เก่าแก่สุดในย่านอุษาคเนย์ พบที่จีนตอนใต้ในแคว้นยูนนาน เป็นรูปกาแลจำลองขนาดเล็กทำด้วยสำริดมีอายุราว 2,500 ปี ปะปนอยู่ในหลุมศพของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ใน "วัฒนธรรมดองซอน"
ต้นกำเนิดของกาแลในภาคเหนือน่าจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเริ่มต้นยุคประวัติศาสตร์ของอารยธรรมหริภุญไชยที่เข้ามาสถาปนาในแถบลุ่มน้ำแม่ปิงราว พ.ศ.1200

ชนพื้นเมืองกลุ่มแรกคือ "ลัวะ" เริ่มปลูกบ้านอาศัยด้วยไม้ยกพื้นสูง มีการใช้เขาควายจริงมาประดับบริเวณหน้าจั่วของบ้าน "เขาควาย" นี้ผู้มีสิทธิ์นำมาประดับได้ต้องเป็นหัวหน้าเผ่า หรือหมอผีเท่านั้น

ในทุกๆ ปีชาวลัวะประกอบพิธีบูชาเสา "อินทขีล" หรือ "เสาสะก้าง" เชื่อว่าพระอินทร์ประทานมาให้เป็นเสาหลักเมือง ประเพณีนี้ยังหลงเหลืออยู่ในกลุ่มชนลัวะเพียงไม่กี่แห่ง อาทิ ลัวะบ้านแม่เหียะ บริเวณพระธาตุดอยคำ ใกล้ดอยสุเทพ หรือลัวะที่พระบาทสี่รอย อำเภอแม่ริม ฯลฯ

พิธี "เข้าอินทขีล" ต้องมีการเซ่นสังเวยกระบือหนึ่งตัว โดยนำมาผูกที่เสาแล้วลงมือฆ่ากระบือนั้น ซึ่งชาวลัวะเชื่อว่าวิญญาณผีปู่แสะย่าแสะ (ผีบรรพบุรุษ) ของตนจะมีความพึงพอใจยิ่งในการที่ลูกหลานได้เซ่นเนื้อควาย

อันที่จริงเมื่อวิเคราะห์ให้ดี พบว่าเนื้อควายมีความจำเป็นต่อชาวลัวะอย่างยิ่ง เนื่องจากชีวิตประจำวันเกือบตลอดทั้งปีได้กินโปรตีนไม่มากนัก แต่ละวันบริโภคแต่พืชผักผลไม้และสัตว์เล็กจำพวกแมลงมีปีกและแมลงใต้ดิน

ดังนั้นพิธีการสังเวยกระบือของชาวลัวะที่ถูกนักอนุรักษ์สัตว์มองว่า "ป่าเถื่อน" นั้น แท้จริงมีนัยด้านโภชนาหารแฝงอยู่!


เมื่อผู้นำเผ่าทำพิธีพลีกรรมด้วยกระบือเสร็จ จะทำการตัดเขาควายคู่นั้นไปติดประดับที่หน้าจั่วหลังคาบ้าน อันเป็นตำแหน่ง "ปั้นลม" ที่ใช้ติดไม้กาแล โดยเรียกเขาควายนั้นว่า "กะแล่ง" อันเป็นการแสดงถึงสถานะของผู้ที่เป็นหัวหน้าเผ่า

วัฒนธรรมการนำเขาควายมาประดับหลังคาบ้านของชนเผ่าพื้นเมืองนี้มีความพ้องกันหลายแหล่ง สามารถพบได้ทั่วไปในแถบเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก อาทิ ในญี่ปุ่น ในฟิลิปปินส์ หรือในอินโดนีเซีย ที่เกาะสุมาตรา ชวา ซาราวัก และบาหลี เรียกเขาควายนี้ว่า "กาลา"หมายถึง "หน้ากาล" - ผู้กลืนกินกาลเวลา พัฒนามาจากตัวเกียรติมุขหรือราหูที่เคยใช้ประดับซุ้มประตูทางเข้าอาคารของอินเดีย มีหน้าที่เฝ้าศาสนสถานและป้องกันภูตผีปีศาจ
จะเห็นได้ว่า ชื่อ "กาลา"- Kala นี้มีความใกล้เคียงกับคำว่า "กาแล" ไม่น้อย
จุดเริ่มต้นของชื่อ "กาลา" น่าจะส่งอิทธิพลให้ชาวลัวะเรียกตาม แต่เพี้ยนไปเป็น "กะแล่ง" แล้วชาวล้านนามาเรียกว่า "กาแล" อีกต่อหนึ่ง

แล้วเรื่องไสยศาสตร์พม่ากับกาแลมาได้อย่างไร

มีอยู่ช่วงหนึ่ง นโยบายการปรับปรุงภูมิทัศน์ของเทศบาลนครเชียงใหม่ มุ่งเน้นไปยังการให้รางวัลแก่อาคารบ้านเรือนที่ติดสัญลักษณ์รูป "กาแล" ตรงหน้าจั่ว
มองในแง่สร้างสรรค์ อาจถูกใจนักอนุรักษ์ท้องถิ่น แต่แล้วกลับมีเสียงคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ

ชาวล้านนาจำนวนไม่น้อยที่ลุกขึ้นต่อต้านการเชิดชู "กาแล" เนื่องจากเชื่อว่า กาแลคือเครื่องหมาย "กากบาท" ที่ชาวพม่าประทับตราบาปไว้ให้กับบ้านชาวไทโยน ในช่วงที่ล้านนาประเทศตกเป็นเมืองขึ้นระหว่างปี 2101 ถึง 2317

มีการตีความเครื่องหมายไขว้รูป "กากบาท" ว่าแท้ที่จริงก็คือ "หว่างขาของชาวพม่า" ที่เสกคุณไสยเข้าครอบงำชีวิตชาวล้านนาให้ต้องลอดเข้าลอดออกทุกวัน เสมือนต้องมนตราจึงไม่กล้าหือลุกขึ้นต่อกร เป็นเหตุให้จมจ่อมยอมจำนนต่อพม่าอยู่นานกว่าสองศตวรรษ

ผู้ที่เชื่อทฤษฎีนี้ชี้ให้เห็นถึงรูปทรงบ้านที่มีไม้กาแลว่าไม่ได้ตั้งฉากตรงๆ แต่มักมีลักษณะผายออกตอนบนและสอบเข้าตอนล่าง ละม้ายกับรูปทรงของโลงศพในพม่า นั่นหมายความว่า ชาวล้านนาถูกพม่าบังคับให้อาศัยอยู่ในบ้านที่มีลักษณะเหมือนหีบศพ แล้วเสียบประจานซ้ำด้วยไม้กากบาท หรือหว่างขาอีกชั้นหนึ่ง!

ใคร่ทราบนัก ว่าตอนที่พญากาวิละกอบบ้านกู้เมืองคืนได้จากพม่า เป็นเพราะมีการถอนอำนาจไสยศาสตร์ออกจากเรือนกาแล หรือเช่นไร?


ไม่มีใครยืนยันทฤษฎีนี้ว่าจริง-เท็จประการใด ใครเป็นผู้จุดประกายความคิดนี้ขึ้นมา เพราะปราชญ์ใหญ่ล้านนาหลายท่าน ทั้ง ศ.เกียรติคุณ ดร.มณี พยอมยงค์ หรือ ศ.ไกรศรี นิมมานเหมินท์ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า

"เรื่องนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ เป็นความหวาดกลัวไปเองมากกว่าของคนเหนือยุคหลังฟื้นฟูเมืองจากพม่า"

อย่างไรก็ดี เมื่อความเชื่อนี้กระจายมาสู่ชาวล้านนาที่ยังอาศัยอยู่ในบ้านกาแล ต่างเกิดความไม่สบายใจจึงต้องทำพิธีล้างอาถรรพณ์ ด้วยการถอดไม้กาแลออกมาลอดใต้หว่างขาเป็นการแก้เคล็ดแล้วฝังลงดินในป่าช้า บ้างก็ถอดขายพ่อค้าของเก่าที่เฝ้ารอลุ้นอยู่แล้วอย่างไม่ไยดี

น่าเสียดายยิ่ง เรือนโบราณของชาวเหนือทุกวันนี้ที่เราเห็นว่าปักกาแล เหลือของแท้จริงๆ อยู่เพียงแค่ไม่กี่หลังแล้ว นอกนั้นล้วนเป็นของทำใหม่ทั้งสิ้น

หาก "กาแล" เป็นไสยศาสตร์จริง ไม่เคยมีการตั้งคำถามกันบ้างหรืออย่างไรว่า ทำไมชาวพม่าต้องไปทำคุณไสยใส่ชาวญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ด้วย?



สรไน แผลงมาจากปี่ไฉนที่ถูกเจียระไน

แล้ว "สรไน" ชื่อแปลกๆ นี้เล่าคืออะไร เป็นมาอย่างไร?

ที่มาของ "สรไน" นั้นมีการสันนิษฐานความเห็นไว้สองแนวทาง

นัยแรก สถาปนิกล้านนาบางท่านเห็นว่าน่าจะมาจากคำว่า "เจียระไน" หมายถึงการเจียรเพชรพลอยให้เกิดมุมเหลี่ยมตามที่ต้องการ ด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรก รูปทรงของเสาสรไนนั้นมีการเจียรไม้เหลี่ยมมุมคล้ายการเจียระไนอัญมนี

ประการที่สอง พบว่า คนเฒ่าคนแก่หลายท่านในลำพูนยังคงเรียกขานเรือนสรไนนี้ว่า "เฮือนจะละไน" อยู่ ซึ่งอาจเชื่อมโยงมาจากคำว่า "เจียระไน"

ในขณะเดียวกัน ยังมีความเห็นอีกนัยหนึ่งจากปราชญ์ล้านนาจำนวนมาก ที่เชื่อว่า "สรไน" มาจากคำว่า "สุระหนี่" ในภาษาชวา หมายถึงเครื่องดนตรีประเภทปี่สรไน หรือปี่ไฉน

เมื่อสืบค้นหาคำ "สรไน" ว่ามีการใช้ในแดนดินล้านนาตั้งแต่เมื่อไหร่ พบว่า ปรากฏหลักฐานเก่าสุดด้านลายลักษณ์ในศิลาจารึกวัดพระยืน ลำพูน เมื่อปี พ.ศ.1913 มีข้อความเกี่ยวเนื่องกับตอนที่พระญากือนาได้เตรียมการต้อนรับการเดินทางมาของพระมหาสุมนเถระจากสุโขทัย สู่เมืองลำพูนด้วยการประโคมเครื่องดนตรีนานาชนิด ว่า

"ท่านพญาธรรมิกราชบริพารด้วยฝูงราชโยธามหาชนพลลูกเจ้าลูกขุนมนตรีทั้งหลาย ย้ายกันให้ถือกระทงข้าวตอกดอกไม้ ไต้เทียน ตีพาทย์ดังพิณ ฆ้อง กลอง ปี่สรไน พิสเนญชัย ทะ-เทียด กาหล แตรสังข์มาน กังสะดานมะระทง ดงเดือด เสียงเลิศเสียงก้อง อีกทั้งคนร้องโห่อื้อดาสะท้านทั่วทั้งนครหริภุญไชย"

จากศิลาจารึกนี้สะท้อนว่าอย่างน้อยที่สุดชาวลำพูนเมื่อยุค 650 ปีก่อนรู้จักกับคำว่า "สรไน" นี้แล้วเป็นอย่างดี

อาจเป็นไปได้ว่า ช่างพื้นบ้านชาวล้านนาได้นำคำว่าปี่ "สรไน" อันมีรูปทรงเป็นแท่งไม้กลมกลึงเสาสูง ไปใช้เรียกองค์ประกอบสถาปัตยกรรมในส่วนของ "ปั้นลม" (ป้านลม) หรือ "ช่อฟ้า" แถมส่วนปลายยอดยังจำหลักเป็นเม็ดน้ำค้างคล้ายปากปี่

ยังมีองค์ประกอบสถาปัตยกรรมอีกชิ้นมีชื่อว่า "ปล้องไฉน" ใช้ตกแต่งยอดสถูปเจดีย์เหนือองค์บัลลังก์และก้านฉัตรขึ้นไป ทำเป็นรูปวงแหวนซ้อนกันเป็นปล้องๆ หลายชั้น

คำว่า "ปล้องไฉน" เป็นภาพเน้นย้ำให้เห็นรากของชื่อ ที่มาจากคำว่า "ปี่ไฉน" อย่างชัดเจนเช่นกัน

และทั้ง "สรไน" กับ "ปล้องไฉน" ต่างก็ตั้งอยู่ตอนบนสุดของสถาปัตยกรรมทั้งคู่

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า "สรไน" จะมีที่มาของชื่อจาก "เจียระไน" หรือ "ปี่ไฉน" แต่ในที่สุดชาวล้านนาโดยเฉพาะชาวยองในลำพูนได้นำมาใช้เป็นชื่อเฉพาะ เรียกบ้านเรือนที่มีการประดับบริเวณยอดแหลมที่ปลายหน้าจั่วหลังคาในยุคมณฑลเทศาภิบาล ว่า "เรือนสรไน" อย่างแพร่หลาย ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป

เรือนสรไน การเข้ามาของมณฑลเทศาภิบาล
และอวสานของเรือนกาแล
แท่งจั่ว "สรไน" นี้มิได้คิดค้นโดยชาวยองลำพูนตามความเข้าใจเดิมๆ หากแต่มีความเป็นสากลเหมือนกับตัวกาแลที่มิใช่เป็นของชาวเชียงใหม่เท่านั้น

ชาวตะวันตกรู้จักการใช้ปั้นลมแท่งเสาสูงปลายแหลมมาประดับหน้าจั่วเป็นอย่างดีมาก่อนแล้วในยุโรปหลายศตวรรษ ชาวอังกฤษเรียกบ้านไม้ประดับหน้าจั่วว่า "กระท่อมไม้ซุง" หรือ English Cottage บ้านลักษณะเช่นนี้ชาวอังกฤษถือว่าใช้ปลูกสร้างตามชนบทป่าเขาไม่นิยมนำมาสร้างในเมืองใหญ่

ส่วนวัฒนธรรมของประเทศแถบเทือกเขาแอลป์รวมทั้งฝรั่งเศสขาใหญ่นักล่าอาณานิคม เรียกบ้านที่ติดจั่วสรไนว่า Chalet Suisse (ชาเล่ต์สวิส) เนื่องจากมีต้นกำเนิดมาจากหุบเขาสูงในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เมื่อชาวตะวันตกได้พม่า ลาว จีนตอนใต้ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย มาไว้ในครอบครองแล้ว ได้วางรากฐานการนำองค์ประกอบสถาปัตยกรรมแบบ "จั่วสรไน" (หรือสุดแท้แต่ละวัฒนธรรมจะเรียกชื่อนี้ว่าอะไร อาทิ ชาวมลายูเรียก "บลานอ") มาสถาปนาในดินแดนอุษาคเนย์ทั้งหมด แทนที่วัฒนธรรมดั้งเดิมที่เคยตกแต่งด้วย "กาแล" ของหลายๆ ประเทศ

เปลี่ยนแต่รูปลักษณ์ภายนอก ทว่า การแบ่งพื้นที่ใช้สอยสำหรับวิถีชีวิตภายในเรือนสรไนนั้น ยังคงละม้ายคล้ายคลึงกับเรือนกาแลพื้นถิ่นทุกประการ กล่าวคือบ้านแบบสรไนยังคงมี "ฮ้านน้ำ" (ที่วางหม้อน้ำดื่มหน้าบ้าน) "ต๊อมน้ำ" (ห้องน้ำ) "หลองเข้า" (ยุ้งข้าว) "เสาแหล่งหมา" (เสาผูกสุนัข) ขึ้นมาบนเรือนยังคงมี "เติ๋น" (ส่วนรับแขกที่ยกพื้นเล็กน้อย) "ฮางริน" (รางน้ำระหว่างชายหลังคา) การต่อเติมเรือนแฝด หรือ "ครัวไฟ" (ห้องครัว) เป็นต้น

การถอดหัวโขนของ "กาแล" เป็น "สรไน" ทำได้แค่เพียงเปลือกนอก ส่วนการดำรงชีพของคนเหนือยังคงพอใจใน function บ้านแบบเดิมๆ มิอาจเอาบ้านแบบภาคกลางหรือตะวันตกมาครอบงำ "พื้นที่ภายใน" ได้

อุปมาก็เหมือนกับ "การเกลียดตัวกินไข่"


เรือน "สรไน" ได้รับความนิยมขึ้นแทนที่ "เรือนกาแล" ในยุคที่มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินตั้งแต่ปี พ.ศ.2427 เป็นต้นมา ตรงกับสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างช่วงที่ล้านนาเปลี่ยนสถานะจากประเทศราชของสยาม มาเป็นการปกครองในลักษณะมณฑลเทศาภิบาล ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เป็นส่วนหนึ่งของเชียงใหม่ ถูกเรียกโดยรวมว่า "มณฑลลาวเฉียง" และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "มณฑลพายัพ"

ช่วงนี้สยามหรือรัฐบาลกลางได้ส่งข้าหลวงใหญ่มาประจำที่มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพเป็นจำนวนมาก รสนิยมในการติดจั่ว "สรไน" แบบตะวันตกที่กำลังระบาดอย่างแรงในบ้านคหบดีกรุงเทพฯ และทั่วสยาม อินโดจีน ได้หลั่งไหลมาพร้อมกับกระแสการประโคมข่าวว่า "กาแล" เล่นไสยศาสตร์

เรือนสรไนสามารถเบียดแซงแย่งชิงพื้นที่เฮือนก๋าแลแบบเบ็ดเสร็จ

น่าสงสาร "กาแล" เจ้ากรรมเหลือเกินอยู่ดีๆ ก็ถูกใส่ร้ายโพนทะนาว่าเป็น "กากบาท-หว่างขาของพม่า" ที่เล่นคุณไสยข่มชาวล้านนาทั้งๆ ที่ประวัติความเป็นมาระบุชัดแล้วว่า เป็นเครื่องเซ่นบูชาเขาควายตามความเชื่อของชาวพื้นเมืองแถบอุษาทวีป ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับพม่าเลย

สิ่งที่เล่นไสยศาสตร์ใส่เราเอาอย่างจัง แถมยังไม่รู้ตัว ก็คือ "หน้าจั่วปี่ไฉนแบบตะวันตก" ที่คนอื่นนำมาสถาปนาให้ต่างหาก ยิ่งภาพลักษณ์ของ "กาแล" ติดลบมากเท่าไหร่ คนพื้นถิ่นก็พลอยรังเกียจหลงลืมอัตลักษณ์ของตัวเองมากยิ่งขึ้นเท่านั้น การประณามกาแลอย่างไร้เหตุผล แล้วหันมาให้คุณค่าสนใจแก่เรือนสรไนแทนที่นั้น

นี่ต่างหากคือไสยศาสตร์ตัวจริง!

ขอขอบคุณ เชียงรายโฟกัส
กำเมือง ถ้าคนเมืองบ่อู้แล้วไผจะอู้