เรื่องนี้ควรใช้วิจารณาญาณ ยังไม่มีการพิสูจน์หรือศึกษา เป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล เห็นว่าน่าสนใจเลยเอามาให้อ่านครับ"กาแลเชียงใหม่ สรไนลำพูน" สถาปัตยกรรมบ้านเรือนเก่าแก่ของภาคเหนือ ที่ซุกซ่อนประวัติศาสตร์ การเมือง วิถีล้านนาไว้ในทุกๆชิ้นส่วนของเรือนคู่นี้
หากความเชื่อที่คลาดเคลื่อนบางอย่างทำให้ความนิยมในการ "เรือนกาแล" ค่อยๆ เสื่อมลงไป เท่าๆ กับที่ "เรือนสรไน" ถูกท้าทายด้วยความนิยมรูปแบบบ้านเรือนสมัยใหม่ จนกระทั่งภาพของเรือนกาแล และเรือนสรไน ค่อยๆ เลือนหาย
แต่ก็ยังมีความพยายามจากคนบางกลุ่ม ที่หวังจะฟื้นชีวิตเรือนกาแล และเรือนสรไน ให้กลับมามีชีวาอยู่ในวิถีของคนล้านนาอีกครั้ง
"กาแล" ไม่ใช่ "กาลี"
ภาพคุ้นตาของโครงไม้ขัดรูปกากบาทที่ติดเหนือหน้าจั่ว กลายเป็นภาพของ ?เรือนล้านนา? ในมโนคติของหลายคน เป็นภาพที่มาพร้อมคำอธิบายที่ว่า ?กาแล? เป็นสัญลักษณ์แห่งการตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า เลยไปถึงความเชื่อที่ว่า ?กาแล?คือสื่อพลังเหนือธรรมชาติด้านลบที่มีจุดประสงค์เพื่อกดงำผู้ที่พำนักอาศัยด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์
ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ อดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จังหวัดลำพูน แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเชื่อมโยง ?กาแล? เข้ากับความเชื่อทางไสยศาสตร์พม่าว่า มีช่วงหนึ่งที่เทศบาลนครเชียงใหม่มีนโยบายการปรับปรุงภูมิทัศน์เมือง โดยมุ่งเน้นไปยังการให้รางวัลแก่อาคารบ้านเรือนที่ติดสัญลักษณ์รูป "กาแล" ตรงหน้าจั่วแต่แล้วกลับมีเสียงคัดค้านจากชาวล้านนาจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า กาแลคือเครื่องหมาย "กากบาท" ที่ชาวพม่าจงใจประทับไว้ให้กับบ้านชาวไทโยน ในช่วงที่ล้านนาประเทศตกเป็นเมืองขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2101 ถึง 2317
และยังมีความเชื่อต่อไปว่าโครงไม้ไขว้รูปกากบาทของกาแลนั้น เป็นตัวแทน "หว่างขา? ของชาวพม่าที่มาพร้อมอำนาจคุณไสยสำหรับครอบงำชีวิตชาวล้านนา การมีกาแลติดอยู่บนจุดเหนือสุดของบ้านและต้องลอดเข้าออกอยู่ทุกวัน จึงเป็นการ ?สะกด? ให้ยอมจำนน จนต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่านานกว่าสองศตวรรษ
ผู้ที่เชื่อแนวคิดนี้ยังมองว่า รูปทรงบ้านที่มีไม้กาแลส่วนผนังจะไม่ได้ตั้งฉาก แต่มีลักษณะตอนล่างแคบ ตอนบนผายออกกว้างคล้ายกับรูปทรงของโลงศพในพม่าทำให้เกิดการเสริมความเชื่อต่อไปอีกว่าชาวล้านนาถูกพม่าบังคับให้อาศัยอยู่ในบ้านทรงหีบศพแล้วครอบซ้ำด้วยสัญลักษณ์กากบาทหรือหว่างขาสำทับเข้าไปอีก
เมื่อความเชื่อนี้แพร่ออกไป ทำให้เจ้าของเรือนกาแลเกิดความไม่สบายใจจนต้องทำพิธีล้างอาถรรพณ์ บ้างก็แก้เคล็ดด้วยการถอดไม้กาแลออกมาลอดใต้หว่างขาแล้วฝังลงดินในป่าช้า หรือแม้แต่ถอดขายพ่อค้าของเก่าไป จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่กาแลขนานแท้และดั้งเดิมเหลืออยู่เพียงไม่กี่ชิ้น เท่าที่มีให้เห็นบ้างก็เป็นของทำขึ้นใหม่เป็นส่วนใหญ่
ขณะที่ปราชญ์ล้านนาหลายท่าน รวมทั้ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มณี พยอมยงค์ หรือ ศาสตราจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า แนวคิดเรื่องไสยศาสตร์ดังกล่าวไม่มีข้อพิสูจน์ และน่าจะเป็นความหวาดกลัวไปเองของคนเหนือยุคหลังฟื้นฟูเมืองจากพม่า
?สรไน? วัฒนธรรมข้ามโลก
?สรไน? (อ่านว่า สะ-ระ-ไน) หมายถึงแท่งเสากลึงที่ติดตรงปั้นลม หรือกึ่งกลางหน้าจั่วของบ้าน
สรไน คำนี้ ชาวล้านนาโดยเฉพาะชาวยองในลำพูนได้นำมาใช้เป็นชื่อเฉพาะ เรียกบ้านเรือนที่มีการประดับบริเวณยอดแหลมที่ปลายหน้าจั่วหลังคาที่แพร่หลายในยุคมณฑลเทศาภิบาล ว่า ?เรือนสรไน?
ดร.เพ็ญสุภา เสนอว่า ที่มาของคำว่า ?สรไน? นั้นมีการสันนิษฐานความเห็นไว้สองแนวทาง นัยแรก สถาปนิกล้านนาบางท่านเห็นว่าน่าจะมาจากคำว่า ?เจียระไน? หมายถึงการเจียรเพชรพลอยให้เกิดมุมเหลี่ยมตามต้องการ ด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรก รูปทรงของเสาสรไนนั้นมีการเจียรไม้เหลี่ยมมุมคล้ายการเจียระไนอัญมณี ประการที่สอง พบว่าคนเฒ่าคนแก่หลายท่านในลำพูนยังคงเรียกขานเรือนสรไนนี้ว่า ?เฮือนจะละไน? อยู่ ซึ่งอาจเชื่อมโยงมาจากคำว่า ?เจียระไน?
ในขณะเดียวกัน ยังมีความเห็นอีกนัยหนึ่งจากปราชญ์ล้านนาจำนวนมาก ที่เชื่อว่า ?สรไน? มาจากคำว่า ?สุระหนี่? ในภาษาชวา หมายถึงเครื่องดนตรีประเภท "ปี่สรไน" หรือ "ปี่ไฉน" ศิลาจารึกวัดพระยืน ลำพูน เมื่อปีพ.ศ.1913 มีการกล่าวถึงเครื่องดนตรีชนิดนี้อยู่ในตอนที่พระญากือนาได้เตรียมการสมโภชต้อนรับการเดินทางมาของพระมหาสุมนเถระจากสุโขทัยสู่เมืองลำพูน สะท้อนว่า ชาวลำพูนรู้จักกับคำว่า ?สรไน? แล้วอย่างน้อยก็ตั้งแต่ 650 ปีก่อน
และเป็นไปได้ว่าช่างพื้นบ้านชาวล้านนาได้นำคำว่าปี่ ?สรไน? ไปใช้เรียกองค์ประกอบสถาปัตยกรรมในส่วนของ ?ปั้นลม? (ป้านลม) หรือ ?ช่อฟ้า? ที่มีรูปทรงเป็นแท่งไม้กลมกลึงเสาสูงแถมส่วนปลายยอดยังจำหลักเป็นเม็ดน้ำค้างคล้ายปากปี่
อย่างไรก็ตาม แท่งจั่ว "สรไน" มิได้คิดค้นโดยชาวยองลำพูนตามความเข้าใจเดิมๆ หากแต่มีความเป็นสากลเหมือนกับตัวกาแลที่พบการใช้ในหลายประเทศ ชาวตะวันตกรู้จักการใช้ปั้นลมแท่งเสาสูงปลายแหลมมาประดับหน้าจั่วมาก่อนแล้วหลายศตวรรษ ชาวอังกฤษเรียกบ้านไม้ประดับหน้าจั่วว่า ?กระท่อมไม้ซุง? หรือ "English Cottage" ส่วนวัฒนธรรมของประเทศแถบเทือกเขาแอลป์รวมทั้งฝรั่งเศสเรียกบ้านที่ติดจั่วสรไนว่า "Chalet Suisse" (ชาเล่ต์สวิส) เนื่องจากมีต้นกำเนิดมาจากหุบเขาสูงในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เมื่อชาวตะวันตกได้พม่า ลาว จีนตอนใต้ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย มาไว้ในครอบครองแล้ว ก็วางรากฐานการนำองค์ประกอบสถาปัตยกรรมแบบ "จั่วสรไน" (หรือสุดแท้แต่ละวัฒนธรรมจะเรียกชื่อนี้ว่าอะไร อาทิ ชาวมลายูเรียก "บลานอ") มาสถาปนาในดินแดนอุษาคเนย์ทั้งหมด แทนที่วัฒนธรรมดั้งเดิมที่เคยตกแต่งด้วย ?กาแล? ของหลายๆ ประเทศ
การเมืองเรื่องสถาปัตยกรรม
การเปลี่ยนแปลงความนิยมจากเรือนกาแล ไปสู่การสร้างเรือนสรไน ในดินแดนล้านนา อาจมองได้ว่าเป็นการเมืองเรื่องสถาปัตยกรรม ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเข้ามาของระบบมณฑลเทศาภิบาล
เรือน ?สรไน? ได้รับความนิยมขึ้นแทนที่ ?เรือนกาแล? ในยุคที่มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2427 เป็นต้นมา ตรงกับสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างช่วงที่ล้านนาเปลี่ยนสถานะจากประเทศราชของสยาม มาเป็นการปกครองในลักษณะมณฑลเทศาภิบาล ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอนเป็นส่วนหนึ่งของเชียงใหม่ ถูกเรียกโดยรวมว่า ?มณฑลลาวเฉียง? และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ?มณฑลพายัพ?
ช่วงนี้สยามหรือรัฐบาลกลางได้ส่งข้าหลวงใหญ่มาประจำที่มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพเป็นจำนวนมาก รสนิยมในการติดจั่ว "สรไน" แบบตะวันตกที่กำลังระบาดอย่างแรงในบ้านคหบดีกรุงเทพและทั่วสยาม อินโดจีน ได้หลั่งไหลมาพร้อมกับกระแสการประโคมข่าวว่า "กาแล" เป็นเรื่องของการเล่นไสยศาสตร์ จนกระทั่งเรือนสรไนสามารถเบียดแซงแย่งชิงพื้นที่ความนิยมจากเรือนกาแล (หรือ "เฮือนก๋าแล" ตามสำเนียงแบบ "กำเมือง")
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกจากเรือนกาแลสู่เรือนสรไน ทว่าการแบ่งพื้นที่ใช้สอยสำหรับวิถีชีวิตภายในเรือนสรไนไม่แตกต่างจากเรือนกาแลพื้นถิ่นดั้งเดิม บ้านแบบสรไนยังคงมี "ฮ้านน้ำ" (ที่วางหม้อน้ำดื่มหน้าบ้าน) "ต๊อมน้ำ" (ห้องน้ำ) "หลองเข้า" (ยุ้งข้าว) "เสาแหล่งหมา" (เสาผูกสุนัข) บนเรือนยังคงมี "เติ๋น" (ส่วนรับแขกที่ยกพื้นเล็กน้อย) "ฮางริน" (รางน้ำระหว่างชายหลังคา) การต่อเติมเรือนแฝด หรือ "ครัวไฟ" (ห้องครัว) เป็นต้น
"การถอดหัวโขนจากกาแลเป็นสรไน ทำได้แค่เพียงเปลือกนอก ส่วนการดำรงชีพของคนเหนือยังคงพอใจใน function บ้านแบบเดิมๆ มิอาจเอาบ้านแบบภาคกลางหรือตะวันตกมาครอบงำ พื้นที่ภายในได้" ดร.เพ็ญสุภา สรุป
แต่แล้วในที่สุด ความนิยมรูปแบบการสร้างบ้านเรือนสมัยใหม่ หรือแม้แต่ที่อยู่อาศัยในรูปแบบรังนกในตึกสูงก็เข้ามามีบทบาท จนทั้งเรือนกาแลและเรือนสรไนต่างก็ถูกเบียดหายไปจากวิถีชีวิตคนเมืองยุคนี้
ฟื้นชีวิตเรือนสรไนที่เวียงยอง
ไม่เพียงความพยายามของเทศบาลเมืองเชียงใหม่ที่จะรื้อฟื้น ?เรือนกาแล? ที่ตำบลเวียงยอง จังหวัดลำพูน ก็มีความพยายามที่จะรื้อฟื้น ?เรือนสรไน? เช่นกัน
รักษ์เกียรติ ศิริจันทรานนท์ นายกเทศมนตรีตำบลเวียงยองเป็นคน ?ยอง? ลำพูน โดยกำเนิดเขามองเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของลำพูน
?อย่างกาแลบางคนก็บอกว่าพม่าเอากากบาทมาติดไว้เพื่อเป็นการข่ม หรือเป็นสัญลักษณ์ของการถ่างขาครอบไว้ ตอนหลังคนล้านนาเรามาคุยกันว่าน่าจะสลัดความคิดแบบนั้นออกไป น่าจะคิดใหม่ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการปลดแอกจากพม่า โดยเฉพาะอย่างเรือนสรไนก็เป็นเอกลักษณ์ของลำพูนเราอยู่แล้ว อย่างที่มีคำพูดว่า ?กาแลเชียงใหม่-สรไนลำพูน? ก็ควรจะต้องรักษาตรงนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดู?
นายกเทศมนตรีตำบลเวียงยอง จึงมีแนวคิดในการอนุรักษ์และรื้อฟื้นการสร้างบ้านโบราณล้านนานทั้งเรือนกาแลและเรือนสรไน โดยจัดกิจกรรมเพื่อให้คนในชุมชนหันมาสนใจเรื่องเรือนล้านนา โดยเฉพาะเรือนสรไน
?ถ้าเราไปสิบสองปันนาจะเห็นว่าทุกบ้านต้องมีรูปนกยูงอยู่เหนือสุด เป็นเอกลักษณ์ของคนที่นั่น เราก็จะเอาเรือนสรไนเป็นเอกลักษณ์ของเราเหมือนกัน ถ้าเป็นบ้านเก่าสมัยเมื่อ 70 ปีขึ้นไปจะเป็นเรือนสรไน แต่ตอนนี้ในตำบลเวียงยอง แทบจะไม่เห็นบ้านแบบเก่าเหลืออยู่เลยเพราะสร้างบ้านแบบสมัยใหม่กันหมด" นายกเทศมนตรีตำบลเวียงยอง ระบุ
ความพยายามในการอนุรักษ์และส่งเสริม "เรือนสรไน" ให้กลับมาอยู่ในวิถีชีวิตคนเวียงยองอีกครั้ง เริ่มจากแนวคิดในการระดมความคิดจากนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ฯลฯ เพื่อสร้างความเข้าใจในคุณค่าและความสำคัญ จัดทำแบบแปลนเรือนสรไนเพื่อให้ผู้ที่กำลังจะสร้างบ้านใหม่ใช้เป็นทางเลือก รวมถึงผลักดันการสร้างเรือนสรไนผ่านทางการกำหนดเทศบัญญัติ
"ต่อไปก็จะจัดให้มีการเสวนาให้นักวิชาการมาอธิบายว่าเอกลักษณ์ของเรือนกาแล เรือนสรไนเป็นอย่างไร แล้วก็จะเอาผลตรงนั้นไปออกประชาคม ทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าถ้าใครสร้างบ้านแบบเรือนสรไน หรือมีสรไนเป็นส่วนประกอบก็จะลดค่าธรรมเนียมการขออนุญาตก่อสร้าง ถ้าประชาคมเห็นด้วยก็จะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นเทศบัญญัติต่อไป และจะมีการทำแบบแปลนบ้านแบบเรือนสรไนขึ้นมาเผยแพร่ ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้านว่าจะสนในหรือเปล่า เราจะโน้มน้าวให้เห็นความสำคัญตรงนี้ได้แค่ไหน?
นายกเทศมนตรีตำบลเวียงยอง ยังมองต่อไปถึงการนำรูปลักษณ์ของสรไนซึ่งเป็นองค์ประกอบของตัวอาคาร กลับมานำเสนอใหม่ในฐานะของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งเพื่อเผยแพร่ความเข้าใจเกี่ยวกับสรไนและเรือนสรไน รวมถึงส่งเสริมอาชีพสล่า (ช่าง) แกะสลัก ซึ่งเป็นอาชีพที่กำลังจะสูญหายไปจากเวียงยอง
?แต่ถ้าเราปล่อยให้เรื่องนี้หายไป ก็เหมือนทิ้งประวัติศาสตร์ไป ต้องพูดคุยกัน ต้องส่งเสริมการตระหนักความสำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ก่อนที่วันหนึ่งความรู้เรื่องรูปแบบเรือนล้านนาอาจจะหายไปหมด..."
?เพราะนี่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่บอกว่าเราคือคนยองลำพูน? รักษ์เกียรติ ย้ำ
อีกเนื้อหาหนึ่ง
"กาแล" สัญลักษณ์การเมืองหรือเอกลักษณ์แห่งภูมิปัญญา
กาแล คือไม้ป้านลมที่พาดยาวขึ้นไปไขว้กันอยู่บนหัวแป(แปจอง)ยอดหลังคาหรืออกไก่ ให้ความหมายอย่างนี้คนรุ่นก่อนคงนึกภาพออก แต่คนรุ่นหลังยังส่ายหน้าเพราะไม่รู้จักทั้ง ปันลม ไม่รู้จัก ขื่อ แป หน่องหนัก โย แวง ตง แป้นต้อง หัวข่ม ไม่รู้จักเครื่องเรือนสมัยก่อนที่ปัจจุบันถูกเรียกทับศัพท์ไทยกลางไปหลายอย่าง เช่น อกไก่ อเส ไม้รอด ไม้ระแนง ปั้นลม
ส่วนสาเหตุที่เรียกกาแลนั้นมีที่มาหลายประเด็นซึ่งจะแสดงทัศนะไว้ตามลำดับเหตุคือ
๑. สัญลักษณ์แห่งการกดขี่ ผู้รู้บางท่านให้ทัศนะว่า กาแล คือสัญลักษณ์แห่งการกดขี่ทางการเมืองการปกครองในอดีต ในภาวะสงครามยืดเยื้อบริเวณล้านนากับพม่าอยู่เนืองๆ แต่เมื่อครั้งอดีตนั้นหากขุนทัพเจ้าเมืองรบชนะก็จะยึดให้หย่อมบ้านหย่อมเมืองนั้นอยู่ในฐานะเชลย ด้วยเหตุผลนี้ ฝ่ายพม่าจึงสั่งให้เชลยทำหลังคาเป็นรูปกาแล เป็นสัญลักษณ์ว่านี่คือชาวล้านนา อันจะเชื่อมโยงไปถึงการเก็บส่วยอากร การปกครองกดขี่ข่มเหง เท็จจริงอย่างไรคงไม่อาจฟันธงลงได้
๒. เชิงสถาปัตยกรรม อีกทัศนะหนึ่งของกาแลเมื่อมองในแง่สถาปัตย์โบราณ บ้านของชาวล้านนามีเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนใคร นอกจากนี้ยังสังเกตได้ว่า บ้านชาวล้านนาทุกหลังจะต้องมีเสาดั้งลวด มีหัวข่ม มีปิง มีโย มีแป้นต้อง มีเสาแหล่งหมา มีเตาไฟหล่มช่อง หลังคาชันแอ่นงามเหมือนวิหาร และมีกาแล
๓. เรียก "กะแล" เพราะการมุงหลังคาด้วยตับคาหรือตองตึงนั้น จำเป็นที่จะต้องเรียงให้เป็นระเบียบแถว หัวไม้ดูกก้าน**ต้องเสมอเพียงกันลงมาถึงชายคา ใช้ไม้ไผ่ เพื่อให้เจาะรูสอดไม้ยึดป้านลมไม่แตกร้าว เมื่อซุกตับคาไปชนไม้กะ แล้วก็เล็งแล ไปด้วยว่าได้แถวหรือยัง คือให้ได้ทั้งแถวและความเสมอเรียบด้านข้าง จึงเรียกไม้นั้นว่า "กะแล" ต่อมายานเป็น "กาแล"
๔. อีกาแล เรียกกาแลเพราะหางของไม้ป้านลมนี้อยู่สูงกว่าหลังคา เมื่ออีกาบินผ่านก็จะแลดูว่าจะจับ-เกาะได้ไหม ส่วนใหญ่อีกาชอบเกาะบนที่สูงอยู่แล้ว แต่ด้วยความเชื่อของคนโบราณว่า ถ้าบ้านไหนอีกาจับหลังคาจะเป็นกาลกิณี ดังนั้นจึงทำบ่วงแร้วหลอกๆ ติดปลายกาแลไว้ อีกากลัวบ่วงแร้ว (แฮ้ว) มาก เมื่ออีกาเหลือบเห็นก็ไม่กล้าจับเกาะบินผ่านเลยไป ก็เรียกไม้กันลมกันฝนนี้ว่า ไม้กาแล
ผิดถูกชาใดอ้ายมะคอแลนเสริมเติมแต่งตวยเน้อ นอกจากกาแลเป็นสัญลักษณ์ของล้านนาอย่างเหนียวแน่นแล้ว "สรไน่" ตี้คุณเชียงรายพันธุ์แท้เสนอมาก็น่าสนใจ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของทางไทยใต้ที่เข้ามาในล้านนาเน้อ ปู๋สาดนั่งฟัง "สรไน่" ก่อนเน้อ...
ขอขอบคุณ เชียงรายโฟกัส โดยคุณ GaZiips