หอหลวงเมืองเชียงตุงหลังเดิม ตามบันทึกของ เเมคลอยด์ ซึ่งเดินทางไปเยือนเมืองเชียงตุงใน ค.ศ. ๑๘๓๗ ดังนี้
“เมื่อเข้าไปในบริเวณหอหลวงเมืองเชียงตุง ก็เห็นสนามหญ้าที่ถูกปล่อยปละละเลยไม่มีระเบียบ สนามมีหญ้าขึ้นเต็มไปหมดและสภาพภายนอกของหอหลวงก็ทรุดโทรม กำแพงหอก่อด้วยอิฐและดินโคลน สูงจากพื้น ๘ ฟุต
หอหลวงดูรกรุงรัง ยกเสาสูง ๑๕ ฟุต มีบันไดเชื่อมต่อกับประตูท้องพระโรง โอรสสองคนของเจ้าฟ้าออกมารับแล้วพาไปเข้าเฝ้าเจ้าฟ้าข้างในที่ซึ่งปูพรมรอรับผมและผู้ติดตามไว้เรียบร้อยแล้ว
ภายในท้องพระโรงปิดทองคำเปลวเหลืองอร่ามแตกต่างกับสภาพภายนอกหอหลวงอย่างสิ้นเชิง
บัลลังก์ตั้งอยู่ในสุด แกะสลักอย่างวิจิตรปิดด้วยทองคำเปลวดูอลังการ สองข้างตั้งเศวตฉัตร ด้านหลังบัลลังก์มีทวารเปิดปิดได้แบบเดียวกับในพระมหามณเฑียรกรุงอังวะ
เจ้าฟ้าประทับนั่งอยู่บนเบาะปักดิ้นหน้าบัลลังก์ มีองครักษ์ถือดาบปลอกทำด้วยทองคำนั่งล้อมรอบด้วยความเคารพและยำเกรง โอรสองค์ใหญ่และองค์รองพร้อมด้วยนัดดานั่งอยู่ทางขวามือ เหล่าขุนนางนั่งเรียงแถวตามบรรดาศักดิ์อยู่ทั้งซ้ายและขวามือ
ทุกสิ่งทุกอย่างดูยิ่งใหญ่อลังการมากกว่าราชสำนักเชียงใหม่ที่ผมได้เห็นมา ถึงแม้ว่าบรรดาเจ้าฟ้าจะมี (ได้รับพระราชทานมา) บัลลังก์ ทีเผือก (เศวตฉัตร) และเครื่องยศต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้โดยพละการได้ เมื่อเจ้าฟ้าเสด็จออกข้างนอกจะมีเจ้าพนักงานกางทีคำ (ร่มทอง) ๘ คันถวาย ซึ่งมีศักดินาเท่ากับโอรสองค์โตในพระเจ้ากรุงอังวะ เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงมิอาจหาญใช้เศวตฉัตร
ภายในนอกพระโรงมีผู้คนเต็มไปหมด เฉพาะขุนนางชั้นสูงเท่านั้นที่แต่งกายอย่างชาวพม่า นอกนั้นก็แต่งกายแบบชาวไท (สุทธิศักดิ์ ถอดความ)
*********************************************
THE UPPER BURMA GAZETTEER AND THE SHAN STATES.
In five Volume.
By J GEORGE SCOTT ; 1901
( page 444 )
Credit : สายเครือไท (Tai race studies )
ขอขอบคุณเพจ มั่นใจว่า 1,000,000 ล้านคน รักเชียงตุง