รับซื้อเพชร

ทางเว็บไม่อนุญาตให้โพสโฆษณา ประชาสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในเว็บไซต์ หากพบทางเว็บจะทำการลบทันที


พระเจ้าพรหม "วีรบุรุษในตำนาน" ของโยนกล้านนา

  • 0 ตอบ
  • 6106 อ่าน
*

ออฟไลน์ ฮักล้านนา

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • 674
  • 306
    • ดูรายละเอียด
    • วัดร่องขุ่น
พระเจ้าพรหม เป็นชื่อ "วีรบุรุษในตำนาน" ไม่มีหลักฐานว่ามีตัวตนจริง แต่ประวัติศาสตร์ฉบับ "ล้าหลัง-คลั่งชาติ" ของทางการ ยกย่องและเชื่อถือว่ามีตัวตนอยู่จริงๆ แล้วยอยกเป็น "มหาราช" องค์แรกในประวัติศาสตร์ไทย เรียกพระเจ้าพรหมมหาราช

เมื่อไม่มีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี มาเป็นพยานสนับสนุน เรื่องพระเจ้าพรหมก็เป็น "ความเชื่อ" ของผู้คนในตระกูลไทย-ลาวกลุ่มหนึ่งที่อยู่ทางทิศเหนือ แล้วแพร่กระจายลงทางทิศใต้สู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในยุคหลังๆ

ความเชื่อเรื่องพระเจ้าพรหม มีมาแต่ครั้งไหน? เมื่อไร? ไม่มีหลักฐาน ฉะนั้นไม่มีใครตอบได้ชัดเจน แต่น่าเชื่อว่ามีมาแต่ครั้งหลังรับ "ศาสนา" จากชมพูทวีป เพราะคำว่า "พรหม" ไม่ใช่ชื่อพื้นเมือง หากได้มาจากนามเทวดาของพวกที่เคารพนับถือฮินดู-พุทธ อนึ่ง "พรหม" ยังเป็นชื่อต้นกำเนิดมนุษย์มีอยู่ในพระธรรมศาสตร์ที่ได้จากพระมโนสารฤาษีแห่งรามัญประเทศด้วย

ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๙๑-๒๑๑๑) มีความเชื่อเรื่องพระเจ้าพรหมเป็น "ปฐมบรมกษัตริย์" อยู่แล้ว เพราะเมื่อคราวที่โปรดให้ตั้งเมืองนครไชยศรี (ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม) ก็ได้ชื่อนี้มาจากนามพระเจ้าไชยศิริ เมืองเชียงแสน (ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย) ซึ่งเป็นโอรสพระเจ้าพรหม แล้วเชื่อกันมาแต่ครั้งก่อนหน้านั้นว่าเสด็จหนีการรุกรานจากชนกลุ่มอื่นมาก่อบ้านสร้างเมืองอยู่ที่นั่น

แต่มีเอกสารชุดหนึ่งของชาวยุโรป แสดงให้รู้ว่าชาวพระนครศรีอยุธยาจำนวนหนึ่ง มีความเชื่อว่าพระเจ้าพรหมเป็น "ปฐมบรมกษัตริย์" ของพวกตนมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๗๒-๒๑๙๙) คือเอกสารของ วัน วลิต, ตาชาต และลาลูแบร์

"พรหมเทพ"

ในเอกสาร วัน วลิต

วัน วลิต เป็นพ่อค้าชาวฮอลันดา เดินทางเข้ามาประจำสำนักงานการค้าอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๗๖-๒๑๘๕ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับราชอาณาจักรสยามในสมัยนั้น แล้วเรียนรู้ภาษาไทยด้วย นิทานเรื่อง "ปฐมบรมกษัตริย์" ของชาวสยามแห่งกรุงศรีอยุธยาที่จดไว้ เขาคงฟังมาจากคำบอกเล่าของชาวพระนครศรีอยุธยา ทั้งที่เป็นขุนนาง ข้าราชการและพ่อค้าประชาชนสมัยนั้น อาจกล่าวว่ามีการบันทึกนิทานเรื่อง "พระเจ้าพรหม" เป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าที่สุดก็ได้ มีความตอนหนึ่งว่า

"มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ พรมเทพ (Fra Mae Thip) เป็นผู้สร้างอาณาจักรสยาม เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์แรก เป็นผู้ออกกฎหมายและก่อตั้งศาสนา แต่เนื่องจากความชั่วร้ายและดื้อดึงของมนุษย์เรา พรมเทพได้สละราชอาณาจักรและตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดิน ทรงหนีไปอยู่ที่ภูเขาและสิ้นพระชนม์ที่นั่น หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ราชอาณาจักรก็เริ่มเสื่อมลง จนกระทั่งได้กลายเป็นแผ่นดินที่รกร้างอีกครั้งหนึ่ง"


พระเจ้าพรหม
ในพระราชพงศาวดาร

ครั้นต่อมาจะเป็นด้วยเหตุประการใดไม่แจ้ง กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงนิพนธ์พระราชพงศาวดารสังเขปขึ้นมาใหม่ มีความต้นเรื่องต่างกับพงศาวดารกรุงสยาม (ของรัชกาลที่ ๒)

เริ่มด้วยกษัตริย์เมืองเชียงรายพ่ายศึก ได้อพยพชาวเมืองเชียงรายหนีลงมาทางทิศใต้ แล้วสร้างบ้านเมืองใหม่บริเวณเมืองแปบ ซึ่งเป็นเมืองร้างอยู่ริมแม่น้ำปิง (อยู่คนละฟากเมืองกำแพงเพชรปัจจุบัน) ภายหลังให้ชื่อใหม่ว่าเมืองไตรตรึงษ์ ต่อมามีลูกเขยเป็นสามัญชนคนเข็ญใจชื่อ นายแสนปม ได้เป็นกษัตริย์เมืองเทพนคร พระนามว่าสมเด็จพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน มีโอรสชื่อ เจ้าอู่ทอง ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระรามาธิบดี ผู้ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยา

ถ้าพิจารณาความต้นเรื่องของพระราชพงศาวดารสังเขป ฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสให้ละเอียด จะพบว่ามีตำนาน ๒ เรื่องอยู่ปนกัน

ตอนต้น เป็นเรื่องพระเจ้าพรหม (ผู้พ่อ) จากดินแดนแคว้นโยนกบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำกก-อิง-โขง ขับไล่ขอมดำลงมาถึงดินแดนเมืองกำแพงเพชร กับเรื่องพระเจ้าไชยสิริ (ผู้ลูก) แห่งเมืองโยนกนครศรีช้างแสน และเวียงไชยปราการ ถูกกษัตริย์เมืองสุธรรมวดี (สะเทิม อยู่ในพม่า) โจมตีขับไล่หนีลงมาถึงดินแดนเมืองกำแพงเพชรเช่นเดียวกับพระเจ้าพรหม (ผู้พ่อ) ทั้ง ๒ เรื่องนี้มีอยู่ในตำนานสิงหนวติกุมาร ตอนปลาย เป็นนิทานท้องถิ่น บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เรื่องท้าวแสนปม ที่สืบเชื้อสายลงมาเป็นท้าวอู่ทอง

ความเชื่อเรื่องพระเจ้าพรหมแคว้นโยนก เป็นต้นเค้าราชวงศ์กษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา มิได้เพิ่งมีเมื่อกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์พระราชพงศาวดารสังเขปนี้เท่านั้น หากมีร่องรอยมาแต่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ตั้งแต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้ตั้งเมืองนครชัยศรี ก็เอาชื่อเมืองมาจากเค้าความเชื่อเรื่องพระเจ้าไชยศิริ เมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นโอรสพระเจ้าพรหม แม้ในเอกสาร วัน วลิต ก็ระบุนิทานเรื่องพรมเทพ ส่วนเอกสารของตาชาตกับลาลูแบร์แม้จะไม่ชัดเจนโดยตรง แต่ก็มีร่องรอยของการเคลื่อนย้ายจากสองฝั่งโขง แต่ที่ชัดเจนคือเอกสารชื่อ พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ที่ชาวล้านนาแต่งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า พระมหากษัตริย์อยุธยา เป็นชาติเชื้อวงศาแห่งพระยาพรหมกุมาร แสดงว่าชาวล้านนายุคนั้นก็เชื่ออย่างนั้นเช่นเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ก็ทรงเชื่อเรื่องเชื้อสายวงศ์ของพระเจ้าพรหมมาสร้างแล้วครองกรุงศรีอยุธยา ตามพระราชพงศาวดารสังเขป ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ดังสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์เล่าเรื่องนี้ว่า

"มีพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้หมอดีนส่งไปลงพิมพ์ในหนังสือไจนีสเรโปสิตอรี ที่เมืองกิ่งตังเมื่อปีกุญ จุลศักราช ๑๒๑๓ พ.ศ. ๒๓๙๔ ว่าพระเจ้าอู่ทองเปนราชบุตรเขยของพระเจ้าศิริไชยเชียงแสน ได้รับราชสมบัติสืบพระวงศ์ทางพระมเหษี ครองราชสมบัติอยู่ ๖ ปี เกิดโรคห่าขึ้นในพระนคร จึงย้ายมาตั้งราชธานีที่เมืองศรีอยุธยา" (ตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์อยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ โรงพิมพ์ไทย สะพานยศเส พ.ศ. ๒๔๕๗)

พระมหากษัตริย์ไทยเราที่ทรงเป็นมหาราชองค์แรก ก็คือ "พระเจ้าพรหมมหาราช" ผู้ทรงกอบกู้อิสรภาพของชาติไทยให้รอดพ้นจากการรุกรานย่ำยีของพวกขอม เมื่อประมาณ ๑,๐๐๐ กว่า ปีล่วงมาแล้ว ในสมัยอาณาจักรโยนกหรืออำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของเวลา แต่ละตำราจะเขียนไว้ไม่เหมือนกัน ในที่นี้จะขอยึดข้อมูลจากหนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดเชียงราย ซึ่งเอา "ตำนานสิงหนวัติฉบับสอบค้น" มาเป็นหลักอ้างอิง กล่าวคือย้อนไปเมื่อ พ.ศ.๑๔๖๐ ในรัชสมัยของ พระเจ้าพังคะ หรือ พระองค์พัง กษัตริย์องค์ที่ ๔๓ แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ ได้ถูกพวกขอมขับไล่จากเมืองโยนกพันธุ์ไปอยู่เมืองเวียงสี่ตวง ใกล้น้ำแม่ใส จนกระทั่ง ๔ ปีต่อมา หรือเมื่อ พ.ศ. ๑๔๖๔ มเหสีของพระองค์ไปประสูติโอรสคนที่ ๒ มีการขนานนามว่า "พระเจ้าพรหมกุมาร"

ในตำนานได้กล่าวถึงประวัติตอนปฐมวัยของ "พระเจ้าพรหมกุมาร" เต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ เช่น เมื่อพระองค์มีพระชันษาได้๗ ปี ก็สามารถเล่าเรียนวิชาเพลงอาวุธและตำราพิชัยสงคราม จนจบครบถ้วนกระบวนความ หรือเมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ ๑๓ ปี ได้ทรงสุบินว่า มีเทพยดามาบอกว่า จะมีช้าง ๓ ตัวล่องน้ำโขงมา และให้เจ้าพรหมกุมารไปล้างหน้าที่นั่น หากจับช้างตัวแรกได้จะมีอานุภาพปราบได้ทั้ง ๔ ทวีป ถ้าจับได้ตัวที่ ๒ จะมีอานุภาพได้ชมภูทวีป ถ้าจับได้ตัวที่ ๓ จะปราบแว่นแคว้นล้านนาได้

พอรุ่งเช้า เจ้าพรหมกุมารจึงได้พาบริวารประมาณ ๕๐ คน ไปยังท่าน้ำ ครั้งแรกเห็นงูเหลือมเลื่อมเป็นมันระยับลอยผ่านไปแล้ว ๑ ตัว พอตัวที่ ๒ ก็เป็นงูอีกเหมือนกัน พอตัวที่ ๓ เจ้าพรหมกุมารจึงทรงนึกถึงเรื่องในสุบินนั้นคงเป็นงูนี่เอง จึงพร้อมกับบริวารช่วยกันจับงู เมื่อเจ้าพรหมกุมารสามารถขึ้นขี่ งูก็กลายเป็นช้างไปทันที แต่ไม่ยอมขึ้นฝั่ง จนกระทั่งบริวารต้องเอาพานทองคำตีล่อ ช้างจึงยอมขึ้นจากน้ำ และมีการเรียกชื่อว่า "ช้างพานทองคำ" พระเจ้าพรหม ทรงมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความสามารถและโปรดในการสงคราม เมื่อสามารถเตรียมกำลังไพร่พลได้อย่างเต็มที่แล้ว ก็ทูลพระบิดาให้เลิกการส่งส่วยแก่ขอม พวกขอมจึงยกทัพขึ้นไปปราบ พระเจ้าพรหมก็คุมกำลังออกต่อสู้และขับไล่พวกขอมจนแตกพ่าย สามารถยึดเมืองโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติคืนได้เมื่อ พ.ศ.๑๔๗๙ ในขณะที่พระองค์มีพระชันษาได้เพียง ๑๖ ปีเท่านั้น สำหรับช้างพานทองคำ เมื่อเสร็จสงครามก็ได้หายไปทางดอยลูกหนึ่ง ซึ่งต่อมาเรียกว่า "ดอยช้างงู" แต่ชาวเขาเผ่าอีก้อออกเสียงไม่ชัดเจน เรียกว่า "ดอยสะโง้" และได้เรียกเพี้ยนมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนพระเจ้าพรหม เมื่อได้อัญเชิญพระบิดามาครองเมืองโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองโยนกชัยบุรีแล้ว พระองค์ก็นำทัพไปขับไล่ขอมจนถึงเมืองกำแพงเพชร จนหมดเชื้อชาติขอมในอาณาจักรโยนกแล้วจากนั้นพระองค์ก็ได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เมืองอุมงคลเสลาเก่า เมื่อ พ.ศ. ๑๔๘๐ เพื่อเป็นด่านหน้าคอยป้องกันพวกขอมยกทัพกลับมาตีอีก และเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่เป็น "เมืองไชยปราการ" ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอชัยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ นั่นเอง พระองค์ได้ครองเมืองไชยปราการได้ ๕๙ ปี ก็เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ.๑๕๔๐ ต่อมาได้มีการขนานนามพระองค์ว่า "พระเจ้าพรหมมหาราช" นับเป็นมหาราชองค์แรกของชาติไทย.-

พิธีบวงสรวงพระเจ้าพรหมมหาราช ปี 2554
<a href="http://www.youtube.com/watch?v=fJISYcVqhWY" target="_blank">http://www.youtube.com/watch?v=fJISYcVqhWY</a>

รูปประกอบ
พระบรมราชานุสาวรีย์ พระเจ้าพรหมมหาราช ประทับยืนบนฐานสูงพระหัตถ์ซ้ายทรงธนู ซึ่งอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

ขอขอบคุณ เชียงรายโฟกัส
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 03, 2012, 01:37:40 PM โดย ฮักล้านนา »
กำเมือง ถ้าคนเมืองบ่อู้แล้วไผจะอู้