รับซื้อเพชร

ทางเว็บไม่อนุญาตให้โพสโฆษณา ประชาสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในเว็บไซต์ หากพบทางเว็บจะทำการลบทันที


มังรายศาสตร์ กฎหมายพญามังราย

  • 0 ตอบ
  • 20854 อ่าน
*

ออฟไลน์ ฮักล้านนา

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • 674
  • 306
    • ดูรายละเอียด
    • วัดร่องขุ่น
มังรายศาสตร์ กฎหมายพญามังราย
« เมื่อ: มกราคม 03, 2012, 11:53:31 AM »
มังรายศาสตร์

มังรายศาสตร์ หรือ กฎหมายพญามังราย เป็นกฎหมายเก่าแก่ที่สุด แห่งอาณาจักรล้านนา เป็นกฎหมายที่พัฒนาขึ้นมาจากระเบียบแบบแผน ขนบธรรมเนียมท้องถิ่นศาสนาและจารีตประเพณีที่สั่งสมกันมาจนเป็นระบบ มีการแบ่งหมวดหมู่และลักษณะเด่น ในด้านหลักความคิดทางกฎหมายใกล้เคียงกับความคิดของกฎหมายสากลอื่น ๆ เมื่อเป็นกฎหมายที่พัฒนาขึ้นมาจากจารีตประเพณี จึงสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชนล้านนาเป็นอย่างดี

มังรายศาสตร์นี้เป็นที่ยอมรับกันอยู่โดยทั่วไปแล้วว่าเป็นกฎหมายเก่าแก่ที่สุดแห่งอาณาจักรล้านนา ซึ่งกษัตริย์ล้านนาได้ใช้กฎหมายฉบับนี้ปกครองบ้านเมืองมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 700 ปี นับตั้งแต่พระญามังรายได้ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1839 เป็นต้นมา

อาจกล่าวโดยสรุปถึง ข้อบทกฎหมายในมังรายศาสตร์ ได้ดังนี้

หมวดที่ว่าด้วยการปกครอง

การบังคับบัญชาตามลำดับขั้น

สายการบังคับบัญชา ได้กำหนดจำนวนอัตราขั้นต่ำขึ้นไปตามลำดับ ดังนี้

ไพร่ 10 คน ให้อยู่ในการบังคับบัญชาของนายสิบ 1 นาย

นายสิบ 2 นาย ให้อยู่ในการบังคับบัญชาของนายห้าสิบ 1 นาย

นายห้าสิบ 2 นาย ให้อยู่ในการบังคับบัญชาของนายร้อย 1 นาย

นายร้อย 10 นาย ให้อยู่ในการบังคับบัญชาของเจ้าพัน 1 นาย

เจ้าพัน 10 นาย ให้อยู่ในการบังคับบัญชาของเจ้าหมื่น 1 นาย

เจ้าหมื่น 10 นาย ให้อยู่ในการบังคับบัญชาของเจ้าแสน 1 นาย

หมวดที่ว่าด้วยการศึกสงคราม

เมื่อบ้านเมืองมีศึกสงคราม กฎหมายได้ระบุโทษของการหลบหนีจากงานศึก ดังนี้

ไพร่ หลบหนีจากผู้บังคับบัญชาคือนายสิบ เมื่อจับไพร่ได้ ให้ประหารชีวิตเสีย

นายสิบ หลบหนีจากนายห้าสิบ ให้ประหารชีวิตนายสิบเสีย

นายห้าสิบ หลบหนีจากนายร้อย ให้ประหารชีวิตนายห้าสิบเสีย

นายร้อย หลบหนีจากเจ้าพัน ให้ประหารชีวิตนายร้อยเสีย

เจ้าพัน หลบจากเจ้าหมื่น ให้ประหารชีวิตเจ้าพันเสีย

เจ้าหมื่น หลบหนีจากเจ้าแสน ให้ประหารชีวิตเจ้าหมื่นเสีย

เจ้าแสน หลบหนีจากพระเจ้าแผ่นดิน ให้ประหารชีวิตเจ้าแสนเสีย

นอกจากนั้นยังให้ริบทรัพย์ทั้งหมด ให้ประหารชีวิตเจ้าแสนเสียเพราะไม่ซื่อสัตย์ เจ้านายไม่รับเลี้ยง เป็นการประจานให้อับอาย และเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่คนทั้งหลาย ในทางกลับกัน หากผู้เป็นนาย หลบหนีละทิ้งผู้ใต้บังคับบัญชาในสมรภูมิเช่นนี้ ก็ให้ประหารชีวิตนายผู้หลบหนีผู้นั้นเสียเช่นกัน แต่หากผู้นั้นมีคุณความดีมากมาก่อน ก็สมควรลดโทษให้ โดยการสักที่หน้าผากแล้วปล่อยตัวไป ไม่ประหารการประจานเช่นนี้ร้ายกว่าตายเสียอีก

การปูนบำเหน็จรางวัล

หากทหารผู้ใดมีความกล้าหาญ เป็นที่ประจักษ์และเสียชีวิตในสมรภูมิ ให้รับอุปการะบุตรภรรยาเพื่อสืบเชื้อสายของทหารหาญผู้นั้น หากทหารผู้ใดได้ทำความชอบในการรบ ได้ตัดศรีษะข้าศึกที่มีตำแหน่งสูงกว่าตนขึ้นไป ก็ให้ดำรงตำแหน่งสูงนั้นพร้อมทั้งพระราชทานภรรยา เครื่องประกอบยศ และเครื่องประดับทองคำเป็นรางวัล สำหรับผู้ที่ทำความชอบ หากทหารผู้ใดไม่ได้ศรีษะเข้าศึกมา แต่กล้าหาญในการรบเป็นที่ประจักษ์ ก็พระราชทานรางวัลและตำแหน่ง ยศ บรรดาศักดิ์ เช่นกัน

มรดกเสนาอำมาตย์

หากเสนาอำมาตย์ผู้ใดประพฤติดีทำคุณประโยชน์ต่อบ้านเมือง ได้ถึงแก่กรรมไปในขณะปฏิบัติราชการอยู่นั้น ให้แบ่งปันมรดกตามคำสั่งของผู้ตาย หากไม่ได้สั่งความไว้ ให้แบ่งทรัพย์สินของผู้ตายเข้าคลังหลวงครึ่งหนึ่ง ไว้ให้แก่บุตรภรรยาครึ่งหนี่ง ทายาทของผู้ตายไม่ว่าหญิงหรือชาย พระเจ้าแผ่นดินรับชุบเลี้ยงเพราะเป็นเชื้อสายของคนดี แม้ทำผิด 2-3 ครั้ง ก็ไม่ควรประหารชีวิต ให้เห็นแก่ความดีของบรรพบุรุษ ให้ว่ากล่าวตักเตือน หากโทษหนักไม่อาจสั่งสอนได้ ก็ให้ลงโทษตามความผิดนั้น ๆ ได้

การผลัดเปลี่ยนเข้ารับราชการทหาร

กำหนดให้ไพร่มีการผลัดเปลี่ยนการเข้ารับราชการทหารเพื่อให้ได้อยู่บ้านทำมาหาเลี้ยงชีพ โดยกำหนดไว้ว่า ช่วงเวลา 10 วัน ให้มีโอกาสทำงานของตน

หมวดที่ว่าด้วยการเก็บภาษี

เมื่อมีผู้ไปกู้เงินมาลงทุน เจ้าของเงินจะเรียกเก็บดอกเบี้ยได้ต่อเมื่อครบกำหนด 3 ปีไปแล้ว ผู้ใดขยันทำให้ที่ดินว่างเปล่าเป็นประโยชน์ ควรให้ทำต่อไปจนครบ 3 ปีแล้วจึงเก็บภาษี ผู้ใดสร้างบ้าน สวน นา ครบ 3 ปีแล้ว จึงควรเรียกเก็บภาษี

การแย่งชิงที่ดิน

หากมีผู้ใดใช้อำนาจเงิน จ้างวานจ้าหน้าที่ที่เป็นพนักงานที่ดินดำเนินการแย่งชิงเอาที่ดินจากผู้บุกเบิกแต่ดั้งเดิม กฎหมายนี้กำหนดว่าอย่าให้ที่ดินนั้นแก่ผู้ชิง เปรียบผู้ชิงคือคนบาป อย่าให้คนเช่นนี้มีอิทธิพลมาก เพราะคนดีจะหมดกำลังใจในการสร้างบ้านเมือง บ้านเมืองก็จะเสื่อมทรามไปในที่สุด

หมวดที่ว่าด้วยการกำหนดลักษณะไพร่และข้า

ห้ามผู้ที่เป็นขุนนางนำไพร่ (คนที่เป็นไท) มาเป็นข้า (ทาส)

รับใช้ โดยเฉพาะไพร่ 4 ลักษณะ ดังนี้

?  ผู้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

?  ผู้ที่มีคดีติดตัว

?  ผู้ประพฤติตัวเป็นโจร

?  ผู้ที่ละทิ้งหน้าที่ราชการ

ผู้ใดเป็นไพร่แต่เอาตัวไม่รอด ได้เข้าไปเป็นข้ารับใช้ขุนนาง เมื่อพ่อแม่ตายลง ควรแบ่ทรัพย์สินให้เท่าที่ผู้ตายสั่งไว้ ถ้าไม่ได้สั่งก็ไม่ควรให้ เพราะเขาเอาตัวไม่รอด ซ้ำจะพาพี่น้องได้รับความลำบากไปด้วย

สถานภาพของไพร่และข้า

หากข้าหรือทาสแต่งงานมีลูกกับไพร่ กฎหมายกำหนดว่าลูกที่เกิดมานั้น ดำรงสถานภาพเป็นไพร่ แม้พ่อหรือแม่จะเป็นข้าก็ตาม เพราะไพร่พลเมืองหายาก

ลักษณะขุนนาง

กฎหมายนี้บ่งว่าในโลกนี้มีขุนนาง 2 ลักษณะ คือ

?  ขุนธรรม คือ ขุนนางผู้ที่ประกอบด้วยสังคหวัตถุ 4

?  ขุนมาร คือ ผู้ที่ไม่ประกอบด้วยสังคหวัตถุ 4

กฎหมายไม่ให้สนับสนุนขุนมาร และเปรียบเสมือนต้นพืชที่เป็นยาพิษเกิดขึ้นกลางเมือง หากมีลูกมีหลานก็จะทำลาย ทำร้ายบ้านเมือง ควรเอาแบบอย่างขุนธรรม

หมวดที่ว่าด้วยการงดโทษและลงโทษกรณีต่าง ๆ

ผู้ใดฆ่าผู้กระทำผิด กฎหมายนี้ให้งดโทษ โดยเฉพาะผู้กระทำผิดในกรณีต่อไปนี้

?  สามีฆ่าภรรยาและชู้

?  เจ้าทรัพย์ฆ่าผู้ลักทรัพย์ขณะทำการ

?  เจ้าของบ้านฆ่าผู้ถืออาวุธจะเข้ามาฆ่าตนในบ้าน

?  เจ้าของบ้านฆ่าผู้บุกรุกในยามวิกาล

?  เจ้าของบ้านฆ่าผู้ที่กำลังขว้างปาหรือทำลายบ้านเรือน แต่หากจับมัดและฆ่า ผู้ฆ่านั้นต้องได้รับโทษ

เมื่อมีการจับกุมผู้ต้องหา ไม่ว่าโทษหนักหรือเบา ผู้ร้ายกลับถืออาวุธต่อสู้หรือหลบหนีไป ผู้ใดได้ฆ่าคนร้ายตาย กรณีนี้ไม่ถือว่าผู้ฆ่ากระทำผิด

หากผู้ร้ายยอมจำนนแล้วแต่วิ่งหนีไปโดยไม่มีอาวุธ เมื่อจับได้ไปผูกมัดไว้ อย่าฆ่า ผู้ใดฆ่า ถือว่าผู้นั้นมีความผิด หากจับกุมผูกมัดผู้ร้ายไว้แล้ว ไม่นำตัวมาให้เจ้าขุนพิจารณา แต่กลับฆ่าผู้ร้ายนั้น ผู้ฆ่ามีความผิด

ลักษณะโทษที่ผู้กระทำต้องงถูกประหารชีวิต

?  ได้ฆ่าผู้ที่ไม่มีโทษ ไม่มีความผิด ?  ล่อลวงผู้อื่นไปฆ่าเพื่อชิงทรัพย์ ?  ทำลายศาสนสมบัติ ?  ดักทำร้ายผู้อื่นขณะเดินทาง

?  จี้ ปล้น ผู้อื่น ?  ลักสิ่งของมีค่าของท้าวพระญามาไว้ในเรือนตน ?  ลักขโมยทรัพย์สินของพระสงฆ์ ?  ฆ่าพระสงฆ์

?  ลูกฆ่าพ่อแม่ ?  น้องฆ่าพี่ ?  ข้าฆ่านาย ?  ภรรยาฆ่าสามี

ทั้ง 12 ข้อ ถือเป็นโทษหนัก

การตัดสินคดีความโทษหนัก มี 3 สถาน

?  ประหารชีวิต

?  ตัดอวัยวะ

?  ขายเป็นทาสที่เมืองอื่น

ผู้ที่จะพิจารณาตัดสินคดีให้คำนึงถึงเหตุ 4 ประการ

?  พิจารณาดูสถานภาพของทรัพย์สินว่ามากน้อย ดีเลว เพียงใด

?  พิจารณาดูน้ำหนักถ้อยคำว่าหนักเบาเพียงใด

?  พิจารณาดูเวลาที่เสียทรัพย์สินนั้น หากสูญเสียเมื่อราคาถูก หากสูญเสียขณะราคาแพง ก็พิจารณาตัดสินความเวลาของแพง

?  พิจารณาการทะเลาะวิวาทว่าใช้เวลามากหรือน้อยอย่างไร เกิดขึ้นเวลาใด เช้าหรือค่ำ

การตัดสินคดีให้ยึดถือปฏิบัติตามผู้รู้ทั้งหลาย และยกตัวอย่างการตัดสินคดีของตุลาการ ผู้มีวิจารณ์ญาณว่าจะไตร่ตรองดูฐานะทั้ง 5 คือ สิ่งของ เวลา สถานที่ ราคา และการชดใช้แล้วจึงจะตัดสิน

อ้างอิง

http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=20b647e846d346e9

ชัปนะ ปิ่นเงิน, การปริวรรตและวิเคราะห์เนื้อหากฎหมายมังรายศาสตร์ฉบับวัดแม่คือ. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551

นิภาพรรณ ไชยมงคล, นิติปรัชญาในมังรายศาสตร์. เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2531

ประเสริฐ ณ นคร ผู้ปริวรรต, มังรายศาสตร์ : ฉบับเชียงหมั้น : ต้นฉบับวัดเชียงหมั้น อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่, 2528

ประเสริฐ ณ นคร ผู้ปริวรรต, มังรายศาสตร์ (ฉบับนอตอง). เชียงใหม่ : วิทยาลัยครูเชียงใหม่, 2524

พิธินัย ไชยแสงสุขกุล, กฎหมายครอบครัว : เปรียบเทียบกฎหมายมังรายศาสตร์กับกฎหมายตรา 3 ดวง. กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2528

มังรายศาสตร์ : ภาคปริวรรต. (พิมพ์ครั้งที่ 2) เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2526

ศรีธน คำแปง ปริวรรต, มังรายศาสตร์ : ฉบับวัดไชยสถาน : ต้นฉบับวัดไชยสถาน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูเชียงใหม่, 2529

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ผู้ปริวรรต, มังรายธรรมศาสตร์. เชียงใหม่ : [ม.ป.พ.], 2526

ขอขอบคุณ เชียงรายโฟกัส และ คุณ เชียงรายพันธุ์แท้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 06, 2012, 02:20:15 PM โดย ฮักล้านนา »
กำเมือง ถ้าคนเมืองบ่อู้แล้วไผจะอู้