“หนานทิพย์ช้าง” หรือ พระยาสุลวะลือไชยสงคราม (พ่อเจ้าทิพย์ช้าง) ถือเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ล้านนา อยู่ในช่วง พ.ศ. 2275 (จุลศักราช 1094) – พ.ศ. 2302 (จุลศักราช 1121) ผู้สร้างวีรกรรมที่หาญกล้ากอบกู้บ้านเมือง ปราบกองทัพพม่าผู้รุกราน จนแตกพ่ายไปในครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พร้อมสถาปนาความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้แก่นครลำปางและหัวเมืองฝ่ายเหนือ
ชื่อของ “หนานทิพย์ช้าง” ถูกยกย่องบูชาให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครลำปาง ผู้คนต่างเรียกขานในอีกนามหนึ่งว่า “พระยาสุลวะลือไชยสงคราม” หรือ “พ่อเจ้าทิพย์ช้าง” สำหรับบางคนก็เรียกว่า “เจ้าพ่อทิพย์ช้าง” มีพุทธคุณทางเมตตามหานิยม สิ่งสำคัญที่ชื่อของหนานทิพย์ช้าง ถูกยกย่องในทางนี้ก็คงจะเป็นเพราะ ท่านเป็นชายชาตรีผู้เปี่ยมไปด้วยความรักชาติ กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว มีร่างกายแข็งแรงกำยำแล้ว ยังเป็นผู้มีความสามารถในการใช้อาวุธ และเชี่ยวชาญด้านคาถาอาคม
มีเรื่องเล่าแบบมุขปาฐะ เรื่องหนึ่งว่า… ในแคว้นล้านนาสมัยของเจ้าหนานติ๊บจ๊าง (ทิพย์ช้าง) ต้นตะกูล ทิพย์ช้างเชื้อเจ้าเจ็ดตน หลักฐานยังอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ท่านเป็นปู่ของ เจ้าชีวิตอ้าว เจ้าหลวงเชียงใหม่ ตามประวัติว่า ถ้าท่านอุทานว่า “อ้าว” เมื่อไหร่ต้องจับประหารเมื่อนั้น หนานติ๊บจ๊างมีอาจารย์อยู่ท่านหนึ่ง ซึ่งท่านนับถือมากเป็นคนประสิทธิประสาทคาถาทั้งหลายทั้งมวลให้ วันหนึ่งท่านเรียกหนาน เข้าไปหาและบอกว่าจะให้ของดี มันเป็นคาถา แต่ไม่มีชื่อเรียก มี 8 คำ เมื่อเจ้าหนานท่องจนขึ้นใจแล้ว จึงทดสอบความขลัง โดยให้ทหารถือปืนแล้วมาอยู่ใต้ต้นตาลให้มากที่สุด จากนั้นเจ้าหนานก็ขึ้นไปอยู่ยอดต้นตาล แล้วสั่งให้ทหารยิง ทหารยิงเท่าไหร่ก็ไม่ถูกเจ้าหนานติ๊บจ๊างจนต้นตาลปลายด้วนหมด เจ้าหนานเลยตั้งชื่อ คาถาบทนี้ว่า “ยอดตาลหิ้น” และนี่เป็นเพียงเรื่องเล่าต่อๆ กันมา ไม่สามารถหาหลักฐานใดๆ ยืนยันได้ กล่าวโดยสรุปก็คือ คาถาตาลหิ้น หรือที่เรียกกันต่อมาว่ายันต์ฟ้าฟีก เป็นพระคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งยวดในวัฒนธรรมความเชื่อล้านนา เป็นการดึงเอาหัวใจของพระคาถาไจยะเบงชร (ชินบัญชร) ออกมา 8 อักขระ ว่าดังนี้ “ระ ตะ นัง ปุ ระ โต อา สิ” แล้วเอามาเขียนย่อเป็นยันต์ลงในแผ่นกระดาษหรือแผ่นผ้าขนาดสี่เหลี่ยม ฟ้าฟีกยันต์นี้ ถือเป็นยันต์ที่มีอานุภาพมากเรื่องแคล้วคลาด ป้องกันภัยภยันตรายต่างๆ และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ครูบาอาจารย์ทางเหนือใช้กันมาก แม้แต่ครูบาเจ้าศรีวิไชย สิริวิชโย ต๋นบุญแห่งล้านนายังใช้เป็นยันต์ประจำตัวองค์ท่าน ยันต์นี้ยังทำเป็นแผ่นติดเสาเรือนเพื่อกันไฟไหม้และกันฟ้าผ่าได้ฉมังยิ่งนัก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ขณะที่ หลวงพ่อเกษม เขมโก (นามเดิม เจ้าเกษม ณ ลำปาง) เป็นพระเถระและเกจิอาจารย์ ผู้เคร่งครัดในธุดงควัตร ปลีกวิเวก พุทธศาสนิกชนชาวไทยเคารพนับถือเป็นจำนวนมาก ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น หลวงพ่อได้เมตตาปลุกเสกเหรียญพระยาสุลวะลือไชยสงคราม (หนานทิพย์ช้าง) ขึ้นมา ให้ชาวลำปางได้ระลึกถึงพระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ในฐานะเจ้าผู้ครองนครลำปาง ผู้สร้างวีรกรรมกู้บ้านเมืองเขลางค์นครจากพม่าข้าศึก และปกครองนครลำปางให้ปกติสุขร่มเย็นตลอดมาจนสิ้นอายุขัย ถือได้ว่าเหรียญนี้ มีคุณค่าและมีราคาอย่างมากในปัจจุบัน
หลายยุคหลายสมัย กิติศัพท์ของหนานทิพย์ช้าง ถูกเชิดชู น้อมรำลึกถึงความกล้าหาญต่อๆกันมา ให้ลูกหลานได้จดจำอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น การนำประวัติหนานทิพย์ช้างมาแสดงเล่าเรื่องราว ในพิธีสำคัญๆ เพื่อเทิดพระเกียรติฯ และให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพ่อเจ้าหนานทิพย์ช้าง ที่ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาวล้านนาได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขตราบจนทุกวันนี้
หนานทิพย์ช้าง มีพระนามตามยศฐาบรรดาศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำปางว่า พระยาสุลวะลือไชยสงคราม เดิมเป็นสามัญชนชาวบ้านปงยางคก (ปัจจุบันคือ ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง) มีนามเดิมว่า “ทิพย์จักร” เกิดในราวปี พ.ศ. 2217 ได้บวชเรียนที่วัดปงยางคก และสึกออกมาประกอบอาชีพพรานป่า มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้อาวุธ มีความสามารถในการขับไล่และตัดหางช้างที่มารบกวนพืชผลของชาวบ้านได้ ชาวบ้านจึงขนานนามว่า “หนานทิพย์ช้าง”
ในช่วงปลายของกรุงศรีอยุธยา นครเชียงใหม่ และหัวเมืองล้านนาทั้งหมด ตกอยู่ในอำนาจของพม่า ทำให้ราษฎรบ้านแตกสาแหรกขาด ทั้งเจ้าขุนมูลนายต่างหลบหนีตายเข้าป่าไปจำนวนมาก ส่วนนครลำปาง (สมัยก่อนเรียกว่า เมืองลคอร) นั้น เป็นนครรัฐอิสระ และพม่ายังมิได้ส่งผู้แทนมาปกครองเหมือนหัวเมืองอื่นๆ ส่วนทางเชียงใหม่มีเจ้าองค์นก หรือ องค์ดำ ราชวงศ์เชียงใหม่-หลวงพระบาง พยายามรวบรวมกำลังต่อสู้กับพม่า แต่ทางเมืองลำปางขณะนั้นยังขาดผู้ปกครองบ้านเมือง กล่าวคือ มีข้อมูลบางแหล่งแจ้งว่า ทายาทของกษัตริย์ผู้ปกครองนครลำปางที่สิ้นไปคือ “เจ้าลิ้นก่าน” ยังทรงพระเยาว์อยู่ เป็นเหตุให้ชาวลำปางจำเป็นต้องตั้งขุนเมือง 4 คน เป็นผู้สำเร็จราชการแทนเป็นการชั่วคราว คือ แสนหนังสือ, แสนเทพ, นายเรือน และจเรน้อย ซึ่งบางแหล่งก็แจ้งว่า เจ้าลิ้นก่านต้านทานอิทธิพลของพม่าไม่ไหว จึงหนีไปตั้งหลักอยู่ประตูผาเป็นชั่วคราว แต่มีข้อมูลจดบันทึกไว้ที่ตรงกันก็คือ ขุนเมืองทั้ง 4 มุ่งแต่จะแก่งแย่งอำนาจกัน จึงปกครองราษฎรไม่ปกติสุข ความเดือดร้อนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าเขลางค์นคร เร่าร้อนเป็นไฟทั่วใบหน้า
เรื่องราวการแก่งแย่งอำนาจของขุนเมืองทั้ง 4 และการแผ่อิทธิพลของพม่า ร้อนไปถึงพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดนายาง (ตั้งอยู่ในเขตอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง) สมัยนั้น ราว พ.ศ. 2332 ท่านเจ้าอาวาสวัดนายางรูปนี้ เป็นผู้มีวิชาอาคมเก่งกล้า ชาวบ้านเคารพและนับถือสมัครเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก อีกทั้ง พระภิกษุทั้ง วัดสามขา และ วัดบ้านฟ่อน ต่างก็สมัครใจขอสึกออกมาเพื่อกู้บ้านกู้เมือง มีตำแหน่งเป็นเสนาซ้าย-ขวา คอยฟังคำสั่งของเจ้าอาวาสวัดสามขาในการจู่โจมศัตรู โดยได้รวบรวมผู้คนตั้งตนเป็นกองกำลังอิสระ เพื่อหวังจะแก้ไขปัญหาบ้านเมือง พร้อมทั้งฟาดฟันกองทัพพม่าให้ดับสิ้น จนข่าวนี้เล็ดลอดไปถึงหูท้าวมหายศ ซึ่งเป็นชาวพม่าที่มาครองเมืองลำพูน จึงได้ยกกองทัพมายังนครลำปางด้วยตนเอง หวังจะปราบพระภิกษุที่ลาสิกขาบทออกมารวมเป็นกองกำลังต่อต้านทัพพม่าให้หมดสิ้น เมื่อทราบข่าวจะต้องรับศึกครั้งนี้ ท่านเจ้าอาวาสวัดนายาง เสนาวัดสามขา และเสนาวัดบ้านฟ่อน จึงได้คุมสมัครพรรคพวกออกต่อสู้กองทัพท้าวมหายศ เมืองลำพูน โดยมิได้ย่อท้อ การซุ่มรบแบบกองโจรครั้งนั้นดุเดือดอย่างมากที่บริเวณทุ่งป่าตัว (บ้านป่าตัน เขตตำบลปงแสนทอง อ.เมือง จ.ลำปาง ) อนิจจังน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ เพราะกำลังพม่าข้าศึกมีมากกว่าไทยหลายเท่านัก ยิ่งสู้เหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ กองกำลังของเจ้าอาวาสวัดนางยางจึงได้แตกพ่าย บริวารขวัญหนีดีฝ่อวิ่งหนีตายไปทางทิศใต้ ในที่สุดเข้าไปหลบอยู่ในเขตคูกำแพง (วัดพระธาตุลำปางหลวง ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง) ทัพท้าวมหายศแห่งลำพูนได้ไล่ขยี้ตามไปติดๆ
ท่านเจ้าอาวาสวัดนายาง กับเสนาซ้าย-ขวา หนีเข้าไปภายในกำแพงวัดก่อน ส่วนอีกกองกำลังนึงออกไปต้านข้าศึกไว้ กองทัพพม่าลำพูนไล่ไปทัน จึงประจันบานกันระหว่างทาง ขณะนั้นท่านเจ้าอาวาสกับเสนาทั้งสองมีแต่ไม้กระทู้เสารั้วสวน ส่วนพม่าข้าศึกมีทั้งปืนทั้งดาบ แต่เหล่าวีรชนคนกล้าฝั่งท่านเจ้าอาวาสฯ ก็ได้ต่อสู้กันอย่างประชิดตัว ไม่มีใครรักตัวกลัวตาย ใครดีก็อยู่ ใครไม่สู้ก็ตาย จนพวกพม่าลำพูนเกือบจะปราชัยอยู่แล้วทีเดียว บังเอิญท่านเจ้าอาวาสวัดนายางถูกระสุนที่หว่างคิ้ว แม้มันไม่ระคายผิว แต่ความแรงก็ทำให้ปวดบวมมองอะไรไม่เห็น จึงถูกพม่ารุมตีฟันแทงจบจนบอบช้ำไปหมดเซถลาลง ฝ่ายเสนาวัดบ้านฟ่อนได้รับบาดเจ็บที่หางตาซ้าย เสนาวัดสามขาบาดเจ็บที่หัวเข่าต่างหมดแรง แม้ร่างกายไม่มีรอยบาดแผลก็จริง ก็ล้มหมดแรงสิ้นลมปราณกันทั้งสามคน สู้กับข้าศึกเป็นร้อย น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ จึงถึงแก่กรรมอย่างองอาจกลางสมรภูมิในที่สุด
เมื่อได้ชัยชนะแล้วท้าวมหายศพม่าลำพูนได้นำพลไปฉลองชัยในเขตกำแพงพระธาตุลำปางหลวง ให้ทหารตระเวนเกณฑ์เก็บภาษีอากร และยึดข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงกันอย่างอิ่มหมีพลีมัน บ้านเรือนใดมีสาวสวยเมียงามไม่พูดพล่ามทำเพลง หรือเกรงใจเลยสักนิด จับมาสมสู่ ใครขัดขืนก็ถูกฟันแทงฆ่าตายเป็นว่าเล่น ได้สุรานารีมาแล้วก็ดื่มอย่างสนุกสนานภายในเขตวัด ไม่ยำเกรงนรกหมกไหม้ ทั้งๆ ที่เป็นชาวพุทธ เป็นที่เวทนาเป็นอย่างยิ่ง ชาวนครลำปางเดือดร้อนกันไปทั่วกลียุค เกิดเพราะน้ำมือของพม่าข้าศึกคราวนั้นน่าเวทนายิ่งนัก
ท้าวมหายศไม่หยุดอยู่แค่นี้ สั่งให้ทหารทั้ง 3 ของตน มีนามว่า หาญฟ้าแมบ, หาญฟ้างำ และหาญฟ้าฟื้น ให้ทำทีนำสารไปเจรจาความเมืองกับขุนนางทั้ง 4 ของลำปางขณะนั้น ซึ่งมี แสนหนังสือ แสนเทพ แสนบุญเรือน และจเรน้อย ขณะเจรจากับพม่าพยายามเอาเปรียบทุกวิถีทาง ในที่สุดจเรน้อยไม่ยอม บอกว่าสมควรจะอัญเชิญเจ้าลิ้นก่านเจ้าเมืองเขลางค์นครที่อยู่ดอยประตูผามาเป็นประธานด้วย ฝ่ายพม่าเห็นว่าไม่ได้การจึงชักดาบออกไล่ฟันแทงขุนนางทั้งสี่ล้มตายเกือบหมด เหลือเพียงจเรน้อยกับบริวาร 2 – 3 คน ลี้ภัยไปหาเจ้าลิ้นก่านที่ดอยประตูผา ส่วนชาวบ้านต่างหนีตายกันคนละทิศละทาง ไปอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น เมืองลอง, เมืองจีบ, เมืองต้า, เมืองเมาะ, เมืองจาง ทางด้านท้าวมหายศ แม่ทัพพม่าลำพูน เมื่อฆ่าขุนนางทั้งสามได้แล้วก็ยังไม่สบายใจ เพราะหนีไปได้หนึ่งคน คือจเรน้อย จึงสั่งให้ลูกน้องไปสืบมาว่าจเรน้อยหนีไปกบดาลอยู่แห่งไหน เมื่อลูกน้องสืบจนได้ความ จึงเร่งแจ้งท้าวมหายศว่า จเรน้อยหนีไปหาเจ้าลิ้นก่านโน้น หากปล่อยไว้ก็จะเป็นหนามยอกอก ปกครองนครลำปางไม่ราบลื่นแน่ ท้าวมหายศจึงสั่งการออกไปทันที ให้ 3 ทหารเสือของตน คือ หาญฟ้าแมบ, หาญฟ้าง้ำ และหาญฟ้าฟื้น ยกทัพพม่าลำพูนตามไปกำจัดเจ้าลิ้นก่านและบริวารทั้งหมดให้เสียสิ้นอย่าได้ช้า
ทหารพม่าจึงกรีฑาทัพไปยังดอยประตูผา หมายจะเผด็จศึกปลิดชีพทั้งเจ้าลิ้นก่านและจเรน้อยให้สิ้นซากไปพร้อมๆกัน แต่เจ้าลิ้นก่านธรรมดาซะที่ไหน ท่านก็มียอดขุนพลคู่ใจคือ “พญามือเหล็ก” นักรบที่เก่งทั้งการต่อสู้ เก่งทั้งด้านอาคมป้องกันตัว ที่แห่งนี้นี่เองได้ถูกจารึกชื่อพญามือเหล็กผู้หาญกล้า ปกป้องผู้เป็นนายตนเองด้วยชีวิต จนตีทัพพม่าแตกกระเจิงไม่เป็นท่า แต่ก็น่าแสนเศร้านักที่พญามือเหล็กทนร่างกายที่บอบช้ำจากการต่อสู้ไม่ไหว ทำให้สิ้นใจคาสนามรบจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต ในลักษณะมือถือดาบคู่ยืนพิงเชิงเขาที่ช่องประตูผา นี่แหละที่เขาเรียกว่าชาตินักรบตัวจริง ชื่อของพญามือเหล็ก จึงกลายเป็นตำนานที่คนกราบไหว้บูชา และถูกเรียกขานกันต่อๆ กันมาว่า “เจ้าพ่อประตูผา”
หลังจากการรบที่ดอยประตูผา เมืองลำปางครั้งนั้นถือเป็นเมืองร้าง หาคนอยู่อาศัยไม่มีเพราะเกรงข้าศึกพม่าจะมาทำร้าย ในเวลาต่อมาต้นปี พ.ศ. 2234 มีพระมหาเถรรูปหนึ่ง เป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดพระแก้วชมพู (ในสมัยนี้เรียกว่า วัดพระแก้วดอนเต้า) ท่านชำนาญโหราศาสตร์ คิดจะขออาสาเข้าปราบพม่า จึงซ่องสุมผู้คนที่คิดกู้บ้านกู้เมือง ปรากฏว่ามีบริวารพอสมควร วันหนึ่งท่านจึงประกาศว่า “หาคนมาปราบพม่าบ่ได้ อาตมาจะสึกออกไปเป็นหัวหน้าปราบมันเอง”
บรรดาญาติโยมต่างห้ามปรามท่านไว้ เพราะขณะนั้นหาสงฆ์ติดวัดยากยิ่ง จึงตกลงให้ไปติดต่อเจ้าลิ้นก่านที่ดอยประตูผา เจ้าลิ้นก่านตอบว่ายังไม่พร้อม หากใครจะคิดการณ์อย่างไรก็ทำไปก่อนเถิด ซึ่งความจริงแล้ว เจ้าลิ้นก่านและบริวาร อาจกำลังคิดหาวิธีปราบพม่าอยู่ก็ได้ ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่แปลกที่นครลำปาง จะรกร้างว่างเปล่า หาผู้คนมาอาศัยน้อยเต็มที ที่มีอยู่มากก็จะมีที่เมืองจาง เพราะต่างกลัวพม่าลำพูนจะมาทำร้ายอีก
ม้าเร็วจึงส่งสารจากเจ้าลิ้นก่านไปแจ้งให้ท่านเจ้าอาวาส วัดพระแก้วชมพู และชาวบ้านก็ทราบถึงเหตุการณ์นี้ จึงนัดประชุมกัน มีชาวบ้านคนหนึ่งเดินมาบอกว่า “อันครูบาเจ้าก็ชำนาญโหราเลขผานาที หยังมาคิดคำง่ายมีแต่จะสึกๆ ข้าเจ้าคิดว่าลำปางยังบ่เสี้ยงคนดีเตื่อเจ้า” ท่านเจ้าอาวาสคิดได้จึงลองจับยามสามตาลงเลขผานาทีดูอีกสักครั้ง จนเห็นว่า “อันหลานกูผู้สามารถยังมีสูฮีบไปตวยมันมาหากูจิ่มเต๊อะ”
ในที่สุดคนจึงไปตามหาหนานทิพย์ช้าง ขณะนั้นมีชื่อจริงว่า “ทิพย์จักร” ซึ่งเคยบวชเรียนอยู่กับท่านเจ้าอาวาสวัดนายาง แล้วไปอยู่ปงยางคก (เขต อ.ห้างฉัตร) ไปได้เมียเป็นคนบ้านเอื้อม (เขต อ.เมืองลำปาง) มีวิชาอาคมขลัง สามารถใช้ปืนผาหน้าไม้ ไล่จับช้างดึงหางมันให้หลุดได้ มีอาชีพเป็นพรานป่าล่าสัตว์ ร่างกายกำยำล่ำสันสูงใหญ่ ชาวบ้านต่างขนานนามว่า “หนานทิพย์ช้าง”
เมื่อหนานทิพย์ช้างได้ไปเข้ากราบท่านเจ้าอาวาส วัดพระแก้วชมพู ผู้เป็นลุง ท่านเจ้าอาวาสฯ จึงไม่รอช้าถามทันทีเลยว่า “บ่าหนาน คิงจะสู้ กู้เมืองคืนจากพม่าได้ก่อ”(เจ้าหนาน เอ็งจะสู้ง กู้คืนเมืองจากพม่ามาได้ไหม?) หนานทิพย์ช้างจึงพนมมือวันทา แล้วตอบว่า “อันพม่าลำพูนก็เตียวดิน กิ๋นข้าวอย่างหมู่เฮา ข้าตึงบ่อกลัวสักน้อยเจ้า” (แปลได้ว่า อันเจ้าพวกพม่าลำพูนก็คนเดินดิน และกินข้าวอย่างเรา กระผมไม่รู้สึกกลัวสักนิดขอรับ) ท่านเจ้าอาวาสได้ยินดังนั้นก็รู้สึกภูมิใจในความเด็ดเดี่ยวรักชาติของเจ้าหนาน เกิดเป็นชายชาตรีอกสามศอก ถ้าไม่ปกป้องประเทศชาติก็เสียชาติเกิด จึงมอบบริวารให้ประมาณ 300 คน ให้หนานทิพย์ช้างเตรียมตัวไว้ ถ้าได้โอกาสดีเมื่อไหร่ ให้เร่งกู้อิสรภาพคืนจากพม่าลำพูนผู้ชั่วช้าเสียให้ได้ โดยมีข้อเสนอและคำมั่นสัญญาจากชาวบ้านชาวเมืองและเจ้าผู้ครองนครองค์เก่าว่า หากทำสำเร็จจะสถาปนาให้เป็นเจ้าครองเมืองลำปางต่อไป
หนานทิพย์ช้างจึงได้นำไพร่พล 300 คน ไปปราบกองทัพพม่าโดยซุ่มรออยู่ข้างนอกวัดพระธาตุลำปางหลวง เมื่อถึงเวลาฤกษ์งามยามดี ในตอนกลางคืนหนานทิพย์ช้างลอบเข้าไปในวัดทางท่อระบายน้ำ โดยปลอมเป็นคนลำพูนขอเข้าไปส่งข่าวให้แก่ทัพพม่าขณะนั้นท้าวมหายศกำลังนั่งดวลหมากรุกอยู่กับบริวารอย่างเพลิดเพลิน ทำให้หนานทิพย์ช้างมีโอกาศเดินแฝงตัวอยู่ในที่มืด เข้าไปใกล้ท้าวมหายศเพียงไม่กี่เมตร พอได้ระยะการยิงแล้ว จึงพูดเสียงดังๆ ขึ้นมาว่า
“เจ้าแม่ละปูนมีอาญาสั่งมาหาท้าวมหายศอยู่ไหน?”
ท้าวมหายศตอบว่า “กูมีนี่ (กูอยู่นี่!)”
หนานทิพย์ช้าง ไม่พูดพร่ำทำเพลง จึงยกปืนผาหน้าไม้ขึ้นเหนี่ยวไกใส่ท้าวมหายศทันที ลูกกระสุนปืนได้พุ่งทะลุผ่านร่างของท้าวมหายศ และได้ไปถูกกรงเหล็กที่ล้อมพระเจดีย์อยู่ในวัดพระธาตุลำปางหลวง (ปัจจุบันนี้ยังมีร่อยรอยรูกระสุนเป็นหลักฐานให้เห็นอยู่) จนท้าวมหายศสิ้นชีพคาวงหมากรุกทันที หลังจากนั้นหนานทิพย์ช้างได้หนีลอดออกมาทางท่อระบายน้ำทางเดิมอีกครั้ง และได้นำไพร่พล 300 คนที่ดักซุ่มอยู่ด้านนอก เร่งเข้าโจมตีข้าศึกจนแตกกระเจิง ครั้งนี้ทหารพม่าถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก
ในที่สุดหนานทิพย์ช้างยึดเมืองลำปางกลับคืนมาได้สำเร็จ พร้อมสถาปนาตนเป็นเจ้าทิพยจักรหลวง หรือ พระยาสุลวะลือไชยสงคราม (พ่อเจ้าทิพย์ช้าง) ปกครองบ้านเมืองด้วยความร่มเย็นเป็นสุข นับตั้งแต่ พ.ศ. 2275 (จุลศักราช 1094) นานถึง 27 ปี ก็ถึงแก่ทิวงคตในปี พ.ศ. 2302 (จุลศักราช 1121) รวมอายุได้ 85 ปี นับย้อนไปเมื่อตอนยิงท้าวมหายศในปีพ.ศ.2275 นั้น ท่านจะมีอายุราวๆ 58 ปี โดยได้มีโอรสธิดากับเจ้าแม่พิมพา (ภาษาเหนือ เรียก ปิมปา) รวมได้ 6 องค์ ถือเป็นต้นตระกูลของเจ้าเจ็ดตน ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของสกุล ณ ลำปาง, ณ ลำพูน, ณ เชียงใหม่
การกอบกู้ล้านนาจากพม่าสำเร็จลงได้ในรุ่นหลานของ “ทิพย์ช้าง” คือ เจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครลำปาง โอรสองค์ใหญ่ของ เจ้าฟ้าสิงหราชธานี ชายแก้ว ได้ร่วมกับอนุชาทั้ง 6 (รวมเรียกว่า “เจ้าเจ็ดตน”) และ “พระยาจ่าบ้าน” ขุนนางนครเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนทัพหลวงของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2317 ซึ่งในครั้งนั้นได้โปรดฯ ให้ “เจ้าพระยาจักรี (ร.1)”และ “เจ้าพระยาสุรสีห์ (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท)” ยกกองทัพไปช่วยปราบพม่า เมื่อยึดนครเชียงใหม่และนครลำปางได้แล้ว จึงโปรดฯ ให้ “พระยาจ่าบ้าน” ครองนครเชียงใหม่ และ “เจ้ากาวิละ” ครองนครลำปาง ซึ่งเชื้อสายเจ้าเจ็ดตนได้ครองนครลำปางจนถึง พ.ศ. 2465 ในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต
เพื่อเทิดพระเกียรติคุณของหนานทิพย์ช้าง ชาวลำปางได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์ พระยาสุลวะลือไชยสงคราม (พ่อเจ้าทิพย์ช้าง) หรือ หนานทิพย์ช้างขึ้น ภายในบริเวณวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม อำเภอเมืองลำปาง เป็นอนุสาวรีย์รูปปูนปั้นองค์ยืน ขนาดใกล้เคียงองค์จริง สองมือถือปืน ประทับในศาลาบริเวณลานหน้าวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม
รวมถึงที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ก็มีความสำคัญเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของหนานทิพย์ช้าง ดังปรากฏเป็นรอยกระสุนปืนให้เห็นกันที่บริเวณรั้วพระธาตุลำปางหลวง
หลายคนอาจจะสงสัยว่า กระสุนอะไรทำไมรุนแรงถึงขนาดทะลุเหล็กทองเหลืองของรั้ว ทั้งๆ ที่เมื่อสมัยสองร้อยกว่าปีก่อนยังเป็นยุคใช้ปืนแก๊ป ต้องอัดดินปืน ต้องอัดหัวกระสุนเหล็ก กว่าจะยิงแต่ละนัดก็ใช้เวลานาน นี่แสดงให้เห็นว่า หนาทิพย์ช้าง มีความเชี่ยวชาญทางด้านการใช้อาวุธปืนเป็นอย่างมาก และปืนแก๊ปสมัยนั้นก็มีอานุภาพ ยิงทะลุรั้วทองเหลืองได้ เป็นสิ่งที่ผู้คนยุคนี้อดทึ่งไม่ได้ จึงได้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์หนานทิพย์ช้าง หรือ พระยาสุลวะลือไชยสงคราม (พ่อเจ้าทิพย์ช้าง) บริเวณลานหน้าวัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ใครไปเที่ยววัดพระธาตุลำปางหลวงก็ไม่ควรพลาดชมในจุดนี้
อีกทั้งได้มีการสร้างอนุสาวรีย์เจ้าหนานทิพย์ช้างขึ้น ตั้งอยู่ที่ริมถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-งาว ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง และเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2527 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด ดังนั้น ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ของทุกปี เทศบาลนครลำปางและหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดลำปาง จะร่วมกันทำพิธีบวงสรวงพระยาสุลวะลือไชยสงคราม (พ่อเจ้าทิพย์ช้าง) ณ อนุสาวรีย์พระยาสุลวะลือไชยสงคราม
…ทั้งหมดนี้คือความยิ่งใหญ่ของ “หนานทิพย์ช้าง” มหาบุรุษกู้ชาติ กับความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว พร้อมหลักการปกครองที่เป็นธรรมจนชนะได้ทุกสิ่ง โดยเฉพาะจิตใจชาวลำปางมาจนถึงวันนี้.
ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ
http://www.geukma.com/634