รับซื้อเพชร

ทางเว็บไม่อนุญาตให้โพสโฆษณา ประชาสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในเว็บไซต์ หากพบทางเว็บจะทำการลบทันที


ครอกฟ้าศรีอโนชาฯ พระน้องนางแห่งเมืองเหนือ กับวีรกรรม “หงายเมือง”

  • 0 ตอบ
  • 351 อ่าน
*

ออฟไลน์ ฮักล้านนา

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • 684
  • 306
    • ดูรายละเอียด
    • วัดร่องขุ่น
ครอกฟ้าศรีอโนชาฯ พระน้องนางแห่งเมืองเหนือ กับวีรกรรม“หงายเมือง” จากกรุงธนบุรีสู่กรุงเทพฯ (๑)

เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

เรื่องราวของเจ้าครอกฟ้าศรีอโนชานั้นน่าสนใจยิ่งนัก เพราะเป็นสตรีผู้อยู่กึ่งกลางระหว่าง“ช้างเหนือ”กับ“เสือใต้” กล่าวคือ ได้มีการอุปมาอุปไมยเปรียบเปรย สองแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ของพระเจ้ากรุงธนบุรี คือ“พระญากาวิละ”กับ“เจ้าพระยาสุรสีห์”ว่ามีฉายาประดุจ “พระญาช้างแห่งเมืองเหนือ-พระญาเสือแห่งเมืองใต้” เรียกได้ว่าเป็นยอดนักรบที่ปราบข้าศึกอย่างเกริกไกรที่สุดในยุคสมัยนั้น ชนิดที่ว่าต่างก็มีฝีมือระดับพระกาฬเฉือนกันไม่ลง และช่างบังเอิญเหลือเกินที่สตรีแห่งล้านนานาม“เจ้าศรีอโนชา”ต้องมาอยู่ตรงกลาง ในฐานะเป็นพระน้องนางแห่งพระญากาวิละ พระเจ้ากรุงเชียงใหม่และเป็นอัครชายาของสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้าในรัชกาลที่ ๑)

ซ้ำช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เอกสารพงศาวดารหลายฉบับมีการกล่าวถึงเจ้านางองค์นี้ว่า มีส่วนช่วยปราบกบฏพระยาสรรค์อย่างเข้มแข็ง ด้วยวีรกรรมที่ใช้คำเพียงคำเดียวก็เห็นภาพอย่างอยู่หมัดว่า“หงายเมือง” นำไปสู่การอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเสด็จกลับจากการยกทัพไปปราบเขมร เพื่อปราบดาภิเษกราชวงศ์ใหม่
เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชาคือใคร ทำไมจึงมีนามฟังดูแปลกและแปร่ง มาพบรักกับเจ้าพระยาสุรสีห์(บุญมา-พระเจ้าเสือ-วังหน้า)ได้อย่างไร มาแบบเชลยการเมืองหรือมีจิตสนิทเสน่หาซึ่งกันและกันช่วงไหน

ข้อสำคัญ บทบาทของเจ้านางแห่งเมืองเหนือ สามารถช่วย“หงายเมือง”จากกรุงธนไปสู่กรุงเทพฯ ด้วยวิธีใด ทุกประเด็นล้วนแผงไปด้วยปริศนา

นามเจ้าครอก เจ้ารดจา ศิริรจนา มาได้อย่างไร
นามเดิมของพระนางนางแห่งช้างเหนือนั้น ในฐานะที่เป็นพระธิดาลำดับที่ ๕ ของเจ้าฟ้าชายแก้ว โดยมีพระยากาวิละเป็นพระเชษฐาองค์โต แห่งตระกูล“ทิพย์จักริราช” หรือนิยมเรียกกันว่า“สกุลเชื้อเจ็ดตน”(คือนับแต่ผู้ชาย ไม่นับเจ้าที่เป็นหญิง)นั้นปรากฏนามว่า“เจ้าศรีอโนชา”หรือ“นางศรีอโนชา” ซึ่งภาษาล้านนาออกเสียงตัว“ช”เป็น“จ” จึงเรียกย่อๆกันว่า“เจ้านางโนจา”

เมื่อได้สมรสกับพระยาเสือแห่งเมืองใต้แล้ว จาก“โนจา”ก็ได้รับการเปลี่ยนนามเป็น“ท่านผู้หญิงศิริรจนา” อันหมายถึง“ผู้มีรูปโฉมงดงาม” แต่คนเหนือก็ยังเรียกเป็นสำเนียงพื้นเมืองว่า“เจ้ารดจา”อยู่นั่นเอง

ครั้นเมื่อมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน เจ้าพระยาสุรสีห์ได้เลื่อนเป็น สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท เมื่อนั้นเองเจ้ารดจาก็เลื่อนฐานันดรกลายเป็น“พระอัครชายาในกรม หรือ เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา อันเป็นตำแหน่งสูงสุดและเป็นนามสุดท้าย

เจ้าครอก คำนี้สร้างความสงสัยแก่ผู้คนเป็นอย่างมากว่า ทำไมถึงใช้คำดังกล่าว ถึงกับมีผู้พยายามแผลงเปลี่ยนใหม่ให้เป็น“เจ้าครอกฟ้า” หมายใจจะให้ฟังดูไพเราะขึ้น ด้วยคงไปนึกเปรียบเทียบกับคำว่า“ขี้ครอก”อะไรนั่น
แท้จริงแล้วสมัญญา“เจ้าครอก”ไม่ใช่คำที่ใช้เรียกเชิงดูถูกในความหมายเชิงลบ หากเป็นคำที่สะท้อนนัยพิเศษ สำหรับเจ้านายฝ่ายหญิงบางองค์ ดังนี้
กรณีแรก ใช้เรียกเจ้านายฝ่ายหญิงที่มีชาติวุฒิเชื้อสายเจ้าโดยกำเนิด คือไม่ใช่ปูมหลังเป็นสามัญชน

กรณีที่สอง เจ้านายหญิงองค์นั้นน่าจะมีกองกำลังทัพเป็นของตนเอง
นอกเหนือจากเจ้าครอกฟ้าศรีอโนชาแล้ว สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังมี“เจ้าครอก”อีกหลายอนงค์ อาทิ “เจ้าครอกวัดโพธิ์”หรือสมเด็จพระน้องนางเธอ กรมหลวงนเรนทร ในรัชกาลที่ ๑ ก็ถูกเรียกว่า“เจ้าครอก”ตามสถานที่ประสูติ คือ วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม เจ้านายหญิงพระองค์นี้ก็มีบทบาทในด้านกองทัพเช่นกัน

ยังมี“เจ้าครอกทองอยู่” ผู้เป็นอัครชายาของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข(สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์) หรือวังหลัง บ้างก็เรียกเจ้าทองอยู่ว่า“เจ้าครอกข้างใน”หรือ“เจ้าครอกใหญ่” ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่าอาจต้องมี“เจ้าครอกข้างนอก”หรือ“เจ้าครอกน้อย”ด้วยหรือไม่
การใช้คำว่า“เจ้าครอก”แทบไม่ปรากฏอีกเลยในปัจจุบัน หลักฐานล่าสุดคงเหลือแต่กรณีของหม่อมเจ้าหญิงสบาย ลดาวัลย์ ซึ่งมีหลักฐานว่าพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธิสินีนาฏ(พระอิสริยยศเดิม หม่อมเจ้าสาย ลดาวัลย์)ยังทรงเรียกอย่าให้เกียรติว่า“เจ้าครอกหญิงสบาย”
รักที่ต้องเลือก การเมืองกับหัวใจ

เอกสารทั่วไปมักเลี่ยงที่จะกล่าวถึงปูมหลังของเจ้าศรีอโนชาว่า เคยสมรแล้วกับภัสดาผู้มีเชื้อสาย“เจ้าลาวพุงดำ”องค์หนึ่ง ซึ่งไม่มีผู้ใดทราบชื่อเสียงเรียงนาม โดยมากเรารู้ว่า ขณะที่เจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปรบพม่าที่เชียงใหม่นั้น ได้พบขนิษฐาของพระญากาวิละ ผู้มีรูปโฉมงาม จึงเกิดความพึงพอใจ พระเจ้าตากสินจึงได้ขอเจ้าศรีอโนชาให้สมรสกับพระยาสุรสีห์ ในขณะที่ฝ่ายชายมีอายุ ๓๑ และฝ่ายหญิงอายุ ๒๔ ปี

หรือไม่ก็เป็นมุมมองในลักษณะที่ว่า หลังจากที่พระญากาวิละได้ถวาย“นัดดานารี”นางหนึ่งแด่พระเจ้าตากสินแล้ว ก็ได้ยกน้องสาวคนโตให้แก่เจ้าพระยาสุรสีห์ เพื่อเป็นการผูกมิตรภาพทางการเมืองให้เกิดการไว้วางใจระหว่างสยามกับล้านนา โดยไม่เคยเปิดเผยความจริงว่า ปูมหลังของเจ้าพระยาสุรสีห์นั้นเอง ก็ตกพุ่มหม้าย เคยมีภรรยาและบุตร แต่เลิกร้างตายจากกันไปแล้ว

นักค้นคว้าประวัติศาสตร์ชั้นยอด “ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม”เป็นผู้เดียวที่ได้เรียบเรียงเรื่องราวตอนนี้แตกต่างไปจากเอกสารเล่มอื่น โดยอ้างข้อมูลเชิงลึกจากหลายสำนักประกอบกัน หนึ่งในนั้นมีพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรวมอยู่ด้วย สรุปที่มาของบความรักระหว่างวังหน้ากับเจ้าศรีอโนชาได้ดังนี้

วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้นสามค่ำ พ.ศ.๒๓๑๗ กองทัพสยามได้ล้อมเชียงใหม่ทุกด้าน ก่อนเชียงใหม่จะแตกได้ ๘ วัน ขณะนั้นเจ้าศรีอโนชาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เพิ่งแต่งงานกับเจ้าลาวพุงดำผู้หนึ่ง(คนล้านนานิยมสักหมึกดำ คนสยามจึงเรียกว่า“ลาวพุงดำ”)

ทหารได้จับตัวภัสดาของเจ้าศรีอโนชามาถวายเจ้าพระยาสุรสีห์ ครั้นเจ้าพระยาสุรสีห์ได้เห็นเจ้าศรีอโนชาเกิดมีพระทัยปฏิพัทธ์ รับสั่งให้นำตัวภัสดาไปจำตรวนไว้ และเกลี้ยกล่อมเจ้าศรีอโนชาว่าจะทรงเลี้ยงเป็นพระชายา อย่าได้คิดอาลัยกับผัวเดิม จากนั้นซักไซ้ไล่เลียงว่าอยู่กินกันมากี่ปี เจ้าศรีอโนชาตอบว่าเพิ่งแต่งงานได้ ๘ วันก่อนเมืองเชียงใหม่แตก

อนึ่ง หากจะชุบเลี้ยงข้าพเจ้าฐานะบาทบริจาร์นั้น ขอให้ปล่อยภัสดากลับไปบ้านเมืองของเขาเถิด อย่านำไปเป็นเชลยทางใต้ให้กินแหนงแคลงใจเลย

“เจ้าลาวพุงดำ” ผู้อาภัพรักคนนั้นคือใคร อยู่กินกับเจ้ารดจาได้เพียง ๘ วันก็ต้องเจอราชภัยเสียแล้วฤา บางท่านกล่าวว่าเขาน่าจะมีเชื้อสายของพระองค์ดำ(ใครคือพระองค์ดำ?)

เยี่ยงนี้แล้ว เรายังจะคิดว่าการเสกสมรสระหว่างเจ้าศรีอโนชากับเจ้าพระยาสุรสีห์ นำมาซึ่งความชื่นมื่นของวงศ์ตระกูลเจ้าเจ็ดตน คือ ความเต็มใจที่พระยากาวิละยินดีถวายพระน้องนางให้แด่พระเจ้าเสือแห่งเมืองใต้อยู่อีกล่ะหรือ

ความโศกเศร้าของเจ้าลาวพุงดำนั้นเล่า ได้รับการปลดปล่อยโซ่ตรวนสู่อิสรภาพ แต่ต้องแลกด้วยการสูญเสียคนรัก และสำนึกที่ต้องท่องให้ขึ้นในว่า“การเสียสละภริยาของเจ้านั้น คือสิ่งที่พึงกระทำ เพื่อพิสูจน์ให้สบยามได้เห็น“ความภักดี”ของชาวล้านนา” แต่มิต้องมาเรียกร้องหาสมัญญาของคำว่า “วีรบุรุษผู้เสียสละ”

เรื่องราวของเจ้าลาวพุงดำผู้นี้ ได้มาปรากฏอีกครั้ง ในปี ๒๓๒๗ คราวมีงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระญากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้พาพี่น้องวงศาคณายาติลงมาเฝ้ารัชกาลที่ ๑ และวังหน้า พร้อมร่วมงานเผาศพพระเจ้ากรุงธนบุรี
ครั้นนั้นเองที่เจ้าลาวพุงดำได้ติดตามลงมาด้วย และขอพบเจ้าศรีอโนชาเป็นครั้งสุดท้าย ณ พระตำหนักวังหน้า โดยที่กรมพระราชวังบวรฯก็เปิดทางให้พบพูดคุยกันได้ เจ้าลาวพุงดำเอาแต่พิไรรำพันร่ำไห้ตีอกชกหัว

ในขณะที่เจ้าศรีอโนชากลับใจแข็ง(หรืออาจจะต้อง“แข็งใจ”) พูดปิดฉากความรักรันทดนั้นว่า“ชาตินี้มีกรรมจึงพลัดพรากไม่ได้อยู่ด้วยกันได้ กลับไปอยู่บ้านเถิด อย่าคิดอาลัยในตัวข้าเจ้าเลย ตัวของข้าเจ้าเองก็จะก้มหน้าสู้กรรมไปชาติหนึ่ง”

วีรกรรม“หงายเมือง” ระดมไทโยนกจากปากเพรียว
กรณีนี้ก็เช่นเดียวกันกับฉากการสมรสที่ถูกปรุงแต่งให้หวานชื่นระหว่างเจ้าศรีอโนชากับเจ้าพระยาสุรสีห์ อันเป็นการคัดลอกต่อๆกันมาจากเว็บไซต์ ด้วยมุมมองเพียงด้านเดียว

นั่นคือข้อมูลที่ว่า“เจ้าศรีอโนชาได้มีส่วนช่วยในการยกกองกำลังชาวไทยวนจากปากเพรียว สระบุรี มาปราบกบฏรพยาสรรค์ที่กรุงธนบุรี ซ้ำยังส่งคนไปแจ้งข่าวเชิญให้แม่ทัพสองพี่น้อง คือ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กับเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกทัพกลับจากเขมร ทั้งๆที่ยังจัดการไม่แล้วเสร็จ

เรื่องราวตอนนี้สร้างภาพในทำนองว่า ขณะที่พระเจ้ากรุงธนบุรีได้กำลังอยู่ในสภาพอ่อนแอปวกเปียกอย่างถึงขีดสุด ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ฝ่ายพระยาสรรค์ได้ลุแก่อำนาจ ทำการประหารพระเจ้ากรุงธนบุรี ไม่มีใครสามารถปราบกบฏพระยาสรรค์ได้เลย

เว้นแต่เพียงวีรกรรมของเจ้าศรีอโนชา ซึ่งทำการส่งคนไปเกณฑ์ชาวไทยวน(หรือโทโยน มาจากคำว่าโยนก หมายถึงไทล้านนา)ที่อาศัยอยู่ที่ปากเพรียวหลายร้อยนายลงมา โดยมีข้อแม้แลกเปลี่ยนว่า ภายหลังจากเสร็จศึกครั้งนี้แล้ว ชาวเมืองปากเพรียวจะไม่ต้องถูกเกณฑ์มาเป็นไพร่สม พร้อมจักปูนบำเหน็จให้อยู่ดีกินดี

ในเมื่อกูมีชีวิต กูบ่ให้สูได้ทำการบ้านการเมือง จักหื้อสูสะดวก ค้าขายกินตามสบาย ..ชาวปากเพรียวอาสาเข้ายับเอาพระยาสิงห์(?) พระยาสรรค์ได้แล้วฆ่าเสีย เจ้าครอกศรีอโนชา“หงายเมือง”ได้ไว้แล้ว ให้ไปเชิญเอาเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์สององค์พี่น้องเข้ามาผ่านพิภพขึ้นเสวยราชย์”

ข้อความตอนนี้คัดมาจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการกล่าวอ้างขยายผลไปต่างๆนานา ผู้เขียนมิได้ปฏิเสธบทบาทการมีส่วนช่วยการยันทัพกบฏพระยาสรรค์ของเจ้าศรีอโนชาในครั้งนี้ว่า คงมีส่วนจริงอยู่ไม่มากก็น้อย แต่ทว่าข้อความดังกล่าวมีสิ่งคลาดเคลื่อนอยู่หลายประการ จนทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ นับแต่“พระยาสิงห์”นั้นหมายถึงใคร ที่ว่าเป็นกบฏ
กรณีการฆ่ากบฏพระยาสรรค์ จากพงศาวดารฉบับอื่นๆ ล้วนแต่กล่าวว่าเป็นผลงานการตัดสินใจของเจ้าพระยาจักรี ภายหลังกลับจากเขมรมาแล้ว หาใช่เกิดจากวีรกรรมที่เจ้าศรีอโนชาลงมือเองไม่

พระยาตากสินยังมีชีวิตอยู่ ผู้ที่ประหารพระเจ้าตากสินมิใช่พระยาสรรค์ แต่คือเจ้าพระยาจักรี

ข้อสำคัญ“ไทยวนปากเพรียว(เพรียว)” คือใคร ถูกเกณฑ์จากเมืองเหนือมาอยู่ที่สระบุรีตั้งแต่เมื่อไหร่ ใกล้ชิดสนิทสนมกับเจ้าศรีอโนชาอย่างไร จึงสามารถเรียกเกณฑ์ได้ทันท่วงที ภายในวันเดียวที่พระยาสรรค์กำลังเผาพระนครธนบุรีลุกเป็นเพลิงไหม้

เนื้อที่หมดพอดี ดังนั้นขอยกยอดปริศนาทั้งหมดนี้ไปวิเคราะห์อย่างละเอียดในฉบับหน้า
(นิตยสาร“มติชน สุดสัปดาห์ ปีที่ ๓๔ ฉบับที่ ๑๗๓๕ วันที่๑๕-๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖)
กำเมือง ถ้าคนเมืองบ่อู้แล้วไผจะอู้