สะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรก ของเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๑ โดยนายแพทย์แมเรียน เอ ชีค หรือ หมอชีค มิชชันนารีชาวอเมริกันที่ผันตัวเองไปทำกิจการป่าไม้ สะพานดังกล่าวเป็นสะพานขนาดใหญ่ ทำจากไม้สัก เชื่อมระหว่างแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออกบริเวณด้านหลังวัดเกตการามกับฝั่งตะวันตกใกล้ตลาดต้นลำไย เรียกชื่อกันว่า ขัวกุลา ต่อมามีการสร้างสะพานไม้แห่งใหม่ขึ้น เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งที่ ๒ ของเมืองเชียงใหม่ (บริเวณสะพานนวรัฐในปัจจุบัน) จึงเรียกสะพานนี้ว่า ขัวเก่า สะพานแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินข้ามในคราวเสด็จประพาสหัวเมืองพายัพ
ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ช่วงฤดูน้ำหลาก ขัวกุลาหรือขัวเก่าถูกไม้ซุงจำนวนมากที่ล่องไปตามแม่น้ำปิงกระแทกเข้ากับเสาตอม่อสะพาน ทำให้สะพานเอียงทรุดเสียหาย ต่อมาจึงต้องรื้อทิ้ง ชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำปิงได้รับความยากลำบากในการเดินทางมากขึ้น โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ไม่สามารถใช้เรือข้ามได้ การเดินทางข้ามแม่น้ำปิงต้องไปข้ามที่สะพานอีกแห่งที่อยู่ห่างออกไป คือ สะพานนวรัฐ ทางราชการแก้ปัญหาด้วยการสร้างสะพานชั่วคราวทำด้วยไม้ไผ่สานขัดแตะ ชาวบ้านเรียกว่า ขัวแตะ แต่ถึงฤดูน้ำหลากก็จะถูกน้ำพัดพังไป จึงทำให้ต้องสร้างขัวแตะขึ้นใหม่ทุกปี
ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๗ มีพ่อค้าชาวอินเดียชื่อ โมตีราม หรือนายมนตรี โกสลาภิรมณ์ ได้บริจาคเงินให้เทศบาลเชียงใหม่ รวมทั้งมีการระดมทุนเพิ่มเติมสำหรับการก่อสร้างสะพานถาวร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาวบ้านและเป็นอนุสรณ์แก่ภรรยาชื่อจันทร์สม เมื่อสร้างเสร็จได้ตั้งชื่อสะพานแห่งนี้ว่า “สะพานจันทร์สมอนุสรณ์” ชาวบ้านเรียกกันว่า ขัวแขก
สะพานแห่งนี้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิงสำหรับคนเดินข้าม มีการสัญจรไปมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ สะพานชำรุด เทศบาลนครเชียงใหม่จึงจัดสรรงบประมาณสร้างสะพานใหม่ทดแทน เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดความกว้าง ๓ เมตร ยาว ๑๑๐ เมตร และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นมา
✅ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์
นักจดหมายเหตุชำนาญการ
✅ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ ภาพส่วนบุคคล ชุด นายบุญเสริม สาตราภัย