ย้อนเวลาหาอดีตที่ "เชียงตุง" I ประวัติศาสตร์นอกตำรา EP.222
ดูวีดีโอ
https://youtu.be/TNUir--BSkI?si=V9nnr_OXsUf7e8htเชียงตุง ในอดีตถูกเรียกในหลายชื่อ เช่น เมืองขืนเชียงตุงคบุรี เขมรัฐ เมืองเขม เมืองขึน และเขมรัฐนครเชียงตุง
“ 3 จอม 7 เชียง 9 หนอง 12 ประตู ” คือสมญานามที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของเชียงตุงในอดีต ซึ่งแม้จะเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายของผู้คนต่างชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มชาวไต หรือไท เช่น ไทขึน หรือไทเขิน ไทโหลงหรือไทใหญ่ รวมไปถึงไทลื้อ อกจากนี้ยังมีพม่า จีน และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ อีกหลายกลุ่ม แต่พวกเขาก็อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนมาเนิ่นนาน
เดิมเชียงตุงเป็นถิ่นอาศัยของชาวลัวะ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เก่าแก่ในกลุ่มภาษากลุ่มออสโตร-เอเชียติก ( Austro-Asiatic) ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 18 เมื่อพญามังรายปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรล้านนาได้สร้างเมืองเชียงตุงขึ้นที่นี่ และขับไล่ชาวลัวะไปอยู่ตามดอย นับจากนั้นเชียงตุงก็มีสถานะเป็นเมืองหนึ่งในเครือข่ายอาณาจักรล้านนานับตั้งแต่เริ่มต้น
การสร้างเมืองเชียงตุงของพญามังรายได้เปลี่ยนสภาพจากเมืองของพวกลัวะ ให้กลายเป็นเมืองหน้าด่านที่มีความสำคัญ ทั้งทางด้านการเมือง ยุทธศาสตร์และการค้า พร้อมทั้งการส่งเชื้อพระวงศ์จากล้านนาขึ้นมาปกครองเชียงตุงเรื่อยมา ก่อนที่ต่อมาจะตกเป็นรัฐบรรณาการของพม่า
นับจากปี พ.ศ. 2103 ในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง ทั้งล้านนา และเชียงตุงต้องตกเป็นประเทศราชของพม่าอยู่ยาวนานราว 200 ปี กระทั่งสมัยพญากาวิละได้ทำการปลดแอกเชียงใหม่จากพม่า และหันมาเป็นประเทศราชของสยามแทน
พญากาวิละได้ยกทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงตุง และกวาดต้อนผู้คนลงไปตั้งรกรากในเชียงใหม่ แต่ต่อมาภายหลังเชียงตุงก็กลับไปเป็นประเทศราชของพม่าอีกครั้ง
นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ถึง รัชกาลที่ 4 สยามพยายามจะเข้ายึดครองเชียงตุง แต่ไม่สามารถเอาชนะศึกได้ จนเมื่ออังกฤษเข้ายึดครองพม่าได้สำเร็จ เชียงตุงจึงอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษไปด้วย
ความพยายามอีกครั้งในการผนวกดินแดนเชียงตุงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของไทย เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้การสนับสนุนของญี่ปุ่นได้ส่งกำลังทหารเข้ายึดเมืองเชียงตุง และเมืองพาน หรือเมืองปั่น เพื่อจัดตั้งขึ้นเป็นแคว้นหนึ่งของไทยในชื่อ “สหรัฐไทยเดิม”
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ไทยจึงมอบคืนดินแดนสหรัฐไทยเดิมให้แก่สหประชาชาติ ในวันที่ 1 มกราคม 2489
แม้จะเป็นเพียงพื้นที่เล็ก ๆ ของภูมิภาคอุษาคเนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เชียงตุงสามารถทำให้เรามองเห็นภาพปรากฏการณ์อย่างหนึ่งทางสังคมพม่าได้แจ่มชัดมากขึ้น นั่นคือความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่พวกเขาต่างแสดงออกถึงพื้นฐานความเป็นมนุษย์ในเชื้อชาติของตน ซึ่งทุกฝ่ายล้วนมีทุนทางวัฒนธรรมในการช่วยสร้างวิวัฒนาการในระบบสังคมให้เกิดขึ้น
ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างรุนแรงในพม่าปัจจุบัน เราหวังว่าในที่สุดแล้วทุกฝ่ายจะเห็นความสำคัญของคุณค่าความเป็นมนุษย์ ที่มีความหลากหลายทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และร่วมกันสร้างสังคมพม่าให้มีความมั่นคง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติตลอดไป