รับซื้อเพชร

ทางเว็บไม่อนุญาตให้โพสโฆษณา ประชาสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในเว็บไซต์ หากพบทางเว็บจะทำการลบทันที


เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์ที่ ๑๐ นครลำพูน แต่งชุดพม่า และเจ้าหญิงแขกแก

  • 0 ตอบ
  • 5495 อ่าน
*

ออฟไลน์ ฮักล้านนา

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • 674
  • 306
    • ดูรายละเอียด
    • วัดร่องขุ่น
ภาพเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์ที่ ๑๐ นครลำพูน แต่งชุดพม่า และเจ้าหญิงแขกแก้ว ณ ลำพูน ชายาแต่งตัวชุดเจ้านายหญิงสยาม เพื่อร่วมงานราตรีสโมสร รับเสด็จจอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ที่คุ้มเจ้าอุปราช(เจ้าน้อยอินทแก้ว ณ เชียงใหม่ ต่อมาคือพลตรีเจ้าหลวงแก้วนวรัฐ) นครเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙

สำเนาภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

เมื่อเจ้าหญิงแขกแก้ว อายุได้ 17 ปีบริบูรณ์ย่างเข้า 18 ปี เจ้าน้อยพรหมเทพผู้เป็นบิดาได้ตกลงใจเลือกคู่ครองให้ท่าน คือให้สมรสกับเจ้าบุรีรัตน์ นครลำพูน (เจ้าน้อยจักรคำ) ในขณะนั้นเป็นพ่อหม้าย เนื่องจากชายาองค์แรกของท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมมา 2 ปีกว่าแล้ว เจ้าน้อยจักรคำมีความรักใคร่ในองค์เจ้าหญิงแขกแก้วยิ่งนัก ท่านให้เกียรติ ท่านยกย่อง ท่านถนอมน้ำใจ เป็นอย่างยิ่ง ตลอดช่วงเวลา 8-9 ปีที่ใช้ชีวิตร่วมกันของเจ้าหลวงจักรคำฯ กับเจ้าหญิงแขกแก้ว ท่านไม่เคยนำหม่อมคนใดเข้ามาอยู่ในคุ้มแม้แต่คนเดียว ชีวิตสมรสของเจ้าหญิงแขกแก้วในปีแรกจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขยิ่งนัก หนึ่งปีต่อมา คือปี พ.ศ. 2454 ท่านได้ให้กำเนิดโอรสองค์แรก คือเจ้าวรทัศน์ และในปีเดียวกันนั้นเอง เจ้าบุรีรัตน์ นครลำพูน (เจ้าน้อยจักรคำ) ก็ได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ 6 แต่งตั้งให้เป็นเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 10 ชีวิตของเจ้าหญิงแขกแก้วจึงพร้อมไปด้วยความสุข ชื่อเสียง เกียรติยศ ฐานะ อำนาจ วาสนา ในปลายปี พ.ศ. 2455 นี้เองที่ท่านได้อุปการะดูแลเจ้าน้าของท่าน คือเจ้าคำย่น (ญ) ที่นำบุตรชายคือเจ้ากุศลวงศ์และบุตรสาวคือเจ้าส่วนบุญกลับมาอยู่ที่ลำพูน หลังจากเจ้าน้อยพุทธวงศ์ ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นสามีถึงแก่อนิจกรรมเมื่อต้นปี พ.ศ. 2455 และในปี พ.ศ. 2456 ท่านได้ให้กำเนิดโอรสองค์ที่ 2 คือ เจ้ารัชเดช

เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์มีความพึงพอใจในตัวเจ้าส่วนบุญธิดาองค์เดียวเล็กของเจ้าคำย่น (ญ) ซึ่งขณะนั้น (พ.ศ. 2456) มีอายุได้ 16 ปีบริบูรณ์ จึงออกปากขอต่อเจ้าหญิงแขกแก้ว ด้วยในเวลานั้นเจ้าส่วนบุญอยู่ในความอุปการะของเจ้าหญิงแขกแก้ว ท่านจึงยกเจ้าส่วนบุญให้เป็นชายาของเจ้าหลวงจักรคำฯ และเพื่อเป็นการตอบแทนความมีน้ำใจดีของเจ้าหญิงแขกแก้ว เจ้าหลวงจักรคำฯ จึงได้ให้คำสัญญาเกี่ยวกับการครองเรือนระหว่างท่านกับเจ้าหญิงแขกแก้วไว้ 1 เรื่อง เจ้าส่วนบุญได้ให้กำเนิดโอรสในปี พ.ศ. 2457 คือ เจ้าพัฒนา เจ้าหญิงแขกแก้วได้ให้กำเนิดโอรสองค์ที่ 3 ในปี พ.ศ. 2458 แต่มีชีวิตอยู่เพียงไม่กี่วันก็ถึงแก่อนิจกรรม ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 ท่านได้ให้กำเนิดราชธิดา อีก 1 องค์ แต่มีชีวิตอยู่เพียงไม่กี่วันก็ถึงแก่อนิจกรรมอีก ไม่เพียงแค่นั้น โอรสองค์ที่ 2  คือเจ้ารัชเดช ซึ่งกำลังอยู่ในวัยน่ารักก็ถึงแก่อนิจกรรมในปีถัดมา เจ้าหญิงแขกแก้วเต็มไปด้วยความโทมนัสอย่างแรงกล้า ความทุกข์ใจของท่านอันเกิดจากกรสูญเสียโอรสและราชธิดาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้นมากจนสุดจะบรรยาย และในช่วงเวลาที่ท่านโศกเศร้าเสียใจจนแทบจะตายลงไปนั้น  ก็มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นภายในคุ้มหลวงซึ่งทำให้ท่านพบว่าเจ้าหลวงจักรคำฯ ไม่รักษาคำสัญญาที่ให้ไว้ ท่านจึงตัดสินใจกลับไปอยู่ที่คุ้มของเจ้าบุรีรัตน์ นครลำพูน (เจ้าน้อยพรหมเทพ) เมื่อท่านแจ้งความประสงค์ให้เจ้าหลวงจักรคำฯ รับทราบ ก็ได้รับการทัดทานมิให้ไป ไม่ว่าเจ้าหลวงจะพูด ท่านก็ยังยืนยันที่จะกลับไปอยู่ที่คุ้มของเจ้าบิดา เจ้าหลวงจึงห้ามนำเจ้าวรทัศน์ไปด้วย เพราะทราบดีว่าเจ้าหญิงแขกแก้วรักลูกมาก คงไม่กล้าทิ้งลูกไว้เพียงลำพัง แต่ผิดคาด เจ้าหญิงแขกแก้วกลับบอกว่า เจ้าวรทัศน์อายุ 7-8 ปีแล้ว ช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง ไม่มีจะมารังแกได้ ก็ขอฝากลูกไว้ด้วย

ในวันที่เจ้าหญิงแขกแก้วออกจากคุ้มหลวงนั้น เจ้าหลวงจักรคำฯ ได้ออกปากให้เจ้าหญิงแขกแก้วนำแก้ว แหวน เงิน ทอง เครื่องประดับ ที่ท่านซื้อหาและจัดทำให้ในระหว่างครองเรือนด้วยกัน แต่เจ้าหญิงแขกแก้วปฏิเสธ ไม่เอามาแม้แต่ชิ้นเดียว เจ้าหลวงฯ ได้ออกปากให้นำขันเงิน พานเงิน พานหมากพลูบุหรี่เงิน กระบุงเงินและเครื่องใช้เงินต่างๆ ไปด้วย เพื่อจะได้มีใช้สอยในการไปทำบุญที่วัดในวันข้างหน้า ไม่ต้องไปซื้อไปหาใหม่ แต่เจ้าหญิงแขกแก้วก็ปฏิเสธอีก ไม่ว่าเจ้าหลวงฯ จะพูดอย่างไร เจ้าหญิงแขกแก้วก็ไม่โต้ตอบ ท่านเดินออกจากคุ้มหลวงโดยมีญาติสนิท 3 คน และคนรับใช้ 1 คน ติดตามท่านไป เจ้าหลวงจักรคำฯ ได้แต่นั่งน้ำตาไหลมองเจ้าหญิงแขกแก้วออกจากคุ้มหลวงไปจนลับสายตา เหตุการณ์ในวันที่เจ้าหญิงแขกแก้วออกจากคุ้มหลวงนั้น ผู้คนที่อาศัยในคุ้มหลวงในเวลานั้นมีจำนวนมาก หลายคนเป็นญาติ หลายคนเป็นบริวาร ต่างก็ได้เห็นเหตุการณ์และได้ยินคำโต้ตอบระหว่างเจ้าหลวงจักรคำฯ และเจ้าหญิงแขกแก้วตั้งแต่ต้นจนจบ

เมืองลำพูนในสมัยนั้น มีผู้คนไม่มากนัก บ้านเมืองสงบ การดำรงชีพของชาวเมืองเรียบง่าย ยึดมั่นในขนบธรรมเนียม ประเพณี และพระพุทธศาสนา จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหลวงฯ กับเจ้าหญิงแขกแก้ว จึงเป็นที่โจษจัน พูดกันทั้งเมือง ถ้าเป็นสมัยนี้ก็เรียกว่า เป็น Talk of the town ได้เลย ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์คาดคะเนต่างๆ นานา แม้แต่ญาติพี่น้องของเจ้าหญิงแขกแก้วก็ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของท่าน ผู้คนที่รู้เรื่องนี้พูดคล้ายๆ กันในทำนองนี้ว่า การออกจากคุ้มหลวงมานี้ ก็เท่ากับทิ้งชื่อเสียง เกียรติยศ ทิ้งอำนาจ วาสนา และความสุขสบาย ตลอดจนฐานะที่มั่งคั่ง กลับมาเป็นเจ้าหญิงจนๆ ที่ไม่มีนา ไม่มีสวน ไม่มีคนนับหน้าถือตา แล้วจะอยู่ได้อย่างไร? เจ้าหลวงฯ ให้เอาอะไรมา ก็ไม่เอามาสักอย่าง แล้วต่อไปจะไปทำมาหากินอะไรกัน? เจ้าหญิงแขกแก้วไม่ตอบคำถามของใครสักคน ท่านไม่พูดเรื่องนี้กับผู้ใดเลย ท่านเล่าให้เจ้าน้อยพรหมเทพผู้เป็นบิดาแต่เพียงผู้เดียว ถึงเหตุผลที่ท่านตัดสินใจกลับมาบ้าน

เจ้าหลวงจักรคำฯ ไม่ละความพยายามที่จะให้เจ้าหญิงแขกแก้วกลับไปอยู่ที่คุ้มหลวงอีก ท่านไหว้วานขอร้องญาติผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด สนิทสนม และเป็นผู้ที่เจ้าน้อยพรหมเทพเคารพนับถือหรือเกรงใจ เป็นผู้ประสานรอยร้าวและให้เกลี้ยกล่อมชักจูงด้วยเหตุผลนานาประการ ให้เจ้าหญิงแขกแก้วกลับมาอยู่ที่คุ้มหลวงดังเดิม มีทั้งญาติผู้ใหญ่ที่ใช้นามสกุล ณ ลำพูน ณ เชียงใหม่ ชนัญชยานนท์ ลังกาพินธุ์ ถึง 3 ครั้ง 3 หน แต่เจ้าหญิงแขกแก้วก็ไม่กลับไป ญาติผู้ใหญ่เหล่านั้นต่างก็เกรงจะได้รับคำตำหนิจากเจ้าหลวงจักรคำฯ จึงไปเกลี้ยกล่อมและขอร้องเจ้าน้อยพรหมเทพอีกต่อหนึ่ง แต่เจ้าน้อยพรหมเทพบอกว่า ท่านไม่เข้าไปยุ่งกับเรื่องของลูก ขอให้เจ้าหญิงแขกแก้วตัดสินใจเอง จากคำบอกเล่าที่ได้รับทราบมาว่า เจ้าหญิงแขกแก้วในช่วงเวลานั้น อายุเพียง 26-27 ปีเท่านั้น ยังคงงดงามอยู่ ที่สำคัญท่านเป็นสตรีที่มีความรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ ได้รับการอบรมมาอย่างดี ท่านจึงเป็นสตรีที่มีคุณค่า และยังเป็นที่หมายปองของชายที่มีฐานันดรศักดิ์ทั้งหลาย

ในที่สุดเจ้าหลวงจักรคำฯ ตัดสินใจไปง้องอนเจ้าหญิงแขกแก้วด้วยตัวท่านเองที่คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าน้อยพรหมเทพ) เจ้าหลวงจักรคำฯ ได้พูดคุยกับเจ้าหญิงแขกแก้วตามลำพัง พูดกันอย่างไร? ไม่มีใครได้ยินในช่วงแรก หลายคนในคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าน้อยพรหมเทพ) ได้ยินในช่วงสุดท้าย คนที่ได้ยินเล่าว่า เสียงของเจ้าหลวงฯ ดังลั่นบ้าน น้ำเสียงโกรธมาก เจ้าหลวงฯ พูดว่า เมื่อมารับกลับบ้านก็ยังไม่ยอมกลับ ก็ตามใจ อย่าหวังนะว่าจะได้แต่งงานใหม่ หากมีใครมาสู่ขอแต่งงาน จะขัดขวางจนถึงที่สุด แล้วเจ้าหลวงจักรคำฯ ก็เดินปึงปังงจากเรือนไป 2-3 สัปดาห์ต่อมาเจ้าหลวงฯ ได้ไปหาเจ้าบุรีรัตน์ยังที่ทำงาน ท่านได้พูดจากับเจ้าบุรีรัตน์เป็นเวลานาน เจ้าบุรีรัตน์ได้เล่าให้ญาติสนิทท่านหนึ่งในภายหลังว่า เจ้าหลวงฯ ขอให้ท่านช่วยพูดหรือสั่งให้เจ้าหญิงฯ ให้กลับไปที่คุ้มหลวง หากเจ้าบุรีรัตน์สั่งให้กลับ เจ้าหญิงฯ ต้องกลับไปคุ้มหลวงแน่นอน เจ้าบุรีรัตน์ได้บอกให้เจ้าหลวงฯ พูดกับเจ้าหญิงแขกแก้วด้วยตนเอง เพราะเป็นเรื่องในครอบครัว แล้วแต่เจ้าหญิงแขกแก้วตัดสินใจ เจ้าหลวงจักรคำฯ ผิดหวังถึงกับน้ำตาไหลต่อหน้าเจ้าบุรีรัตน์

ผู้เขียน (วรเทวี (ณ ลำพูน) ชลวณิช) ได้รับทราบเรื่องราวเหล่านี้จากบุคคลต่างๆ ทั้งจากวงศาคณาญาติ ทั้งจากผู้สูงอายุชาวลำพูนและผู้สูงอายุชาวเชียงใหม่ หลากหลายคน (ต้องใช้คำว่าเยอะมาก และได้ยินไม่รู้กี่ครั้งอยู่หลายปีคือได้ยินตั้งแต่เด็กจนโตเป็นสาว) จึงได้สอบถามมารดาว่า พอรู้เรื่องนี้บ้างไหม? คุณแม่บอกว่า ก็รู็จากพวกญาติๆ และพวกศรัทธาวัดมาบ้าง แต่ก็ไม่เคยได้ยินเจ้าแม่เฒ่าพูดถึงเลย เมื่อผู้เขียนอายุประมาณ 17-18 ปีก็ได้ถามเจ้าแม่เฒ่าว่าเรื่องราวที่ผู้เขียนได้ยินมานั้น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร? คนทั่วไปอยากรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ท่านทิ้งเจ้าหลวงฯ กลับมาอยู่ที่คุ้มของเจ้าบุรีรัตน์ เล่าให้ฟังบ้างได้ไหม? ท่านตอบช้าๆ ด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า “เรื่องมันนานมาแล้ว รู้ไปทำไม ไม่มีประโยชน์” ท่านพูดต่อด้วยน้ำเสียงเรียบๆ เรื่อยๆ ว่า  “เจ้าแม่เฒ่าได้อโหสิกรรมให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ตั้งแต่ก่อนที่เจ้าแม่เฒ่าจะเริ่มรับอุโบสถศีล” ท่านนิ่งไปสักครู่แล้วก็พูดตัดบทว่า “ต่อไปไม่ต้องมาถามอีกนะ ถึงถามก็ไม่บอก” หลังจากนั้นมาผู้เขียนก็เลยไม่ถามถึงเรื่องนั้นอีกเลย

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมองเห็นจากเรื่องนี้ ก็คือเจ้าหญิงแขกแก้วเป็นสตรีที่มีการศึกษา มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความเชื่อมั่นในตนเองอย่างมาก และเป็นคนที่รักษาคำพูดอย่างยิ่ง ท่านมีจิตใจเข้มแข็ง หนักแน่น ไม่หวั่นไหวต่อสังคมรอบข้าง ท่านปฏิเสธที่จะเป็นนกน้อยในกรงทอง ท่านเลือกที่จะดำเนินชีวิตอย่างอิสระ ตามที่ใจท่านปรารถนา ซึ่งมิใช่วิถีชีวิตและมิใช่วิธีคิดของสตรีล้านนาในยุคสมัยนั้น – สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ; แน่นอน ท่านต้องมีความกล้าหาญ มีความเข้มแข็ง และมีความอดทนอดกลั้นอย่างมาก ในการที่จะดำรงชีวิตอยู่โดยลำพัง ท่ามกลางเสียงครหานินทา ในสังคมที่มีผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า สังคมที่ผู้ชายมีอภิสิทธิ์เหนือผู้หญิงในทุกๆ เรื่อง นั่นคือสังคมของคนไทยล้านนาใน พ.ศ. 2461
เรื่องเล่าจากคุ้มเจ้าหญิงแขกแก้ว ณ ลำพูน โดย วรเทวี (ณ ลำพูน) ชลวณิช

ภาพ เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ (เจ้าน้อยจักรคำ ณ ลำพูน) และเจ้าหญิงแขกแก้ว ณ ลำพูน อรรคชายา ถ่ายรูปที่คุ้มหลวงลำพูน หลังที่สร้างด้วยไม้สัก (หลังแรก)     

ข้อมูลจาก Nubkao Kiatchaweephan
กำเมือง ถ้าคนเมืองบ่อู้แล้วไผจะอู้