ประวัติเมืองแสนหวี
หลังจากที่เมืองมาวได้ถูกจีนรุกรานและเสียเมืองไปแล้ว ขณะนั้น แสนหวีได้ตั้งเป็นเมืองอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น เมื่อเมืองมาวเสียไปแล้ว เจ้าฟ้าแสนหวี จึงขึ้นมาเป็นผู้นำในหมู่ชนชาติไตต่อมา ในยุคที่แสนหวีรุ่งเรืองนั้น มีเจ้าผู้ปกครองสืบต่อกันจำนวน 48 องค์ ซึ่งก่อนหน้าที่แสนหวีจะรุ่งเรืองนั้นก็มีเจ้าฟ้าปกครองอยู่
หลังจากราชสมัยเจ้าคำปากฟ้าแล้ว บุเรงนอง ได้ยาตราทัพขึ้นมาในเมืองไตทุกหัวระแหง จนถึงเมืองกึ๋งม้า เมืองติ๋ง (ปัจจุบันอยู่ในจีน) เจ้าฟ้าและประชาชนได้หนีภัยสงครามขึ้นไปพึ่งบ้านพี่เมืองน้องทางเหนือ และเมืองแสนหวีซึ่งมีอำนาจมากในขณะนั้นจึงได้ถูกบุเรงนองแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ
1. แสนหวีหลวง (ภาคเหนือ)
2. เมืองไหย (ภาคกลาง)
3. เมืองหนอง (ภาคใต้)
นอกจากนี้ หลังจากที่ บุเรงนอง ได้เข้ารุกรานบ้านเมืองไต เมืองไตทั้งหมด ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ตอนใหญ่ ๆ คือ ฝ่ายทิศเหนือแม่น้ำมาว และฝ่ายทิศใต้แม่น้ำมาว
ฝ่ายทิศเหนือแม่น้ำมาว ประกอบด้วย เมืองขึง เมือกึ๋งม้า เมืองฮึม เมืองจั๋นตา เมืองหล้า เมืองวัน เมืองหัวส่า เมืองนาส่า เมืองมาว เมืองแจ้ขวาง เมืองขวาน เรียกว่า เมืองมาว 9 เมือง
ฝ่ายทิศใต้แม่น้ำมาว ประกอบด้วยเมืองก๋อง เมืองยาง เมืองสองซบ เมืองสี่ป้อ เมืองแสนหวี เมืองมีด เมืองนาย เมืองปาย เมืองหยองห้วย เรียกว่า เมืองไต 9 ฮายหอ
ถึงแม้ว่าเมืองไตถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างนี้ก็ตามที การติดต่อการไปมาหาสู่กันก็ยังคงเดิมอยู่เรื่อยมา จนกระทั่งมาถึงปี ค.ศ. 1960 นายอูนุ นายกรัฐมนตรีพม่าได้ทำการแบ่งปันเขตแดนกับประเทศจีน ด้วยเหตุนี้ เมืองไตฝ่ายเหนือแม่น้ำคง ได้ถูกตัดไปเป็นของประเทศจีนไปตั้งแต่บัดนั้นมา
เจ้าคำก่ายน้อย (ขุนคำแก้ว)นี้ เคยอยู่ร่วมกันในวังพม่า และเป็นเพื่อนสนิทกันกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เจ้าคำก่ายน้อยกับสมเด็จพระนเรศวนมหาราช ได้มีแผนร่วมกันในการที่จะรวบรวมเมืองไตทั้งหมดเป็นอาณาจักรเดียวกัน ขณะที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้เอกราช เจ้าคำก่ายน้อยก็ทำการกอบกู้ เมืองนาย เมืองปาย เมืองหยองห้วย จนถึงเมืองกึ๋งม้า เมืองปิ๋ง เมืองแลม เมืองฮึม และกำลังเข้าโจมตี เมืองแสนหวี จากพม่าแต่ถูกพม่ากับจีนรวมพลังกันโจมตีเจ้าคำก่ายน้อย ด้วยเหตุนี้ เจ้าคำก่ายน้อย จึงได้ส่งคนมาเชิญ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ให้ไปช่วยรบ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ได้นำทัพมุ่งขึ้นทางเหนือเพื่อไปช่วยเจ้าคำก่ายน้อย แต่พระองค์ทรงสวรรค์คตเสียก่อน ณ เมืองหาง จังหวัดเมืองโต๋น เจ้าคำก่ายน้อยก็ได้ทำการสู้รบอย่างอาจหาญจนกระทั่งเสียชีวิตในสนามรบ ในปี ค.ศ. 1605 แผนในการรวบรวมเมืองไตต่าง ๆ ให้เป็นหนึ่งเดียว ก็ไม่ทันสัมฤทธิ์ผลตามเจตนารมณ์ของทั้ง 2 พระองค์
ในยุคสมัยของ เจ้าแสงมังแกถูกทางพม่าบีบอย่างหนัก บ้านเมือง ไม่สงบสุขจนทำให้เมืองนาย กลายเป็นศูนย์กลางของการปกครองของเมืองไตต่อมา แต่อย่างไรก็ตาม เมืองแสนหวี ก็ยังคงมีเจ้าฟ้าปกครองสืบต่อมา
ในช่วงเวลานี้ จีนนำชาวไตทางเหนือ พม่านำชาวไตทางใต้ ได้เกิดการสู้รบกัน โดยมีชาวไตได้รับความเดือดร้อนจากการสู้รบกันเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ไทยใหญ่จึงมีความอ่อนแออย่างใหญ่หลวงมาตั้งแต่บัดนั้น
รายชื่อเจ้าฟ้า
1. ขุนแสงอ้ายห่ม (ค.ศ.957-958)
2.เจ้าส้านน้อย (ค.ศ. 1319-1349)
ระหว่าง ค.ศ. 958-1319 แสนหวีอยู่ ภาย ใต้การปกครองของเมืองมาว จึงไม่มี เจ้าฟ้าปกครองเมืองแสนหวี
3. เจ้าเสือเหยียบฟ้า (ท้าวขางเมือง) (ค.ศ. 1349-1374)
4.เจ้าเตดฟ้า (โอรสเจ้าเสือเหยียบฟ้า) (ค.ศ. 1373-1389 )
5. เจ้าคำเปี่ยมฟ้า (โอรสเจ้าคำเตดฟ้าคนที่ 2) (ค.ศ. 1389-1392)
6. เจ้าคำเปิดฟ้า (โอรสเจ้าคำเตดฟ้าคนที่ 3 ) (ค.ศ. 1392-1394)
7. เจ้านางฟ้าห่มเมือง (ค.ศ. 1395-1405)
จัดการแต่งงานระหว่างลูกสาว(นาง คำฮุงกับน้องชาย
(เจ้าน้อยสั่นฟ้า) แล้วให้ไปปกครองเมืองสี่ป้อด้วย
8. เจ้าคำก่ายฟ้า (ขุนอ้าย) (ค.ศ. 1405-1428)
9. เจ้าคำฮอดฟ้า (ขุนคำฮอด) (ค.ศ. 1428-1440)
10. เจ้าคำหวาดฟ้า (ค.ศ. 1440-1460)
11. เจ้าคำหีบฟ้า (ค.ศ. 1460-1523)
12. เจ้าคำแสนฟ้า (ค.ศ. 1523-1543)
13. เจ้าคำหานฟ้า (ค.ศ. 1543-1549 )
14. เจ้าคำปากฟ้า (ค.ศ. 1549-1561)
15. เจ้าแสนจุงฟ้า (ค.ศ. 1565-1593)
16. ขุนคำเข่งฟ้า (ค.ศ. 1593-1604)
17. คำสื้อ (คำหนั่น) (ค.ศ. 1604-1605)
18. คำก่ายน้อย (ขุนคำแก้ว) (ค.ศ. 1601-1605)
19. เสือหงฟ้า (ค.ศ. 1605-1644)
20. เสือก่อฟ้า (ขุนก่อคำ) (ค.ศ. 1644-1650)
21. เสือห่มฟ้า (ขุนส่างคำ) (ค.ศ. 1650 –1683)
22. นางฟ้าโคคำเฮือง (ค.ศ. 1683-1688)
23. เจ้าคำส่องฟ้า (ค.ศ. 1697-1714)
24. เจ้าคำหน่อฟ้า (ขุนคำแหลง ) (ค.ศ. 1714-1723)
25. นางหาญฟ้าหน่อแสงปัน (ค.ศ. 1723-1737)
26. ขุนคำเฮือง (ขุนคำเฮือง) (ค.ศ. 1737-1752)
27. เสืออุ้มมังแก (เจ้าแสงมังแก) (ค.ศ. 1752-1762)
28. ขุนแสงคำเฮอ (ค.ศ. 1762-1764)
29. เจ้าหลวงคำส่องฟ้า (ค.ศ.1764-1769)
30. อูติ่งปุ่งหญ้า (ค.ศ. 1769-1774)
31. จยอกแสหวุ่น (ค.ศ. 1774-1777)
32. ขุนส่วยแข่ง (ค.ศ. 1777-1801)
33. เสือก่อฟ้า (ค.ศ.1801-1815)
34. สโตมังแหง่ (ค.ศ. 1815-1819)
35. ขุนแสงหน่อเมือง(ค.ศ. 1819-1820)
36. ขุนแสงคำขอด (ค.ศ. 1821-1824)
37. ขุนแสงคำปาด (ค.ศ. 1824-1825)
38. ขุนแสงคำหนั่น (เสือเหยียบฟ้า) (ค.ศ. 1827-1830)
39. ขุนแสงส่วยหม่อง (เสือหว่ายฟ้า) (ค.ศ. 1830-1838)
40. ขุนแสงคำแหลงอ่อน (เสือข่านฟ้า) (ค.ศ. 1838-1846)
41. ขุนแหลงหน่อฟ้าอ่อน( ปกครองครั้งที่ 1) (ค.ศ. 1846-1849)
42. หม่องป่อหล่า (ค.ศ. 1850-1853) (เป็นยุคที่ขุนส่างฮ้ายเริ่มต่อต้านเจ้าฟ้าที่จงรักภักดีต่อพม่า)
43. ขุนแสงหน่อฟ้าอ่อน (ปกครองครั้งที่ 2 ) (ค.ศ. 1853-1856)
44. ขุนแสงโทหม่อง (เสือก่อฟ้า) (ค.ศ. 1856-1866)
45. ขุนแสงหน่อฟ้าอ่อน (ปกครองครั้งที่ 3) (ค.ศ. 1867-1885)
สาเหตุที่แสงหน่อฟ้า ได้ปกครองบ้านเมืองถึง 3 ครั้ง ก็เนื่องจาก ถูกพม่าจับติดคุกเป็นระยะเวลา 3 ครั้งด้วยกัน
46. แสงหน่อฟ้า (แสนหวีใต้) (ค.ศ. 1888-)
เริ่มตั้งแต่นี้มา แสนหวีถูกแยกออกเป็น แสนหวีเหนือ กับแสนหวีใต้ ขุนส่างต้นฮุงได้ปกครองแสนหวีเหนือ แสนหน่อฟ้า ปกครองแสนหวีใต้
47. เจ้าจุ่ม (เจ้าฟ้าโดยตำแหน่งภายใต้การปกครองของอังกฤษ)
48. เจ้าเสือห่มฟ้า ได้ปกครองต่อมา และได้สละอำนาจให้แก่รัฐบาลสหพันธรัฐไทยใหญ่ เมื่อปี ค.ศ. 1959
ภาพแรกนี้เป็น เจ้าฟ้าหน่อเมือง(เจ้าฟ้าลำดับที่46) เจ้าฟ้าเมืองไหญ่ หรือ แสนหวีใต้ และ มหาเทวี รัฐฉาน
ทรงเครื่องเต็มยศแบบราชสำนักมัณฑเลย์ ตามสิทธิ์ เจ้าฟ้าหน่อเมือง ต้องได้ขึ้นนั่งบัลลังค์เมืองแสนหวี แต่มีข้อพิพาทกับเจ้าฟ้าเมืองข้างๆเรื่องอาณาเขตและป่าไม้รวมทั้งเหมืองเงินเหมืองอัญมณี อังกฤษเข้ามาแทรกแซง แบ่งแผ่นดินแสนหวีออกเป็นสองเสี่ยง คือแสนหวีเหนือ กับแสนหวีใต้ แล้วให้เจ้าฟ้าหน่อเมืองไปปกครองแสนหวีใต้ ตั้งบ้านเมืองที่เมืองไหญ่ ตามนโยบาย แบ่งแยกและปกครองโดยอังกฤษ