เมื่อมาถึงเมืองพะเยา เจ้าพญาผู้เป็นมัคคุเทศก์ ไปเเจ้งข่าวการมาของเราให้เจ้าเมืองรู้ และจัดให้เราพักที่ศาลยุติธรรม แต่หลังคารั่ว จึงต้องไปพักในศาลา ใกล้ประตูเมืองทางทิศใต้
เป็นการดีกว่า หากไปพักแรมใกล้วัดนอกเมือง เพราะระหว่างที่เราอยู่ ต้องไปตักน้ำในบ่อที่เดินผ่านตอนเข้าประตูเมืองมา น้ำที่ตักจากบ่อเพียงแห่งเดียวในเมือง มีกลิ่นเหม็น ดื่มไม่ได้ ส่วนแม่อิงที่ไหลรอบตัวเมืองนั้น ดูเหมือนท่อน้ำทิ้ง มีสีดำ เป็นโคลน และเต็มไปด้วยสิ่งปฎิกูล กระเเสน้ำไหลเอื่อยจนเกือบนิ่ง
ในตอนเช้า เราไปพบเจ้าเมือง ผู้มีตำแหน่งเป็นเจ้าหลวง ท่านเป็นชายชราท่าทางสุภาพ ต้อนรับด้วยมารยาทดียิ่ง และชวนเราพูดคุยถึง ๑ ชั่วโมงเต็ม ท่านบอกว่า ชาวเมืองละคอรเป็นคนฟื้นเมือง และเมืองก็ขึ้นต่อเมืองละคอร พะเยามี ๔๘๒๐ หลังคาเรือน ในเมืองมี ๓๐๐ หลังคาเรือน แต่ละหลังมีคนอาศัย ๘ คน ดังนั้น จำนวนประชากรทั้งหมดคือ ๓๘๕๖๐ คน กล่าวว่า นาในที่ลุ่มได้ผลผลิต ๑๐๐ เท่า นาบนที่ดอนได้ผลผลิต ๘๐ เท่า แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า น้ำท่วมหรือฝนแล้ง
หลังจากเจ้าหลวง เล่าตำนานทางพุทธศาสนาที่ได้ฟังมาก่อนหน้าเเล้วนั้น ดร.คุชชิ่ง รู้สึกกระอักกระอ่วนมาก เมื่อเห็นท่านลูบเนื้อลูบตัวบุตรชายคนเล็กที่เต็มไปด้วยสะเก็ดแผลจากโรคฝีดาษ จึงต้องกล่าวคำอำลา เขากระซิบบอกข้าพเจ้าว่า ในครอบครัวมีคนเป็นโรคฝีดาษ ๔ คน ดร.แมกกิลวารี ช่วยปิดบทสนทนาว่า ข้าพเจ้าใคร่รู้เส้นทางการค้า และภูมิประเทศของเมืองพะเยา
ผีอารักษ์เมือง คือ เจ้าคำแดง วิญญาณบรรพบุรุษของพวกลัวะที่เคยปกครองเมืองพะเยาในสมัยโบราณ กล่าวว่า ท่านเป็นลูกหลานของพญาเจือง
เวียงโบราณที่ตั้งอยู่ในเขตเมือง มีดังนี้ เวียงต๋ำ เวียงต๋อม เวียงเมือง เวียงแห้ง เวียงจอมทอง เวียงปู่ล่าม และเวียงมัทราช
นอกจากนี้ยังมีเวียงรอบนอก ได้แก่ เวียงเทิง ทางทิศตะวันตก ระหว่างดอยมันหมู้กับแม่วัง มี เวียงหมูบุ่น และเวียงแก้ว ซึ่งใช้เวลาเดินทางไปทิศตะวันออกเฉียงใต้ ๒ วัน
การเดินทางข้ามดอยมันหมู้ถึงแม่วัง และเดินจากลุ่มแม่วังถึงเมืองละคอร ใช้เวลา ๘ วันครึ่ง หากไปเมืองเชียงใหม่ทางดอยสะเก็ด ใช้เวลา ๕ วัน หากนั่งช้างไปเมืองเชียงของ ที่อยู่ริมแม่อิง ใกล้ปากแม่น้ำโขง ใช้เวลาเดินทาง ๖ วัน
ข้อมูลเรื่องการขนข้าวจากเมืองพะเยาไปขายเมืองละคอร เพราะฝนแล้งนั้น เจ้าหลวงบอกว่า ช้างหนึ่งเชือก บรรทุกข้าว หนัก ๒๖๖ ปอนด์ เดินทาง ๗๑ ไมล์ เสียค่าใช้จ่าย ๑๓ รูปี ๘ แอนนา อัตราแลกเปลี่ยน ๑ชิลลิง ๕ เพนซ์ เท่ากับ ๑ รูปี ดังนั้นจะเสียค่าใช้จ่าย ๒ ชิลลิง ๓ เพนซ์ ต่อตันต่อไมล์
ในพม่า รถไฟขนข้าว เสียค่าใช้จ่าย ครึ่งเพนนี ต่อตันต่อไมล์ ค่าจ้างช้างขนข้าวแพงเป็น ๔๐ เท่า ราคาปลาแห้งในเมืองเชียงใหม่แพงกว่าเมืองพะเยา ๒ เท่า
ในรายงานของมิสเตอร์ อาร์เชอร์ ระบุว่า
“อุตสาหกรรมหลักของเมืองพะเยาคือ การประมง และเป็นชุมทางสำคัญจากเมืองเชียงรายไปหัวเมืองลาวใต้ อาจกล่าวได้ว่า เป็นศูนย์กลางของเมืองพิงค์เชียงใหม่ เพราะใช้ระยะเวลาเดินทาง ๖ วัน เท่าๆ กัน ไปเมืองสำคัญทั้ง ๕ คือ เมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงแสน เมืองน่าน เมืองแพร่ และเมืองละคอร”
ช่วงที่เรามาถึงเมืองพะเยานั้น ฝีดาษระบาดได้ ๑๒วันแล้ว เป็นสาเหตุให้คนตาย ๗๐ คน
เรือนทุกหลังที่ไปเยือนมีเเต่โรคร้าย ระหว่างที่เราอยู่ในเมืองมีคนตาย ๕-๗ คนทุกวัน
เสียงเด็กกรีดร้องด้วยความทุกข์ทรมานจากโรคฝีดาษ ทำให้หัวใจของเราแหลกสลาย เสียงฆ้องใบใหญ่ ทุ้มนุ่มไพเราะอย่างที่ไม่เคยได้ยิน ดังเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกาทุกคืน ยามขนศพออกจากเมืองไปฝัง
หากเปรียบสยามกับหัวเมืองล้านนา ก็คงเหมือนเมืองพะเยา ที่ติดโรคระบาด แม่น้ำเน่าเหม็น แต่จากนี้ไป เราจะไปเยือนเมืองงาวที่ถูกสุขลักษณะกว่า ตั้งอยู่ริมเเม่น้ำใสสะอาด และไหลแรง ฯ
สุทธิศักดิ์ ถอดความ
ภาพจาก hugchiangkham.com
A thousand miles on an elephant in the Shan states
Hallett, Holt Samue