ในประวัติความเป็นมาของเมืองเชียงใหม่นั้น ลำน้ำห้วยแก้วเป็นทางน้ำสำคัญยิ่ง เพราะเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของเมืองตามความเชื่อภูมิโหราศาสตร์ มาแต่ครั้งที่พระเจ้าเม็งรายสถาปนาเชียงใหม่เป็นราชธานีของล้านนา ด้วยเป็นทางนำน้ำที่ไหลรินจากดอยสุเทพมาเติมเต็มคูเมือง ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคยามสันติ และเป็นแนวป้องกันข้าศึกยามสงคราม
ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ห้วยแก้วน่าจะเป็นทางน้ำธรรมชาติที่จะระบายน้ำจากเชิงดอยสุเทพลงสู่แม่น้ำแม่ข่าและแม่น้ำปิง แต่เมื่อสร้างเมืองเชียงใหม่บนที่ราบเชิงดอยสุเทพกับแม่น้ำทั้งสองสาย ห้วยแก้วจึงไหลตามคูอ้อมเมือง
ในแผนที่โบราณจึงพบว่าแนวทางน้ำห้วยแก้วน่าจะเป็นแนวเดียวกับถนนห้วยแก้ว (ในปัจจุบัน) เริ่มจากเชิงดอยสุเทพมาจนถึงสี่แยกโรงแรม (รินคำ) จากนั้นจะแบ่งออกเป็นสองสาย สายแรกยังคงไหลต่อเนื่องตามแนวถนนห้วยแก้ว ผ่านบริเวณหน้ากาดสวนแก้ว จนไปเชื่อมต่อกับคูเมืองตรงแจ่งหัวลิน ก่อนที่จะแยกไปเชื่อมต่อกับแม่ข่าตรงแจ่งศรีภูมิ ส่วนที่เหลือก็ไหลตามคูเมืองไปทางทิศใต้
สายที่สองจะแยกลงมาทางตะวันออกเฉียงใต้ ไปเชื่อมต่อกับคูเมืองตรงบริเวณประตูสวนดอก แล้วก็ไหลตามคูเมืองไปต่อกับทางน้ำอีกสายตรงแจ่งกู่เฮือง ที่จะไหลอ้อมเมืองทางใต้ไปลงแม่ปิง หรือไหลตามคูเมืองทิศใต้ไปบรรจบกันที่แจ่งกะต้ำ ก่อนที่จะไหลตามทางน้ำไปแม่ข่าและแม่ปิง เป็นที่น่าสังเกตว่าด้วยเครือข่ายทางน้ำที่เป็นระบบและสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ทำให้บริเวณนี้ของเมืองเชียงใหม่ไม่เคยเจอะเจอกับอุทกภัยแม้แต่ครั้งเดียว
ในสมัยเมื่อร้อยปีก่อนห้วยแก้วมีน้ำไหลใสสะอาด พระราชชายาเจ้าดารารัศมีจะสร้างพระตำหนักริมห้วยแก้ว (บริเวณใกล้กับกาดสวนแก้วในปัจจุบัน) เพื่อเสด็จลงสรงน้ำและสระพระเกศาในห้วยแก้วทุกวัน เสียดายว่าการขยายผิวจราจรถนนห้วยแก้วนั้นเลือกวิธีถมห้วยแก้ว แล้วฝังท่อระบายน้ำคอนกรีตขนาดเล็กแทน นอกจากจะทำลายสภาพภูมิทัศน์ที่สวยงามร่มรื่นด้วยมีทางน้ำธรรมชาติแล้ว ขนาดท่อก็เล็กไม่สัมพันธ์กับปริมาณน้ำในฤดูฝน จึงนำมาซึ่งปัญหาน้ำล้นเอ่อท่วมถนนและบริเวณสองข้างถนนตลอดมา และเชื่อว่าถ้าเปิดฝาท่อก็จะพบว่าน้ำขุ่นและสกปรก ด้วยท่อระบายน้ำฝนนี้กลายเป็นท่อระบายน้ำเสียจากบ้านเรือน ร้านค้า และศูนย์การค้าในย่านนั้น
แต่ที่เลวร้ายที่สุดคงจะเป็นสาขาที่สองของห้วยแก้ว ที่เริ่มแยกตรงถนนรินคำ แนวทางน้ำน่าจะอยู่กลางพื้นที่ที่เคยเป็นโรงแรม ไหลผ่านบ้านพักอาศัยในย่านนิมมานเหมินท์ที่โด่งดังในปัจจุบัน และคณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางน้ำนี้ปรากฏว่าเป็นเหตุให้ทางน้ำส่วนใหญ่ถูกถม ส่วนที่เหลือเลยเป็นบ่อน้ำเน่า ที่ร้ายแรงที่สุดคงจะเป็นจุดเชื่อมต่อตรงปลายห้วยแก้วกับคูเมืองตรงประตูสวนดอก ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงงานบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาล
ชะตาชีวิตของห้วยแก้วอาจเหมือนกับสาวน้อยที่เคยสวยใส แต่ถูกชายหนุ่มชื่อเจริญ ก้าวหน้า และ (ทัน) สมัยรุมโทรม จนไม่เหลือเค้าสาวงามแห่งเชียงใหม่ อาจเป็นห้วย (แม่) สายของเทียรี่ คาราบาว กลับบ้านไม่ทันเห็นหน้าแม่
...จึงได้แต่หวังว่าจะมีใครช่วยฟื้นชีวิต “ห้วยแก้ว” ที่ยังเหลืออยู่บ้าง...
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
ภาพนี้ถ่ายโดยชาวต่างชาติในปี พ.ศ.2489 จะเห็นธารน้ำห้วยแก้วชัดเจนขนาบกับถนนที่เป็นเพียงทางเกวียนเท่านั้นและร้างไร้ที่อยู่อาศัย