จุดสิ้นสุดระบบ “เจ้าผู้ครองนคร” เมื่อเจ้าจักรคำขจรศักดิ์เมืองลำพูน พิราลัย พ.ศ. 2486
ผ่านมาแล้ว 76 ปีที่เจ้าจักรคำขจรศักดิ์เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 10 เจ้าหลวงเมืองลำพูนองค์สุดท้ายพิราลัย ได้เห็นในเว็บไซต์ SILPA-MAG.COM ลงเรื่องที่น่าสนใจจึงได้นำให้ได้อ่านและได้นำภาพเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์มาให้ชมกันครับ ไม่ได้อธิบายข้อมูลได้ภาพนะครับเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์สังเกตุได้คือท่านใส่แว่นตาเกือบทุกภาพมีอยู่ภาพเดียวที่ไม่ใส่แว่นตา
เผยแพร่ วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2562
นับตั้งแต่ราชวงศ์ทิพย์จักรปลดแอกล้านนาจากพม่า และเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีราว พ.ศ. 2317 เรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ “เจ้านายฝ่ายเหนือ” มีอำนาจในการปกครองตนเองค่อนข้างมาก ดำรงฐานะเป็น “เจ้าประเทศราช” ที่ต้องส่งบรรณาการถวายพระมหากษัตริย์รัฐสยามอยู่เสมอ กระทั่งรัฐสยามปรับปรุงระบอบการปกครอง รวบอำนาจเจ้าประเทศราชและผนวกดินแดนล้านนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม โดยกว่าระบอบเจ้าประเทศราชถึงกาลสิ้นสุดลงก็เมื่อ พ.ศ. 2486
เนื่องจากล้านนามีการรวมตัวแบบรัฐหลวม ๆ สานสัมพันธ์ด้วยระบอบเครือญาติ เจ้าประเทศราชในล้านนาจึงดำรงตำแหน่งเป็น “เจ้าผู้ครองนคร” โดยแบ่งออกเป็น 3 สายหลักคือ สายราชวงศ์ทิพยจักรหรือเจ้าเจ็ดตนที่ครองเมืองเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง สายราชวงศ์แพร่หรือเทพวงศ์ และราชวงศ์น่าน (บ้างเรียกกาว, ภูคา) เจ้านายฝ่ายเหนือสามารถปกครองตนเองในระดับหนึ่ง กระทั่งถูกลดบทบาททางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนา ฯลฯ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริปฏิรูปการปกครอง
อ่านเพิ่มเติม : “เจ้าพ่อทิพย์ช้าง” ต้นวงศ์ “เจ้าเจ็ดตน” ผู้ปลดแอกลำปางจากพม่า แต่ภายหลังกลับสวามิภักดิ์พม่า?
เจ้านายฝ่ายเหนือถูกลดบทบาทเรื่อยมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 กระทั่งมีปัญหาประการสำคัญคือ เจ้านายฝ่ายเหนือที่เป็นเจ้าผู้ครองนครหรือ “เจ้าหลวง” ในแต่ละเมืองนั้นถึงแก่พิราลัยไปหลายพระองค์ ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครจึงว่างลงเนื่องจากต้องรั้งรอให้รัฐสยามเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นปกครอง แม้ในทางการเมืองและเศรษฐกิจนั้น เจ้าผู้ครองนครแต่ละเมืองจะไม่มีบทบาทใด ๆ อีกต่อไปแล้วก็ตาม
กรมพระนครสวรรค์วรพินิตมีพระดำริว่าควรยกเลิกการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครในล้านนา เพราะตำแหน่งนี้หมดความสำคัญลงไปแล้วและชาวบ้านในท้องถิ่นก็ไม่นิยม ขณะที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระดำริว่าการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่อาจให้เงินเดือนหรือเงินปีเท่าเดิมได้ ซึ่งเรื่องเงินเดือนนี้สร้างปัญหาต่อทั้งสองฝ่าย เนื่องจากเจ้านายฝ่ายเหนือสูญเสียอำนาจการเก็บภาษีและไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ ก็ประสบปัญหาหนี้ท่วมตัวจึงต้องหวังพึ่งให้รัฐบาลสยามช่วยเหลือ ขณะที่รัฐสยามเองก็จำต้องตัดค่าใช้จ่ายลงเช่นกัน
รัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริให้ล้านนาเป็น “ไทย” ตามพระราชดำริว่า “…แต่รัฐประศาสนของเรานั้นต้องการให้ลาวเปนไทยมากกว่าที่จะให้คงเปนลาว เจ้าลาวที่ตั้งนั้นอยากจะคิดเลิกทีละเล็กทีละน้อย จนไม่เหลือเลยคงเปนแต่สกุลไทยอันมีชื่อเสียง…” และ “…เราจะยังตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครต่อไปหรือจะมีหนทางอื่นที่จะจัดการปกครองให้เข้ารูปเหมือนส่วนอื่น ๆ ในราชอาณาจักร เพื่อสภาพเอกชาติโดยหาหนทางอื่นที่จะยกย่องวงศ์สกุลของเจ้านายภาคพายัพนี้ไว้ให้สมแก่ความชอบในชั้นเดิมนั้น…”
ที่ประชุมอภิรัฐมนตรีจึงมีความเห็นว่า จะเปลี่ยนตำแหน่งจากเจ้าผู้ครองนครเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด การเลือกผู้ว่าฯ ให้เลือกเจ้านายฝ่ายเหนือก่อน หากไม่มีผู้สมควรจึงแต่งตั้งข้าราชการสยามตามความเหมาะสม ส่วนเงินเดือนหรือผลประโยชน์อื่นอันจะเป็นการเชิดชูเกียรติยศและความจงรักภักดีที่มีมาแต่เก่าก่อนนั้นจะให้ขึ้นอยู่กันพระราชวินิจฉัยและพระมหากรุณาของรัชกาลที่ 7 ที่จะทรงพระกรุณาพระราชทานมากน้อยเท่าใด
หลังจากรัชกาลที่ 7 เสด็จฯ กลับจากการประพาสมณฑลพายัพ ทรงเรียกประชุมเสนาบดีสภาเรื่องการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนคร สรุปได้ว่า หากเจ้าผู้ครองนครคนปัจจุบันถึงแก่พิราลัย จะไม่มีการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครอีกต่อไป โดยจะทรงชุบเลี้ยงเจ้านายฝ่ายเหนือตามความดีความชอบเพื่อเปลี่ยนเมืองในล้านนาให้เป็นเหมือนกับเมืองอื่น ๆ ในพระราชอาณาเขตทั้งหมด นอกจากตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแล้ว ยังรวมถึงตำแหน่งเสนา 6 ตำแหน่ง อันเป็นรูปแบบการปกครองแต่เดิมของล้านนา หากเจ้านายฝ่ายเหนือดำรงตำแหน่งนี้ถึงแก่กรรม ก็จะไม่มีการแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าวสืบต่อไปอีกเช่นกัน
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลพายัพ ขบวนรถไฟพระที่นั่งถึงยังสถานีเชียงใหม่
เมืองแพร่ ไม่มีการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครมาตั้งแต่ เจ้าพิริยเทพวงษ์ ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2445
เมืองลำปาง ไม่มีการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครมากตั้งแต่ เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2465 ส่วนเจ้าราชบุตร (แก้วเมืองพวน ณ ลำปาง) ที่ดำรงตำแหน่งต่อนั้นเป็นแต่เพียง “ผู้รั้ง” ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนคร และไม่ได้มีการสถาปนาจากตำแหน่ง “เจ้าราชบุตร” ขึ้นเป็น “เจ้าหลวง” ดังนั้นจึงไม่ถือเป็นเจ้าผู้ครองนคร
เมืองน่าน ไม่มีการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครมาตั้งแต่ เจ้ามหาพรหมสุรธาดา ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2474
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลสยามยังคงยึดแนวพระราโชบายของรัชกาลที่ 7 ที่จะไม่แต่งตั้งเจ้านายฝ่ายเหนือขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครอีก แต่กรณีเมืองน่านนั้นแตกต่างออกไป เพราะมีความเสี่ยงในการถูกคุกคามจากฝรั่งเศส และเมื่อ พ.ศ. 2476 มีจดหมายจากเจ้านายและราษฎรเมืองน่านร้องขอให้แต่งตั้งเจ้าราชวงศ์สิทธิสาร ณ น่าน อายุ 70 ปี เป็นเจ้าผู้ครองนครน่านสืบต่อ
คณะราษฎรส่งพระยาจ่าแสนยบดีไปสืบข่าวที่เมืองน่าน จนได้ความเห็นว่าควรจะแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครน่าน แต่ขณะที่กลับมากรุงเทพฯ เกิดรัฐประหารจนทำให้พระยาจ่าแสนยบดีเสียชีวิตโดยไม่ได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม ท้ายสุดรัฐบาลเห็นว่าไม่ควรแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าวอีกต่อไป เรื่องนี้จึงเป็นอันยุติ
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2476 ได้ผ่านพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2476 มีผลบังคับใช้เมื่ิอ 9 ธันวาคม 2476 ส่งผลให้ยกเลิกมณฑลพายัพ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นจังหวัดแทน แต่ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครยังคงมีอยู่ในเมืองเชียงใหม่และลำพูน
เมืองเชียงใหม่ ไม่มีการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครมาตั้งแต่ เจ้าแก้วนวรัฐ ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2482 แม้จะมีการเสนอชื่อระหว่างเจ้าราชบุตรที่มีนิสัยซื่อสัตย์แต่ไม่เป็นผู้กว้างขวาง กับเจ้าพงษ์อินทร์ที่สนิทสนมกับมิชชันนารีให้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่พระองค์ใหม่ แต่รัฐบาลสยามมีความกังวลว่าเจ้านายเชียงใหม่จะหันไปใกล้ชิดกับชาติตะวันตก ซึ่งอาจนำความยุ่งยากมาในภายหลัง จึงไม่มีการแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าวอีกต่อไป
เมืองลำพูน ไม่มีการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครมาตั้งแต่ เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2486
พลตรีมหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ พระนามเดิม เจ้าน้อยจักรคำ ประสูติเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2418 ที่คุ้มหลวงนครลำพูน เป็นพระโอรสในเจ้าอินทยงยศโชติกับแม่เจ้ารถแก้ว ดำรงตำแหน่งเจ้าอยู่ครองนครลำพูนตั้งแต่ พ.ศ. 2454-2486
เจ้าจักรคำขจรศักดิ์
เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ก็เฉกเช่นเดียวกับเจ้าผู้ครองนครในล้านนาพระองค์อื่น ๆ ที่ถูกลดบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจไปมาก แม้จะประสบปัญหาด้านการเงินอยู่บ้าง แต่พระองค์ก็ทรงบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นอย่างดี ทรงบริจาคเงินเพื่อพัฒนาบ้านเมืองโดยตลอด เช่น บริจาคที่ดินสร้างโรงเรียน บริจาคเงินซื้ออาวุธ สงเคราะห์ชาวบ้าน ทำนุบำรุงศาสนา ด้วยพระจริยวัตรและพระกรณียกิจที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลสยามอยู่ตลอดมา พระองค์จึงได้รับการดูแลจากรัฐบาลสยามอย่างดี เมื่อครั้งที่ประชวรด้วยพระโรคเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ ได้เสด็จมารักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราช ในการอุปถัมภ์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น
ขณะประทับที่โรงพยาบาล ต่างก็มีบรรดาข้าราชการ ผู้สำเร็จราชการ ผู้แทนพระองค์ ฯลฯ มาเยี่ยมอาการเจ้าจักรคำขจรศักดิ์อยู่เสมอ กระทั่งพระอาการมีแต่ทรงกับทรุด จึงทรงขอลากลับไปรักษาพระองค์ที่คุ้มหลวงเมืองลำพูน นายกรัฐมนตรีจึงให้จัดรถไฟขบวนพิเศษจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปส่งเสด็จถึงเมืองลำพูน กระทั่งถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486
การที่เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ถึงแก่พิราลัยและไม่ได้มีการแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครในล้านนา จึงอาจนับได้ว่าระบบเจ้าประเทศราชได้ถึงกาลสิ้นสุดลงไปด้วยอย่างเป็นทางการ แม้ในทางพฤตินัยและนิตินัย ตำแหน่ง “เจ้าประเทศราช” และ “เจ้าผู้ครองนคร” จะหมดบทบาทและความสำคัญลงไปนานแล้วก็ตาม
ราว พ.ศ. 2317 ที่ราชวงศ์ทิพย์จักรและชาวล้านนาเข้าสวามิภักดิ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ล่วงเลยถึง พ.ศ. 2486 ที่เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ถึงแก่พิราลัย เป็นระยะเวลากว่า 170 ปีที่ล้านนาดำรงฐานะเป็นประเทศราช นับแต่นั้นจึงถือได้ว่าล้านนาถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยาม-ไทยโดยสมบูรณ์
อ้างอิง :
พงศาวดารโยนก ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. (2504). กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองรัตน์.
วรเทวี (ณ ลำพูน) ชลวณิช. (2550). ที่ระลึกในงานบูรณะกู่บรรจุอัฐิเจ้าผู้ครองนครลำพูน ชายา และเจ้านายสกุล ณ ลำพูน ณ เชียงใหม่. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. (2560). เปิดแผนยึดล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.
สรัสวดี อ๋องสกุล. (2557). ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 10 กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
บทความเกือบทั้งหมดนี้นำมาจากเว็บไซต์ SILPA-MAG.COM เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2562
ขอขอบคุณเพจ เล่าเรื่องรัฐฉานกับล้านนาและล้านช้าง ในสยามประเทศ